xs
xsm
sm
md
lg

ศก.จีนเสริมส่งดวงเศรษฐีฮ่องกง ลีกาชิง ยังนำ 40 อันดับเจ้าสัวฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลีกาชิง เศรษฐี ผู้มีมากกว่าความรวย (ภาพฟอร์บส์)
เอเอฟพี/เอเยนซี-ฟอร์บส์ เอเชีย แม็กกาซีน จัดอันดับให้นายลี กาชิง ประธานบริษัท เฉินกง โฮลดิ้งส์ จำกัด วัย 81 ปี เป็นบุคคลร่ำรวยที่สุดในฮ่องกง ด้วยทรัพย์สินสุทธิ 2.13 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2552 โดยร่ำรวยเพิ่มขึ้น 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ

สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานอันดับ 40 มหาเศรษฐีฮ่องกงประจำปี 2552 วันที่ 5 ก.พ. โดยอ้างข้อมูลของ นิตยสารฟอร์บส์ (Forbes Magazine) ซึ่งเป็นนิตยสารที่ทรงอิทธิพลด้านการเงินของสหรัฐอเมริกา วันที่ 4 ก.พ. ว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา เศรษฐีชาวฮ่องกงมีทรัพย์สินมากขึ้น คนรวยที่สุด 40 คนของฮ่องกงมีทรัพย์สินรวมกัน 135,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 82,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยนักธุรกิจ จำนวน 24 ราย มีเงินเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมอย่างน้อยร้อยละ 50 ส่วนใหญ่เป็นเพราะราคาหลักทรัพย์ฟื้นตัวและราคาอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงและจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งในจำนวนนี้ไม่มีแม้แต่คนเดียวที่ทรัพย์สินลดน้อยลง และมีมากกว่า 10 คนที่เข้าไปลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์จำนวนมหาศาลในประเทศจีน แต่มีนักธุรกิจหญิงติดอันดับเพียงรายเดียวในฐานะทายาทธุรกิจ

อันดับหนึ่ง ได้แก่ ลีกาชิง หรือ หลี่เจียเฉิง (Li Ka-shing) ประธานบริษัทพัฒนาพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ เฉินกง โฮลดิ้ง จำกัด วัย 81 ปี มีทรัพย์สินมูลค่า 21,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้รับการขนานนามจากสื่อมวลชนฮ่องกงว่า "ซูเปอร์แมน" เนื่องจากมีประวัติการลงทุนสูงสุด อีกทั้งยังเคยคาดการณ์อย่างถูกต้องในปี 2550 ว่าตลาดหุ้นของจีนตกอยู่ในภาวะฟองสบู่ นอกจากนี้ยังเป็นนักธุรกิจคนเดียวในฮ่องกงที่ติดรายชื่อ 25 อันดับ ผู้ร่ำรวยที่สุดในโลก โดยอยู่ที่อันดับ 16
สามพี่น้องตระกูลกว็อก (Kwok) คือ นายวอลเตอร์ (Walter) เรย์มอนด์ (Raymond) และโธมัส (Thomas) (ภาพฟอร์บส์)
อันดับ 2 คือ สามพี่น้องตระกูลกว็อก (Kwok) คือ นายวอลเตอร์ (Walter) เรย์มอนด์ (Raymond) และโธมัส (Thomas) เจ้าของบริษัท ซุน ฮุง ไก พร็อพเพอร์ตี (Sun Hung Kai Properties) มีทรัพย์สินสุทธิ 10,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 55 ท่ามกลางวิกฤตทางการเงิน
นายลี เชา-กี (Lee Shau Kee) วัย 81 ปี ที่รู้จักกันในฐานะวอร์เรน บัฟเฟตต์แห่งเอเชีย (ภาพฟอร์บส์)
อันดับ 3 ได้แก่ นายลี เชา-กี (Lee Shau Kee) วัย 81 ปี ที่รู้จักกันในฐานะวอร์เรน บัฟเฟตต์แห่งเอเชีย เศรษฐีอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของบริษัท เฮนเดอร์สัน แลนด์ เดเวล็อปเมนท์ (Henderson Land Development) แม้ทรัพย์สินลดไปกว่า 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพราะตลาดหุ้นฮ่องกงดิ่งลงอย่างรุนแรง แต่ยังคงรั้งอันดับ 3 ด้วยทรัพย์สินสุทธิ 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามด้วย ไมเคิล คาดูรี(Michael Kadoorie) มีทรัพย์สิน 4,200 ล้านเหรียญสหรัฐ
สแตนลีย์ โฮ (Stanley Ho) เจ้าพ่อกาสิโนผู้มีชื่อเสียง วัย 87 ปี (ภาพฟอร์บส์)
ส่วนสแตนลีย์ โฮ (Stanley Ho) เจ้าพ่อกาสิโนผู้มีชื่อเสียง วัย 87 ปี รายได้ลดลงร้อยละ 89 ตกจากอันดับ 5 ปีที่แล้ว ไปอยู่ที่อันดับ 19 มีทรัพย์สินสุทธิ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ริชาร์ด ลี (Richard Li) บุตรชายนายลีกาชิง (Li Ka-shing) เจ้าของบริษัท “PCCW” ผู้ประกอบธุรกิจด้านโทรคมนาคมรายใหญ่ของฮ่องกง อยู่ในอันดับ 16 มีทรัพย์สินสุทธิ 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ผู้ติดอันดับครั้งแรก มี 8 คน ที่เด่นๆ ก็มีอาทิ จิมมี ไหล เจ้าพ่อสื่อผู้มีชื่อเสียง ติดอันดับที่ 33 มีทรัพย์สินสุทธิ 660 ล้านเหรียญสหรัฐ และไมเคิล ชาน (Michael Chan) เจ้าของเครือร้านอาหารจีน “คาเฟ่ เดอ คอรัล โฮลดิ้งส์ (Cafe de Coral Holdings)” ติดอันดับที่ 35 มีทรัพย์สินสุทธิ 560 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึง อลัน หว่อง ผู้ร่วมก่อตั้งวีเทค กิจการผลิตโทรศัพท์ไร้สาย และของเล่นอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการศึกษา , พี่น้องอัลเฟรด ชาน และเอ็ดเวิร์ด ถัน ชาวแคนาดา ที่ได้สัญชาติฮ่องกง ซึ่งทำกิจการห้างดีพาร์ทเมนต์สโตร์สินค้าหรูหราในจีน

นอกจากนี้ ในรายชื่อนั้นมีนักธุรกิจหญิงติดอันดับเพียงรายเดียวในฐานะทายาทธุรกิจคือ นาง ปง ฮอง ซุ่ย ฉู ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทการค้าเหล็ก ฉุย วิง สตีล จำกัด ได้ลำดับที่ 34 มีทรัพย์สิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ การจัดอันดับดังกล่าว นิตยสารฟอร์บส อ้างอิงจากข้อมูลการถือหุ้น ข้อมูลทางการเงินที่รวบรวมจากตลาดหุ้นและนักวิเคราะห์ รวมถึงข้อมูลที่ได้รับมาจากตัวนักธุรกิจเอง
ลีกาชิง "เศรษฐี" คือผู้มีมากกว่าความรวย
ลีกาชิง อภิมหาเศรษฐีฮ่องกง ผู้ครองอันดับหนึ่งปีนี้ เริ่มธุรกิจด้วยการก่อตั้งบริษัทค้าและผลิตพลาสติกในปี พ.ศ. 2493 และเปลี่ยนจากเศรษฐีธรรมดากลายเป็นอภิมหาเศรษฐีระดับโลก เมื่อปี 2522 จากการสร้างประวัติศาสตร์เป็นชาวจีนคนแรกที่เข้าซื้อหุ้นบริษัทต่างชาติ คือ บริษัทพัฒนาที่ดินฮัทชิสัน แวมเปาของอังกฤษ (Hutchison Whampoa Limited)

จากนั้นก็เริ่มรุกจากธุรกิจผลิตพลาสติก ไปสู่การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยในยุคที่ราคาที่ดินและที่อยู่อาศัยตกระเนระนาด เนื่องจากคนฮ่องกงกำลังแตกตื่นเพราะอังกฤษจะคืนสิทธิการเช่าให้จีน เขาตัดสินใจกว้านซื้อที่ดินจำนวนมาก และยังขยายเครือข่ายธุรกิจอุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้า โรงแรม ค้าปลีกซุปเปอร์มาร์เกต ท่าเรือ และการสื่อสารในเวลาต่อมา รวมทั้งลงทุนในธุรกิจด้านไอที ธุรกิจสื่อ และการค้นคว้าทางเทคโนโลยีชีวภาพ

นับแต่เริ่มต้นรุกด้านธุรกิจ ลีกาชิง ก็ได้ก่อตั้ง ‘มูลนิธิลีกาชิง’ (Likashing Foundation) ขึ้นในปี พ.ศ.2523 ควบคู่ไปด้วย ซึ่งเขาให้ความสำคัญกับมูลนิธินี้เสมอดังลูกชายอีกคนของตน โดยบริจาคทรัพย์สินส่วนตัว 1 ใน 3 ของแต่ละปีเข้าสมทบฯ พร้อมระบุว่ามูลนิธิลีกาชิง ก่อตั้งขึ้นเพื่อทำงานด้านการกุศล สนับสนุนและส่งเสริมด้านการศึกษา การแพทย์ วัฒนธรรมตลอดจนงานสาธารณกุศลต่างๆ เพื่อสังคม ห้ามไม่ให้สมาชิกในครอบครัวลี หรือบอร์ดบริหารมูลนิธิคนใด มาข้องเกี่ยวใช้เงินของมูลนิธินี้

นอกจากนั้น ลี ยังบริจาคเงินเพื่อสร้างมหาวิทยาลัยซัวเถา ที่เปิดสอนทุกวิชาและมีโรงพยาบาลในมหาวิทยาลัย รวมถึงสถาบันวิจัยด้านการแพทย์อีก 4 แห่ง ในปีพ.ศ.2524 ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น