คงจำกันได้ ในปลายปีสื่อจีนได้ออกข่าวใหญ่เกี่ยวกับการค้นพบสุสานของเฉาเชา หรือโจโฉ ที่หมู่บ้านซีกาวเสียว์ ตำบลอันเฟิง อำเภออันหยาง มณฑลเหอหนัน ในตอนนั้นสื่อจีนได้ประโคมใหญ่โตว่าการค้นพบฯนี้จะยุติข้อสงสัยนับพันปี เกี่ยวกับที่ตั้งหลุมฝังศพแม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่โจโฉ แห่งยุคสามก๊ก (ค.ศ.208-280)
กลุ่มนักโบราณคดีได้ดำเนินการขุดค้นสุสานหลวงยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก(ค.ศ.25-220)และได้พบสมบัติโบราณคดีมากมาย กว่า 250 ชิ้น โดยมีแผ่นป้ายหินสลักตัวอักษร ร่วม 60 ชิ้น และในจำนวนนี้ มีป้ายหิน 4 ชิ้น ที่สลักตัวอักษร “วุ่ยอู่หวัง” ซึ่งเป็นชื่อของโจโฉ ได้แก่ป้ายจารึกเกี่ยวกับอาวุธที่วุ่ยอู่หวังใช้ศึกสงคราม และหมอนหิน นักโบราณคดีจีนได้ชี้ว่าป้ายหินที่มีชื่อวุ่ยอู่หวังเหล่านี้ เป็นหลักฐานโดยตรงที่ระบุว่าสุสานหลวงแห่งยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกแห่งนี้ เป็นที่ฝังร่างของแม่ทัพโจโฉ
นอกจากนี้ ในสุสานยังมีโครงกระดูกคนสามคน โดยเป็นโครงกระดูกผู้ชาย อายุประมาณ 60 ปี หนึ่งคน ส่วนอีกสองนั้น เป็นโครงกระดูกของผู้หญิง ซึ่งแน่นอน ก็ยังไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ว่า โครงกระดูกเหล่านี้ เป็นใคร
หลังจากที่กลุ่มสื่อจีนเผยแพร่ข่าวนี้เมื่อปลายเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา อย่างดูราวจะฟันธงว่าสุสานหลวงฯแห่งนี้ คือ สุสานของโจโฉ พลันก็เกิดสงครามน้ำลายทั่วประเทศจีน โดยกลุ่มนักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ และประชาชนทั่วประเทศ ได้ถกเถียงกันตลอดเดือนสองเดือนมานี้ โต้แย้งการระบุที่ตั้งสุสานโจโฉอย่างง่ายๆเช่นนี้ บางกลุ่มก็โจมตีรัฐบาลท้องถิ่นเหอหนันตีข่าวออกมาเช่นนี้ เพราะหวังผลประโยชน์ ทำเงินจากการท่องเที่ยวนั่นเอง
หยวน จี้สี่ ผู้เชี่ยวชาญและรองผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาฯของมหาวิทยาลัยประชาชนจีน โต้แย้งว่าสุสานหลวงฯนี้ถูกปล้นหลายครั้ง หลักฐานที่อาจระบุตัวตนเจ้าของสุสานโดยตรงที่เหลืออยู่ก็มีน้อยมาก สำหรับหลักฐานโดยตรงที่นักโบราณคดีได้ใช้ระบุตัวเจ้าของสุสานว่าอาจเป็นโจโฉ ตามข่าวนั้น คือ ป้ายหินแกะสลักจารึกเกี่ยวกับอาวุธของวุ่ยอู่หวัง และหมอนหิน แต่หยวนแย้งว่า “มันไม่ใช่หลักฐานที่น่าเชื่อถือ” เนื่องจากป้ายหินฯเหล่านี้ ถูกค้นพบโดยพวกขโมยที่ปล้นเอาไป ไม่ใช่หลักฐานที่นักโบราณคดีค้นพบด้วยตัวเองในสุสาน “การประกาศสุสานโจโฉ เป็นเรื่องเร็วเกินไป เป็นเรื่องน่าสงสัยมาก”
แต่ซั่ง จินซัน หนึ่งในทีมนักโบราณคดีที่ขุดค้นสุสานฯ โต้ข้อสงสัยดังกล่าวว่า เขาเป็นผู้ค้นพบป้ายหินกว่า 50 ชิ้นกับมือตัวเอง ซึ่งในจำนวนนี้ มีป้ายหินสี่ชิ้น ที่มีอักษรแกะสลักชื่อ “วุ่ยอู่หวัง” มีเพียงหลักฐานชิ้นสำคัญ คือ หมอนหินที่สลักชื่อวุ่ยอู่หวัง ที่ยึดมาจากหัวขโมย แต่เขาก็ได้ยินมากับหูตัวเองจากปากหัวขโมยว่า หมอนหินสลักชื่อวุ่ยอู่หวังนี้ มาจากสุสานหลวงที่อันหยาง
นักเขียนประวัติศาสตร์ที่ติดตามการปล้นสุสานที่มีชื่อท่านหนึ่ง คือ หนี ฟางลิ่ว โต้แย้งว่า สุสานหลวงของบุคคลระดับผู้ปกครองดินแดนโดยทั่วไป จะต้องมีจารึกแสดงความอาลัย และป้ายชื่อเจ้าของสุสาน ซึ่งสองสิ่งนี้เป็นหลักฐานยืนยันตัวบุคคล และเป็นหลักฐานโดยตรงที่พิสูจน์ตัวตนของผู้เสียชีวิต แต่นักโบราณคดีก็ไม่ได้พบหลักฐานสองอย่างนี้ในสุสานหลวงฯที่อันหยาง นอกจากนี้ ก็ยังไม่มีการพิสูจน์ยีนส์จากหัวกะโหลกที่พบในสุสานฯ ดังนั้น จึงเป็นการเร็วเกินไปที่จะระบุสุสานของโจโฉในตอนนี้
อย่างไรก็ตาม หนี ฟางลิ่วก็ชี้ว่าแม้ยังไม่สามารถระบุว่าสุสานของโจโฉเป็นสุสานหลังไหนมีที่ตั้งอยู่ตรงไหนกันแน่ แต่หลักฐานที่ขุดพบในครั้งนี้ ก็ทำให้ระบุได้ว่า สุสานหลวงของโจโฉอยู่ในบริเวณตำบลอันเฟิง อำเภออันหยาง มณฑลเหอหนัน หรือในบริเวณใกล้เคียง
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่ม ก็ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับชื่อ “วุ่ยอู่หวัง”โดยชี้ว่าฮั่นเสี้ยนตี้ ฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ประทานนามโจโฉ ว่า “วุ่ยกง” และ “วุ่ยหวัง” (วุ่ยอ๋อง) ไม่ได้เรียก วุ่ยอู่กง หรือ วุ่ยอู่หวัง แม้โจโฉสิ้นชีวิตไปแล้ว ก็มิได้เปลี่ยนชื่อเรียกนี้ ดังนั้น สิ่งของต่างๆที่ถูกฝังพร้อมศพของโจโฉในสุสาน ก็ไม่น่าสลักชื่อ “วุ่ยอู่หวัง”
ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการระบุที่ตั้งสุสานโจโฉอีกหลายข้อ แต่ผู้เขียนก็ขอหยิกยกสองสามข้อสำคัญเพียงเท่านี้
สำหรับการพิสูจน์หาตัวเจ้าของสุสาน หลายกลุ่มก็ได้ชี้ถึงวิธีการพิสูจน์ DNA ของซากหัวกะโหลกที่พบในสุสานฯ
ล่าสุด ทีมวิจัยทางวิทยาศาสตร์ นำโดยอาจารย์ หลี่ ฮุย แห่งวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มหาวิทยาลัยฟู่ตั้นในนครเซี่ยงไฮ้ เสนอให้ทดสอบดีเอ็นเอของลูกหลานโจโฉ ที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน โดยให้กลุ่มคนแซ่ เฉา หรือ แซ่เซี่ยโหว ที่เชื่อว่าเป็นลูกหลานสืบสายเลือดจากแม่ทัพโจโฉ มอบตัวอย่างดีเอ็นเอมาทดสอบเพื่อพิสูจน์ว่าเจ้าของสุสานที่ตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์นี้ คือ โจโฉ หรือไม่ โดยเขาได้ติดต่อเจ้าหน้าที่ขอตัวอย่างชิ้นส่วนกระดูกผู้ชาย และผู้หญิงที่พบในสุสาน มาทำการทดสอบดีเอ็นเอ
แต่สื่อจีนก็แย้งอีกว่า การทดสอบดีเอ็นเอนี้ สามารถทดสอบเพียงว่า เลือดของเจ้าของสุสานเป็นสายเลือดของสกุลเฉา เท่านั้น นอกจากนี้ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นๆ ก็ตั้งข้อสงสัยอีกว่า ตัวอย่างจากกระดูกในสุสานที่มีอายุเก่าแก่ ถึง 1,800 ปี นี้ จะใช้ได้หรือ เนื่องจากมีซากกระดูกเหลืออยู่น้อยมาก อีกทั้งมีการปล้นสุสานฯมานับครั้งไม่ถ้วนตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้อย่างมากทีเดียวว่า ซากกระดูกนั้นอาจมีดีเอ็นเอของหัวขโมยปนเปื้อนอีกด้วย