xs
xsm
sm
md
lg

โค้งสุดท้ายออสการ์: เช็คความเห็นนักวิจารณ์, ราคาต่อรองบ่อนดัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 83 เป็นอีกปีที่รางวัลใหญ่อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ยังไม่มีใครสามารถฟันธงได้ว่า ภาพยนตร์เรื่องใดจะคว้ารางวัลไปครอง ก่อนที่จะได้ตามติดออสการ์ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ลองมาตรวจสอบราคาต่อรองล่าสุด และความเห็นจากนักวิจารณ์ชั้นนำกัน ว่ามีความเห็นในการออกมาฟันธงการชิงชัยครั้งนี้กันอย่างไรบ้าง

งวดเข้ามาเรื่อย ๆ แล้วสำหรับการประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 83 ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงค่ำคืนของวันอาทิตย์ที่ 27 ก.พ. (ตรงกับเช้าวันจันทร์ที่ 28 ก.พ. ตามเวลาในประเทศไทย) ที่รางวัลในบางสาขาเริ่มจะชัดเจนขึ้นมาเรื่อย ๆ แล้ว แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ยังมีรางวัลอีกหลายสาขา ที่การแข่งขันเต็มไปด้วยความสูสี

โดยเฉพาะรางวัลใหญ่อย่าง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ที่ วิลเลียมส์ ฮิลล์ บริษัทรับพนันถูกกฎหมายของประเทศอังกฤษ ยังยกให้หนังดังจากบ้านเดียวกันอย่าง The King's Speech ยังเป็นต่อยู่ ขณะที่ฝ่ายนักวิจารณ์ก็มีความเห็นแตกเป็นหลายสาย

ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

The King's Speech 1/6, The Social Network 7/2, Black Swan 33/1, True Grit, 40/1, The Fighter 50/1, Inception 66/1, The Kids Are All Right, 100/1, Toy Story 3 100/1, 127 Hours 100/1, Winter’s Bone 100/1

เดวิด เจอร์เมน แห่งสำนักข่าวเอพี ฟันธงว่าThe King's Speech จะได้เป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสำหรับเวทีออสการ์ครั้งล่าสุด โดยที่ผ่านมา The Social Network แทบจะกวาดรางวัลสำคัญ ๆ จากบรรดานักวิจารณ์และสื่อมวลชนมาแทบทั้งหมด แต่ The King's Speech ก็ตอบโต้กลับ ด้วยการคว้ารางวัลจากบรรดาสมาคมของบุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์มาได้หลายรางวัล ทั้ง สมาคมนักแสดง, สมาคมผู้กำกับ และสมาคมผู้อำนวยการสร้าง

ซึ่งถ้ามองกันในมุมนี้แล้ว โอกาสของ The King's Speech ดูจะแจ่มชัดกว่า ก็เพราะผู้ลงคะแนนสำหรับชี้ขาดรางวัลออสการ์ ก็ล้วนมาจากเหล่าบุคลากรในวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูดเช่นเดียวกัน

สำหรับตัวหนังเอง เจอร์เมน ยังมองว่า The Social Network เป็นงานที่โดดเด่นทั้งในแง่ของ บทภาพยนตร์, การแสดง, และการสร้าง แต่ The King's Speech คืองานที่สมบูรณ์แบบกว่า เป็นหนังที่นอกจากจะให้ความบันเทิงแล้ว ยังจับใจผู้คน ด้วยเนื้อหาที่จับต้องได้ กับเรื่องราวของเชื้อพระวงศ์อังกฤษ กับปัญหาที่ทุก ๆ คนสามารถมีอารมณ์ร่วมได้

นอกจากนั้นหนังดราม่าย้อนยุคแบบ The King's Speech เคยเป็นของโปรดของออสการ์มานาน แม้ในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมาเวทีใหญ่แห่งนี้ดูจะเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับ หนังที่ว่าด้วยประเด็นร่วมสมัยมากขึ้น แต่นักวิจารณ์ชื่อดังรายนี้เชื่อว่า ปี 2011 หนังย้อนยุคจะกลับมาบทเวทีออสการ์อีกครั้ง

ในทางตรงกันข้าม คริสตี้ ลาเมียร์ นักวิจารณ์สาวชื่อดังจากรายการ At the Movies กลับมองว่า The King's Speech เป็นหนังที่ยอดเยี่ยม แต่ก็เรียบง่ายธรรมดาตามความคาดหวังของคนดูมากเกินไป ขณะที่ The Social Network เป็นงานสุดพิเศษ ที่เต็มไปด้วยความท้าทาย

บทภาพยนตร์ของ แอรอน ซอร์คิน ทั้งฉลาด, มีบทสนทนาที่เฉียบคม กับประเด็นร่วมสมัยบอกเล่าเรื่องราวแห่งยุคปัจจุบันอย่างแท้จริง ที่แม้เรื่องราวทางเทคนิคของโลกธุรกิจออนไลน์ กับข้อขัดแย้งทางกฎหมายในหนัง อาจจะเป็นสิ่งที่ดูซับซ้อนไปซักหน่อย แต่มันก็น่าสนใจ และยังมีพลัง นอกจากนั้นคำว่า Facebook ยังแทบจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันสำหรับทุกคนไปแล้ว



ผู้กำกับยอดเยี่ยม

เดวิด ฟินเชอร์ (The Social Network) 4/7, ทอม ฮูเปอร์ (The King's Speech) 5/4, แดเรน อโฟนอฟสกี้ (Black Swan) 20/1, เดวิด โอ'รัสเซล (The Fighter) 40/1, โจเอล & อีธาน โคเอน (True Grit) 40/1

ถึงแม้ว่า วิลเลี่ยมส์ ฮิลล์ จะให้ เดวิด ฟินเชอร์ แห่ง The Social Network เป็นต่อ ทอม ฮูเปอร์ ผู้กำกับของ The King's Speech อยู่นิดหน่อย แต่รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมของออสการ์ครั้งที่ 83 ก็ยังเป็นรางวัลอีกสาขา ที่สูสีเป็นอย่างยิ่ง ถึงขั้นที่ว่าอาจจะเป็นอีกปี ที่รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม กับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จะมาจากหนังคนละเรื่องกันก็ได้

โดยขณะนี้ คริสตี้ ลาเมียร์ ยังเชื่อมือของ เดวิด ฟินเชอร์ ในฐานะที่เขากำกับหนังซึ่งคงไม่มีผู้กำกับรายใดทำได้อีกแล้ว เพราะบทของ The Social Network ที่เขียนโดย แอรอน ซอร์คิน มีรายละเอียดปลีกย่อยที่แน่นเอี๊ยด ชนิดที่ว่าต้องการผู้กำกับผู้มีทักษะระดับขั้นสูง ในการถ่ายทอดเรื่องราวจากหลายมุมมองสไตล์ Rashomon เป็นหนังที่ต้องอาศัยโครงสร้างที่แข็งแรง ที่เป็นงานในแบบที่เหมาะเจาะเหลือเกิน กับแนวทางการทำหนังของ ฟินเชอร์

นักวิจารณ์ ยังกล่าวยกย่องว่า The Social Network เป็นงานที่ ฟินเชอร์ ได้อวดฝีมือการกำกับมากที่สุดในอาชีพของเขาแล้ว กับหนังที่เกี่ยวกับตัวละครเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร ที่มีความโลภและความทะเยอทะยานเป็นตัวจักรสำคัญ นอกจากนั้นนี่ยังเป็นผลงานที่เต็มไปด้วยลายเซ็นของตัวผู้กำกับ รวมถึงในแง่การใช้เทคนิคพิเศษทางภาพยนตร์ ซึ่งทำให้นักแสดงคนเดียวสามารถรับบทเป็นตัวละครฝาแฝดได้อย่างน่าเชื่อถือ

ขณะที่ The King's Speech ที่แม้ว่าจะเป็นงานที่ดี แต่นักวิจารณ์ก็รู้สึกว่าหนังธรรมดา และ “เพลย์เซฟ” มากเกินไป แม้ภาพยนตร์จากอังกฤษเรื่องนี้ จะสามารถคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปครองได้ในท้ายที่สุด แต่โอกาสของผู้กำกับ ทอม ฮูเปอร์ ยังถือว่าเป็นรอง



นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม

คอลิน เฟิร์ธ (The King's Speech) 1/66, เจมส์ แฟรงโก้ (127 Hours) 20/1, เจสซี่ ไอเซนเบิร์ค (The Social Network)20/1, เจฟ บริดเจส (True Grit) 33/1, ฮาเวียร์ บาร์เด็ม (Biutiful) 50/1

รางวัลในสาขานักแสดงนำชายในปีนี้ แทบจะเป็นรางวัลสาขาที่พลิกล็อกยากมากที่สุด กับการแสดงของ คอลิน เฟิร์ธ จาก The King's Speech ในการสวมบทบาทเป็น พระเจ้าจอร์จที่ 6 ผู้ต่อสู้กับอาการติดอ่างอย่างหนัก ที่สื่อแทบทุกสำนักฟันธงว่าปีนี้คือปีของ เฟิร์ธ แน่ ๆ

โดย คริสตี้ ลาเมียร์ ให้ความเห็นว่า เฟิร์ธ ให้การแสดงที่ทั้งตลก, ขมขื่น และจับใจไปพร้อม ๆ กัน กับการสร้างให้ตัวละครซึ่งเคยมีชีวิตอยู่จริง ที่อยู่ห่างไกลจากชีวิตของเรา ให้ออกมาเป็นมนุษย์ที่จับต้องได้ และมีจุดด่างพร้อยเหมือนกับคนอื่น ๆ

นอกจากนั้น คอลิน เฟิร์ธ ยังเป็นนักแสดงที่ได้รับคำยกย่องมากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากผลงานหลากหลายแนว ทั้งการแสดงในหนังอย่าง Fever Pitch, Love Actually, Bridget Jones, Girl With a Pearl Earring และ Where the Truth Lies

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการแสดงในภาพยนตร์เรื่อง A Single Man เมื่อปีก่อน ที่หลายฝ่ายชมว่า เป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซควรค่าแก่รางวัลออสการ์ แต่สุดท้ายก็พลาดให้กับ เจฟ บริดเจส จาก Crazy Heart



นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม

นาตาลี พอร์ตแมน (Black Swan) 1/16, แอนเน็ต เบนนิ่ง (The Kids Are All Right) 7/1, เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ (Winter’s Bone) 25/1, นิโคล คิดแมน (Rabbit Hole) 50/1, มิเชล วิลเเลียมส์ (Blue Valentine) 50/1

แอนเน็ต เบนนิ่ง เป็นนักแสดงยอดฝีมือในวงการ ที่ทุกคนเห็นพ้องว่าสมควรได้รับรางวัลออสการ์เสียที แต่ทั้งร้านรับพนันถูกฏหมาย และนักวิจารณ์ต่างเชื่อว่ายังไม่ถึงเวลาของเธอในปีนี้ เพราะหลายฝ่ายยังมั่นใจว่า นาตาลี พอร์ตแมน น่าจะคว้ารางวัลดังกล่าวได้ในที่สุด

การแสดงของ พอร์ตแมน ในหนังเกี่ยวกับแวดวงบัลเลต์ Black Swan เต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน กับเรื่องราวของตัวละครผู้ตกอยู่ในวังวนของโลกที่ผสมผเสระหว่างความจริงและความลวง เป็นบทซึ่งเต็มไปด้วยสีสันและความรุนแรง ที่เปิดโอกาสให้นักแสดงได้แสดงศักยภาพ ซึ่งน่าจะเป็นที่ชื่นชมของเหล่าผู้ลงคะแนน

แม้ แอนเน็ต เบนนิ่ง วัย 52 ปี จาก The Kids Are All Right จะเป็นที่รักของคนในวงการ, คนดู และนักวิจารณ์ หรือสมควรได้รับออสการ์มากแค่ไหน แต่ในปีนี้เธอไม่น่าจะทานกระแสของ พอร์ตแมน ได้



นักแสดงสมทบชาย

คริสเตียน เบล, (The Fighter) 1/6, เจฟฟรีย์ รัช (The King's Speech) 7/2, มาร์ค รัฟฟาโล (The Kids Are All Right) 66/1, จอห์น ฮอว์กส์ (Winters Bone) 66/1, เจเรมี่ เรนเนอร์ (The Town) 66/1

คริสเตียน เบล เคยกล่าวยอมรับว่าเขารู้สึกอิจฉาดาราหนุ่มผู้ล่วงลับ ฮีธ เลดเจอร์ ที่ร่วมงานกันใน The Dark Knight และเป็นฝ่ายคว้ารางวัลออสการ์เมื่อสองปีก่อนไป จากบท “โจกเกอร์” ซึ่งเป็นบทที่เปิดโอกาสให้นักแสดงได้ปล่อยของ กับการสวมบทเป็นตัวละครที่มีสีสันมาก ขณะที่บท แบทแมน ของเขาดูเรียบง่าย และซ้ำซาก

กระทั่งในการรับบทเป็น ดิ๊กกี้ เอ็กลุน ใน The Fighter เบล จึงได้โอกาสขโมยซีน มาร์ค วอห์ลเบิร์ก นักแสดงนำของเรื่องบ้าง กับการสวมรอยชีวิตของอดีตนักมวย ที่กลายเป็นคนติดยา, อาชญากร และมีปัญหาทางสุขภาพ ซึ่งน่าจะทำให้เขาได้รับรางวัลออสการ์เสียที

ขณะที่ผู้เสนอชื่อรายอื่น ๆ ได้แก่ มาร์ค รัฟฟาโล ขวัญใจนักวิจารณ์อีกคนจาก The Kids Are All Right, จอห์น ฮอว์กส์ (Winters Bone) และ เจเรมี่ เรนเนอร์ (The Town) ไม่น่าจะทานกระแสของ เบล อยู่

นอกจากโอกาสพลิกเล็ก ๆ ของ เจฟฟรีย์ รัช จาก The King's Speech ที่ได้รับคำชมอยู่มาก ว่าทำหน้าที่ “นักแสดงสมทบ” ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะนอกจากการแสดงที่ดีแล้ว เขายังช่วยเสริมให้เพื่อนนักแสดงในเรื่องอย่าง เฟิร์ธ โดดเด่นขึ้นไปอีกด้วย



นักแสดงสมทบหญิง

เมลิซ่า ลีโอ (The Fighter) 2/5, เฮลี สไตเฟลด์ (True Grit) 5/2, เฮเลน่า บอนแฮม คาร์เตอร์ (The King's Speech) 7/1, เอมี่ อดัมส์ (The Fighter) 20/1, แจ็คกี้ วีเวอร์ (Animal Kingdom) 66/1

รางวัลในสาขานักแสดงสมทบหญิง เป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างรุ่นใหม่ไฟแรง กับนักแสดงผู้คว่ำหวอดในฮอลลีวูด ซึ่งผู้ที่มีโอกาสได้รับรางวัลมากที่สุดในสายตาของหลาย ๆ ฝ่ายก็คือ เมลิซ่า ลีโอ จาก The Fighter

อดีตนักแสดงซึ่งเคยโด่งดังจากทีวีซีรีส์ Homicide: Life on the Street เมื่อหลายปีก่อน ได้กลับมาดังอีกครั้งในวัยใกล้ 50 ปี ตั้งแต่ได้รับการเสนอเชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงเมื่อปี 2010 จากหนังเรื่อง Frozen River และเป็นตัวเต็งในสาขานักแสดงสมทบหญิงในปีนี้

ซึ่งถัดจาก เมลิซ่า ลีโอ ไปแล้ว เฮลี สไตเฟลด์ ก็คืออีกคนที่มีสิทธิ์ได้รับรางวัลมากที่สุด สาวน้อยวัย 14 ปี ให้การแสดงอย่างยอดเยี่ยมเกินวัยในหนังคาวบอย True Grit นอกจากนั้นด้วยวัยของเธอ ก็ดูเหมือนจะเป็นแต้มต่อสำหรับรางวัลในสาขานี้ขึ้นไปอีก

ซึ่งเมื่อตรวจสอบประวัติศาสตร์ ของรางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมที่ผ่าน ๆ มาแล้วก็พบว่ามีนักแสดงเด็กหลายคนที่เคยคว้ารางวัลนี้มาแล้ว ทั้ง ตาตั้ม โอ’ นีล วัย 10 ขวบ จาก Paper Moon, แอนนา พาควิน ก็คว้ารางวัลนี้จาก The Piano ตอนมีอายุแค่ 11 ปี รวมถึง แพตตี้ ดุ๊ก จาก The Miracle Worker ที่ชนะออสการ์ตอนอายุ 16 ปี เป็นข้อพิสูจน์ได้อย่างดีว่า ออสการ์นั้นรักเด็ก (ผู้หญิง) มาแค่ไหน



บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม

เดวิด ไซด์เลอร์ (The King's Speech) 1/6, คริสโตเฟอร์ โนเลน (Inception) 7/2, ลิซ่า โคโลเดนโก้ & สจ๊วร์ต บลูมเบิร์ก (The Kids Are All Right) 16/1, สก๊อต ซิลเวอร์, พอล ทามาซี, อีริค จอห์นสัน(The Fighter) 40/1, ไมค์ ลีห์ (Another Year) 40/1

เดวิด ไซด์เลอร์ จาก The King's Speech เป็นเต็งหนึ่งในรางวัลสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ก็ประมาท คริสโตเฟอร์ โนเลน เจ้าของบทภาพยนตร์สุดลึกล้ำแห่งปีไม่ได้

Inception ของโนแลน เป็นงานที่โชว์ฟอร์มเหนือชั้น ในการเล่าเรื่องยากซึ่งว่าด้วย “การโจรกรรมความฝัน” ให้ออกมาชัดเจน, แหลมคม และน่าเชื่อถือ ซึ่งถ้ากรรมการออสการ์ต้องการจะปลอบใจ โนแลน ที่ไม่ได้เข้าชิงรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม รางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมก็ดูจะเป็นสิ่งที่สมน้ำสมเนื้อที่สุด



บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม

แอรอน ซอร์คิน (The Social Network) 1/25, ไมเคิล อาร์นด์ท (Toy Story 3) 12/1, โจเอล และ อีธาน โคเอน (True Grit) 16/1, แดนนี่ บอยล์ และ ไซมอน โบฟอย (127 Hours) 25/1, เดบรา แกรนิค แล แอน รอสเซลลินี่ (Winters Bone) 25/1

แอรอน ซอร์คิน นักเขียนบทระดับซุปเปอร์สตาร์แห่งฮอลลีวูดยุคนี้ กวาดรางวัลมาแล้วแทบจะทุกเวทีกับผลงาน The Social Network ของเขา และยังคงเป็นเต็ง 1 ในรางวัลสาขาบทดัดแปลงยอดเยี่ยม ซึ่งถ้าเกิด ซอร์คิน พลาดรางวัลออสการ์ขึ้นมา ก็คงจะเป็นข่าวใหญ่ในวันรุ่งขึ้นอย่างแน่นอน



อนิเมชั่นยอดเยี่ยม

Toy Story 3 1/66, How To Train Your Dragon 12/1, The Illusionist 50/1

เป็นอีกสาขาที่เรียกว่าพลิกล็อกได้ยากเย็นเหลือเกินสำหรับ อนิเมชั่นยอดเยี่ยม สำหรับ Toy Story 3 ของ Pixar ที่แทบจะนอนมาในรางวัลสาขานี้ ส่วน How To Train Your Dragon ของ DreamWorks Animation และ The Illusionist อนิเมชั่นนอกกระแสจากยุโรป น่าจะทำได้ดีที่สุดก็คือการได้เข้าสู่รอบสุดท้าย 3 เรื่องสุดท้ายนี่เอง



เทคนิคพิเศษทางภาพยอดเยี่ยม

Inception 1/12, Alice In Wonderland 6/1, Harry Potter & The Deathly Hallows Part 1 20/1, Iron Man 2 33/1, Hereafter 33/1

เทคนิคพิเศษทางคอมพิวเตอร์ของ Inception นั้นเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ และแปลกใหม่ ที่สุดท้ายแล้วน่าจะทำให้หนังไซไฟเหนือจิตนาการแห่งปี มีรางวัลออสการ์กลับบ้านอย่างน้อยก็ 1 ตัวจากสาขาเทคนิคพิเศษทางภาพยอดเยี่ยม



หนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม

Biutiful 10/11, In A Better World 9/4, Incendies 11/4, Dogtooth 14/1, Outside The Law (Hors La Loi) 16/1

เป็นอีกสาขาที่คาดเดาอะไรได้ค่อนข้างยาก เพราะแม้ Biutiful ที่มีทั้งนักแสดง และผู้กำกับชื่อโด่งดังระดับโลกอย่าง ฮาเวียร์ บาร์เด็ม และ อเลฮานโดร กอนซาเลซ อินาร์ริตู เป็นตัวชูโรง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้หนังได้รับรางวัลไปโดยอัตโนมัติ เพราะในสาขานี้ก็เกิดเหตุการณ์ที่หนังซึ่งดังน้อยกว่า ปาดหน้าคว้ารางวัลไปครองอยู่บ่อย ๆ

เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ ""ซ้อ 7"ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก

กำลังโหลดความคิดเห็น