xs
xsm
sm
md
lg

การเติบโตของธุรกิจภาพยนตร์ กับ การละเมิดลิขสิทธิ์

เผยแพร่:   โดย: สิรีธร โกวิทวีรธรรม นักวิจัยประจำศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ

Avatar ภาพยนตร์ต่างประเทศที่ทำรายได้สูงสุดในจีนปีที่ผ่าน (ภาพเอเยนซี)
ถึงแม้เศรษฐกิจทั่วโลกจะอยู่ในช่วงฟื้นตัว ประชาชนส่วนใหญ่ยังต้องควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุม ความเครียดจากปัญหาเศรษฐกิจ การงาน หรือปัญหาต่างๆ ทำให้ประชาชนต้องแสวงหาความบันเทิงเพื่อมาผ่อนคลายจากความเครียดที่รุมล้อมอยู่รอบตัว การชมภาพยนตร์ก็ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่คนจำนวนไม่น้อยนิยมเลือก

ปัจจุบันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของจีนกำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความนิยมในการไปชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์มีมากขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้มีรายงานว่าในปี 2553 รายได้จากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทะลุหมื่นล้านหยวน และอัตราการเพิ่มขึ้นของโรงภาพยนตร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอยู่ที่ 3 โรงต่อวัน โดยในปัจจุบันจีนมีโรงภาพยนตร์กว่า 6,200 โรง

ภาพยนตร์ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์เกือบทั้งหมดเป็นภาพยนตร์ที่ผลิตโดยจีน ซึ่งรัฐบาลจีนให้การส่งเสริม และสนับสนุนอยู่ ส่วนภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้าฉายถูกจำกัดอยู่ที่ปีละประมาณ 20 เรื่อง โดยจีนจะมีหน่วยงานคอยคัดกรองว่าเรื่องไหนสามารถเข้ามาฉายในจีนได้ ภาพยนตร์ต่างประเทศส่วนใหญ่ที่ฉายจะเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์มากกว่าแนวอื่นๆ ซึ่งไม่ถูกกับรสนิยมชาวจีนส่วนใหญ่เท่าไรนัก

นอกจากจะเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์แล้ว เนื้อหาจะต้องไม่กระทบต่อความมั่นคงภายในประเทศ ไม่ขัดต่อวัฒนธรรมและประเพณีของชาวจีน ส่วนทำไมต้องจำกัดภาพยนตร์ต่างประเทศให้ฉายอยู่เพียงปีละ 20 เรื่องนั้น รัฐบาลจีนได้ให้เหตุผลว่า ต้องการปกป้องวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์จีน เพราะหากมีภาพยนตร์ต่างประเทศเข้าฉายมาก จะแย่งชิงตลาดกับภาพยนตร์จีน โรงฉายภาพยนตร์จีนจะมีน้อยลง เพราะคนทั่วไปให้ความสนใจกับภาพยนตร์ต่างประเทศมากกว่า รัฐบาลจึงมีมาตรการกำกับดูแลและสนับสนุนให้สร้างภาพยนตร์โดยไม่ต้องไปแข่งขันกับภาพยนตร์ต่างประเทศ

ภาพยนตร์ต่างประเทศที่ทำรายได้สูงสุดในจีนปีที่ผ่านมาคือ Avatar ทำรายได้ถล่มทลายไปประมาณ 1,300 ล้านหยวน จนมีข่าวที่หลายๆ คนคงจำได้ว่า จีนสั่งระงับการฉาย Avatar ในโรงปกติ เหตุเพราะทำรายได้มากเกินไปจนแย่งส่วนแบ่งตลาดภาพยนตร์จีน และอาจกระตุ้นปัญหาการต่อต้านของชนกลุ่มน้อย อันดับรองลงมาทำรายได้ไป 400 กว่าล้านหยวนคือภาพยนตร์เรื่อง Inception ส่วนภาพยนตร์จีนที่ทำรายได้มากที่สุดในปีที่ผ่านมาคือภาพยนตร์เรื่อง Aftershock (唐山大地震) ของเฝิงเสี่ยวกัง ผู้กำกับชั้นแนวหน้าของจีน เป็นเรื่องราวเกี่ยวแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เมืองถังซาน เมื่อปี 2519 ทำรายได้ไปมากกว่า 600 ล้านหยวน และเป็นภาพยนตร์จีนเรื่องแรกที่ฉายในโรงระบบ IMAX โรงภาพยนตร์จอยักษ์สัญชาติแคนาดา
ภาพยนตร์เรื่อง Aftershock (唐山大地震) (ภาพเอเยนซี)
นายริชาร์ด เกลฟอนด์ ผู้บริหารของ IMAX Corp ให้สัมภาษณ์ว่า มีแผนจะนำภาพยนตร์จีนมาฉายในระบบ IMAX ให้ได้ 3-4 เรื่องต่อปีในอนาคต IMAXเปิดให้บริการในจีนแห่งแรกที่นครเซี่ยงไฮ้ในปี 2544 ปัจจุบันมีโรงภาพยนตร์ 23 แห่งในเมืองใหญ่ๆ และจากพฤติกรรมการดูภาพยนตร์ในปัจจุบันของชาวจีนสนใจที่จะยกระดับการชมมากขึ้น ทำให้โรงภาพยนตร์ IMAX ซึ่งมีจอภาพขนาดใหญ่และมีระบบเสียงคุณภาพสูงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จึงเตรียมที่จะเปิดโรงภาพยนตร์ 80 แห่งภายในระยะเวลา 2 ปีต่อจากนี้ ซึ่งจะทำให้ IMAX เป็นผู้ให้บริการโรงภาพยนตร์ต่างประเทศรายใหญ่ที่สุดของจีน

อีกด้านหนึ่ง ในขณะที่รายได้จากการฉายภาพยนตร์ในปี 2553 จะสูงถึง 10,172 ล้านหยวน แต่ปัญหาการดาวน์โหลดภาพยนตร์เถื่อนและการซื้อขายแผ่นผีอันเป็นที่ขึ้นชื่อของจีนก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่ ปัจจัยที่ทำให้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้ลดน้อยลงไปคาดว่ามาจาก ประการแรก การจำกัดการฉายภาพยนตร์ต่างประเทศให้เข้าฉายในจีนต่อปีน้อยเกินไป ไม่เพียงพอและบางเรื่องอาจไม่ตรงต่อความต้องการของผู้ชม นอกจากนั้น ภาพยนตร์ต่างประเทศที่ได้เข้าฉายก็ต้องตรวจสอบว่ามีเนื้อหาที่สุ่มเสี่ยงหรือไม่เช่นกัน หากพบก็จะมีการตัดออก บางเรื่องก็ตัดไม่กี่นาที บางเรื่องก็ตัดออกไปกว่าครึ่งชั่วโมง ซึ่งก็สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ชมที่เสียเงินเข้าไปดู ประการที่สอง ราคาตั๋วโรงภาพยนตร์ที่มีราคาค่อนข้างสูง ตัวอย่างเช่น ราคาตั๋วปกติในเมืองกว่างโจวอยู่ที่ประมาณ 80 หยวน แต่ถ้าเป็นวันอังคารหรือช่วงเทศกาลจะลดครึ่งราคา ซึ่งก็ยังแพงอยู่ดี

ประการที่สาม อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ที่นับวันจะมีความเร็วเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การใช้บริการผ่านทางอินเตอร์เน็ตสะดวกสบายขึ้น รวมถึงการอัพโหลด/ดาวน์โหลดไฟล์ก็รวดเร็วขึ้นด้วยเช่นกัน จึงไม่ใช่เรื่องยากในการจะเสิร์ชหาและดาวน์โหลด อยากดูเรื่องไหนก็ไปเสิร์ชหาได้ในไป่ตู้ (เสิร์ชเอนจิ้นยักษ์ใหญ่ของจีน) ถ้ามีความรู้ภาษาจีนอาจจะพบแหล่งโหลดได้ง่ายหน่อย มีให้เลือกโหลดหลายแบบว่าจะโหลดผ่านเวบฝากไฟล์ของจีน เช่น เวบrayfile เวบu.115 หรือจะเลือกโหลดบิทก็มีทั้งนั้น

ประการที่สี่ แผ่นผีหาซื้อง่ายและราคาถูก หาซื้อได้ทั่วไปตามเมืองต่างๆ มีทั้งซื้อขายกันอย่างโจ่งแจ้ง หรือแบบหลบซ่อนอยู่หลังร้าน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากที่ประชาชนทั่วไปจะหาซื้อได้ ราคาแผ่นผีอยู่ที่ 4-5 หยวนต่อแผ่น ถูกกว่าไปดูในโรงหลายเท่า แถมมีหลายภาษาให้เลือกอีกต่างหาก คุณภาพแผ่นก็ไม่ได้แย่ และหากอยากได้แบบดูดีหน่อย บางเรื่องก็มีขายแบบบ็อกเซ็ตไว้สำหรับเก็บสะสมอีกด้วย จัดได้ว่ามีทุกรูปแบบให้เลือกสรรเลยทีเดียว

จะเห็นได้ว่า ถึงแม้จีนจะพยายามโฆษณาชวนเชื่อให้ชาวต่างชาติเห็นว่า จีนไม่มีนโยบายสนับสนุนสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ในความเป็นจริงการผลิต การซื้อขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ยังเป็นเรื่องที่จีนยังแก้ปัญหาไม่ได้ ปัญหาแผ่นผีซีดีเถื่อน และการดาวน์โหลดที่ผิดกฎหมายถือเป็นปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์อันดับต้นๆ และอีกไม่นานคงเป็นคลื่นกระทบลูกใหญ่ต่อวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์จีนที่รัฐบาลให้การสนับสนุนอยู่ คงต้องจับตามองดูแล้วว่าเมื่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์จีนต้องเผชิญกับการละเมิดลิขสิทธิ์เช่นนี้บ้าง จีนจะมีวิธีรับมือและแก้ปัญหานี้อย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น