เอเอฟพี/ ไชน่าเดลี - นักวิทยาศาสตร์จีนพัฒนาเทคโนโลยีในการนำเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้แล้ว
สถานีโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CCTV) รายงานเมื่อวันจันทร์ (3 ม.ค.) ว่า เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นผลงานการพัฒนาของสำนักงานปรมาณูแห่งชาติของจีน (CNNC) ซึ่งช่วยให้จีนมีแหล่งยูเรเนียม ที่ตรวจสอบได้ สำหรับการใช้ได้นานถึง 3,000 ปี จากเดิมแค่ 50-70 ปีเท่านั้น โดยนายซุน ฉิน ผู้จัดการทั่วไปของ(CNNC) ระบุว่า ในวงการอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ทั่วโลกแล้ว จีนเป็นหนึ่งในไม่กี่ชาติ ที่สามารถนำเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว กลับมาใช้ใหม่ได้อีก
นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญอีกก้าวหนึ่งของนโยบายการใช้พลังงานทางเลือกบนแดนมังกร เพื่อลดปัญหามลภาวะ และเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน โดยที่ผ่านมา จีนขยายการลงทุนผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยนิวเคลียร์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการเผาถ่านหิน ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งมีอัตราส่วนสูงถึงร้อยละ 70 ของการผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมดในจีน
ขณะเดียวกัน จีนตั้งเป้านำแหล่งพลังงานทางเลือกมาผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 15 ของการผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมดในประเทศภายในปี 2563 นอกจากนั้น ยังตั้งเป้าขยายการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ให้ได้70-80 กิกะวัตต์ภายในปีดังกล่าวอีกด้วย หรือคิดเป็นร้อยละ 5 ของความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมดในจีน
ปัจจุบัน จีนมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ที่กำลังเดินเครื่องทั้งสิ้น 13 แห่ง ผลิตยูเรเนียมได้ราว 750 ตันต่อปี อย่างไรก็ตาม คาดว่าจีน อาจมีความต้องการใช้ยูเรเนียมพุ่งสูงถึง 20,000 ตันต่อปีภายในปี 2563
ขณะที่อีก 16 ชาติในโลกสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ได้ร้อยละ 25 ของการผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศ