xs
xsm
sm
md
lg

เสถียรภาพของเอเชียตะวันออกกับนโยบายป้องกันประเทศฉบับใหม่ของญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: ดวงใจ เด่นเกศินีล้ำ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ

ภายใต้นโยบายการป้องกันประเทศฉบับใหม่ ญี่ปุ่นจะทำการลดขนาดกองกำลังจากทางเหนือในหมู่เกาะคิวริล อันเป็นบริเวณพิพาทกับรัสเซีย เพื่อมาเพิ่มการป้องกันทางตอนใต้อันเป็นบริเวณพิพาทระหว่างญี่ปุ่นกับจีน(ภาพเอเยนซี)
ในที่สุดญี่ปุ่นก็ได้ฤกษ์แถลงนโยบายป้องกันประเทศฉบับใหม่เมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและจีน รวมถึงบรรยากาศทางการเมืองระหว่างประเทศโดยรวมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่อยู่ในภาวะตึงเครียดเข้าขั้นวิกฤตมากขึ้น

นโยบายป้องกันประเทศ (The National Defense Program Guidelines) ฉบับนี้เป็นฉบับที่สี่ของญี่ปุ่นนับตั้งแต่ปี 1976 เป็นต้นมาและได้รับการปรับปรุงจากฉบับของปี 2004 แต่เป็นฉบับแรกภายใต้การบริหารของพรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่น (The Democratic Party of Japan: DPJ) โดยการนำของนายกรัฐมนตรี นาโอโตะ คัง (Naoto Kan) โดยจะเริ่มมีผลต่อการกำหนดทิศทางของกองทัพญี่ปุ่นในปีหน้า (2011) และจะถูกนำมาใช้อย่างน้อยเป็นเวลาอีกห้าปีข้างหน้า

กล่าวเฉพาะรายละเอียดที่เกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศสมาชิกในภูมิภาคแล้วนั้น เนื้อหาสำคัญของนโยบายฯ ฉบับนี้ได้กล่าวโจมตีประเทศเพื่อนบ้านของญี่ปุ่นอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก โดยระบุว่า “จีนเป็นความกังวลหลักของภูมิภาคและสังคมระหว่างประเทศ” ทำให้จุดเน้นด้านความมั่นคงของญี่ปุ่นได้หันเหจากรัสเซียในทางเหนือลงมาที่จีนในทางใต้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปะทะกับจีนดังที่ผ่านมาในกรณีของหมู่เกาะเซ็นคากุ ขณะเดียวกันรัฐบาลญี่ปุ่นยังเห็นว่า “เกาหลีเหนือเป็นปัจจัยหลักของความไร้เสถียรภาพในภูมิภาค” สาเหตุข้างต้นจึงนำมาสู่การปรับเปลี่ยนประสิทธิภาพของกองทัพญี่ปุ่นขนานใหญ่ โดยจะเปลี่ยนจากกองทัพที่เน้น “ขีดความสามารถขั้นพื้นฐานเพื่อการป้องกันตนเอง” (basic defense capabilities) เป็น “(กองทัพที่เน้น)ขีดความสามารถเพื่อการป้องกันอย่างมีพลวัต” (dynamic defense capabilities) เพื่อให้สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็วและความยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งจะเหมาะสมและทันต่อสภาพการณ์ระหว่างประเทศรอบๆ เกาะญี่ปุ่นที่แตกต่างไปจากสมัยสงครามเย็น

ภายหลังที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายฯ ฉบับใหม่นี้แล้ว มีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะนัยยะและผลกระทบที่อาจมีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคที่ย่ำแย่มากพออยู่แล้ว ฝ่ายที่เห็นด้วยให้เหตุผลว่า การระบุว่าจีนเป็นความกังวลหลักต่อความมั่นคงของญี่ปุ่นนั้นเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับภูมิภาคนี้อีกทางหนึ่ง เพื่อเป็นการส่งสารให้จีนได้รู้ถึงความตื่นตัวของญี่ปุ่น ในภาวะที่กองทัพของจีนกำลังขยายตัวไปอย่างมาก และในที่สุดจะเป็นการป้องปรามจีนไปพร้อมกัน ส่วนฝ่ายคัดค้านได้แสดงความกังวลว่า ความหวาดระแวงของสังคมโลกต่อภาพลักษณ์ของ “ผู้รุกราน” ที่ญี่ปุ่นเคยสร้างไว้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองจะหวนกลับมาอีกครั้ง

ส่วนจีนและเกาหลีเหนือเองก็ออกมาตอบโต้อย่างทันควันเช่นกัน ฝ่ายจีนได้หยิบยกประเด็นการรุกรานประเทศต่างๆ ในเอเชียของญี่ปุ่นในอดีตมาแย้งคำกล่าวอ้างของรัฐบาลญี่ปุ่น และเน้นย้ำว่าการขยายตัวของกองทัพจีนเป็นการขยายตัวในระดับปกติและเพื่อการป้องกันตนเองอย่างแท้จริง และที่สำคัญ การเติบโตของจีนที่ผ่านมาเป็นการเติบโตอย่างสันติ ที่ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อโลกโดยรวมเท่านั้น หากแต่ญี่ปุ่นเองก็ได้รับอานิสงส์นี้ไปเช่นกัน
การโจมตีเกาะยอนพยอง (Yeongpyeong) ของเกาหลีใต้ในวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้ญี่ปุ่นระบุว่าเกาหลีเหนือเป็นสาเหตุของความไร้เสถียรภาพในภูมิภาค(ภาพเอเยนซี)
เกาหนีเหนือเองก็ยกเอาประเด็นที่คล้ายคลึงกับจีนมาลดความน่าเชื่อถือของญี่ปุ่น อีกทั้งยังกล่าวว่านโยบายฯ ฉบับนี้เป็น “แผนก่อสงคราม” ที่แฝงไปด้วย “วัตถุประสงค์ของการก่ออาชญากรรม” เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการรุกรานเกาหลีเหนือและจีนโดยญี่ปุ่นอีกครั้ง

เสถียรภาพของเอเชียตะวันออกที่ผ่านมาได้สร้างความกังวลให้กับนานาประเทศอย่างมาก เนื่องจากเป็นภูมิภาคอันเป็นที่ตั้งของตัวแสดงสำคัญๆ ของโลก เป็นภูมิภาคที่มีมหาอำนาจของโลกเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ด้วย เป็นภูมิภาคที่มีประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ และประการสำคัญคือ ประเทศสมาชิกต่างก็มีความขัดแย้งที่ฝังรากลึกกันมาเป็นเวลานาน

การประกาศนโยบายฯ ของญี่ปุ่นในครั้งนี้ก็เปรียบเสมือนเป็นการระบุสาเหตุแห่งภัยคุกคามด้านความมั่นคงของญี่ปุ่นเองอย่างชัดเจน และอาจเป็นการแบ่งแยกระหว่างศัตรูและมิตรไปพร้อมกันด้วย ฝ่ายที่เป็นมิตรนั้นเห็นได้ชัดว่าอย่างน้อยก็จะประกอบไปด้วยสหรัฐและเกาหลีใต้ ในขณะที่ความน่าสนใจจะอยู่ที่อีกฝ่าย ซึ่งก็คือ จีนกับเกาหลีเหนือ

เกาหลีเหนือกลายเป็น “ตัวปัญหาของภูมิภาค” และมีจีนที่ต้องคอยรับภาระในการเจรจากับเกาหลีเหนือมาโดยตลอด แต่ในระยะหลังจีนเองก็ดูจะไม่สามารถพูดคุยกับเกาหลีเหนือได้รู้เรื่องมากนัก โดยเฉพาะต่อกรณีการปะทะกันระหว่างเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ทำให้บทบาทของจีนในการกดดันเกาหลีเหนือถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากอีกครั้ง การเปลี่ยนแปลงท่าทีของรัฐบาลญี่ปุ่นต่อนโยบายด้านความมั่นคงในครั้งนี้ จึงมีความเป็นไปได้ว่าไม่เพียงแต่จะเป็นการสร้างความตึงเครียดระหว่างญี่ปุ่น-จีน และ ญี่ปุ่น-เกาหลีเหนือ ให้มากขึ้น แต่ยังอาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือเปลี่ยนแปลงไปได้เช่นกัน

และไม่ว่าพฤติกรรมของเกาหลีเหนือหรือความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีนี้จะเปลี่ยนไปในทางใดก็ตาม ก็ย่อมมีผลต่อเอเชียตะวันออกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งลำพังแต่จีนเพียงประเทศเดียวอาจไม่สามารถมีอิทธิพลในการกำหนดทิศทางของภูมิภาคได้ทั้งหมด เสถียรภาพของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเองก็ไม่ควรเป็นความรับผิดชอบของจีนแต่เพียงประเทศเดียว หากแต่ต้องอาศัยความร่วมมือระดับพหุภาคีจากประเทศสมาชิกและประเทศภายนอกที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น