xs
xsm
sm
md
lg

เสียฤกษ์! กูเกิลจีนเลื่อนเปิดตัวมือถือแอนดรอยด์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กูเกิลโฟน - หมากธุรกิจของกูเกิ้ล กับการคิดหารายได้จากการจำหน่ายอุปกรณ์ให้กับผู้บริโภคโดยตรง ที่ไม่ใช่โฆษณาออนไลน์ (ภาพเอเยนซี)
รอยเตอร์ส-กูเกิลประกาศเลื่อนเปิดตัวโทรศัพท์มือถือที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ในจีน ไปเมื่อวันพุธที่ 19 ม.ค. หลังจากเสียฤกษ์เพราะบรรยากาศความขัดแย้งกับทางการจีน อันเนื่องมาจากการตอบโต้ในปัญหาเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตและเจาะข้อมูลอีเมล์ จนถึงขั้นอาจตัดสินใจถอนธุรกิจออกจากแดนมังกร

โดยเมื่อวันพุธที่ผ่านมา บรรดาผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือที่ออกมาเปิดตัวโทรศัพท์รุ่นใหม่ในจีน มีเพียงโมโตโรล่า, ซัมซุง อิเล็คทรอนิกส์ และ ไชน่ายูนิคอม

มาร์ชา หวัง โฆษกกูเกิล อิงค์ ไม่ได้ให้เหตุผลชัดเจน และยังไม่มีกำหนดว่า ว่าจะเปิดตัวใหม่เมื่อไหร่

แหล่งข่าวใกล้ชิดฯ กับสถานการณ์ กล่าวกับเอเอฟพีว่า กูเกิล อิงก์ ต้องการให้ลูกค้าได้รับ “ประสบการณ์ที่ดี” กับสินค้าของตน ก็คงเกรงว่าบรรยากาศในเวลานี้น่าจะไม่เหมาะสม

สืบเนื่องจากคำแถลงของกูเกิลในสัปดาห์ก่อนที่ ขู่ว่าจะปิดบริการในจีน หลังพบว่ากูเกิลและบริษัทอีกอย่างน้อย 20 แห่ง ถูกนักเจาะระบบในจีนแอบเข้าล้วงข้อมูลอย่างหนัก แถลงการณ์ของกูเกิลในวันอังคาร (12 ม.ค.) เผยว่า ตรวจพบการล้วงข้อมูลในบัญชีอีเมลจีเมลของกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนจีน และบริษัทหลายแห่ง อาทิ บริษัทด้านการเงิน อินเทอร์เน็ต สื่อมวลชน เทคโนโลยี และธุรกิจเคมี

นอกจากนั้นกูเกิล ยังบอกว่าจะไม่ยอมคัดกรองผลสืบค้นในเว็บไซต์ Google.cn อีกต่อไป แม้จะทำให้ไม่สามารถทำธุรกิจในจีนได้อีกต่อไปก็ยอม พร้อมกับแสดงความต้องการที่จะเข้าพบกับทางการจีนเพื่อจะหาหนทางที่จะไม่คัดกรองผลสืบค้นในประเด็นอ่อนไหวดังกล่าว โดยไม่ขัดกฎหมายของจีนด้วย

แอนดรอยด์เป็นระบบปฏิบัติการโอเพ่นซอร์ส ที่ได้รับการปรับพัฒนาเพื่อใช้ในจีน โดย โมบายล์ โอโฟนของจีน และ เดล มินิ 3 และเปิดปฏิบัติการในจีนไปแล้วเมื่อปีกลาย

นักวิเคราะห์หลายคนบอกว่า ถ้าไม่มีการสืบค้น ซึ่งเป็นเสมือนเรือธงของธุรกิจกูเกิลในจีน บริษัทฯ ก็คงหาที่ยืนยากในตลาดอินเทอร์เน็ตที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดในโลกเวลานี้

ความขัดแย้งยังอาจเพิ่มความตึงเครียดต่อทั้งจีนและสหรัฐฯ จากที่เคยมีอยู่แล้วในเรื่องค่าเงินหยวน กรณีการค้า นโยบายโลกร้อน และล่าสุดจากการที่สหรัฐฯ ขายอาวุธให้ไต้หวัน

เจ้าหน้าที่จีนหลายคนต่างเลี่ยงที่จะตอบข้อกล่าวหาจากกูเกิล ขณะที่ เมื่อวันอังคาร (19 ม.ค.) นายหม่า จ้าวฉู่ โฆษกฯ รมว.ต่างประเทศจีน ได้ออกมาให้ความเห็นว่า ไม่ค่อยมีทางเลือกที่จะเปิดช่องให้จีนยอมทำตามความต้องการของกูเกิล

หม่า กล่าวว่า ใครก็ตามที่จะมาดำเนินกิจการในจีน ก็ต้องเคารพกฎหมาย กฎเกณฑ์ ความคิดเห็นตลอดจนนโยบายของประเทศที่ตนเองเข้ามาลงทุน รวมถึงการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมนั้นด้วย ซึ่งแน่นอนไม่เว้นแม้กูเกิล

หม่าไม่ได้อ้างว่าการเซ็นเซอร์จะเกี่ยวข้องอะไรกับความรับผิดชอบในกรณีนี้ แต่เจ้าหน้าที่จีนคนอื่นมีพูดถึงเรื่องนี้บ้าง

นับจนถึงตอนนี้ กระทรวงต่างประเทศยังหลีกเลี่ยงที่จะเอ่ยชื่อกูเกิล ต่อกรณีที่ทางการสหรัฐฯ เรียกร้องคำอธิบายจากจีน เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่จีนคนอื่น หม่า ไม่ได้โต้กับสหรัฐตรงๆ

พอถูกถามอีกครั้งถึงการเจาะข้อมูลกูเกิลที่มีฐานปฎิบัติการในจีน หม่า ก็ตอบว่า บริษัทของคนจีนเองก็ล้วนโดนเหมือนๆ กัน

ทั้งนี้ สอดคล้องกับการรายงานของนายจี้ กุ้ยหลิน บรรณาธิการใหญ่เว็บไซต์กระทรวงกลาโหมจีน ที่ออกมากล่าวกับสื่อจีน เมื่อเดือน พฤศจิกายนปีที่แล้ว ว่า นับตั้งแต่มีการเปิดเว็บไซต์ในเดือนสิงหาคม 2552 เว็บของกระทรวงกลาโหมจีนที่เขาดูแลอยู่ได้ ถูกลูบคม เจอมือดีพยายามล้วงเจาะมากกว่า 2 ล้านครั้ง

หม่ากล่าวว่า จีนคือเหยื่อของแฮ็กเกอร์รายใหญ่ที่สุดแล้ว 8 ใน 10 ของคอมพิวเตอร์จีน ที่ต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ตได้ ล้วนโดนแฮ็ก รวมทั้งบรรดาไวรัสที่ปล่อยพล่านกันออนไลน์

ดูเหมือนว่านอกจากสหรัฐฯ แล้ว ยังมีประเทศอื่นๆ ที่ถูกลากเข้ามาในความขัดแย้งครั้งนี้ด้วย

เอ็ม เค นารายนันท ที่ปรึกษาด้านระบบความปลอดภัยของอินเดีย กล่าวกับ ไทมส์ ของอังกฤษ ว่า ในวันที่ 15 ธ.ค. ปีที่แล้ว สำนักงานของเขาและหน่วยงานรัฐบาลอินเดียอื่นๆ เคยตกเป็นเป้าการโจมตึของแฮกเกอร์ ที่มีฐานปฏิบัติการในจีน อันเป็นเวลาเดียวกับกรณีกูเกิลและบริษัทอื่นๆ

หม่า ตอบเรื่องนี้ว่า มันไม่มีมูลที่จะทึกทักเชื่อมโยงกัน

อนันด์ ชาร์มา รัฐมนตรีกระทรวงพานิชย์และอุตสาหกรรมอินเดีย ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นกับรายงานนั้น เขาบอกว่า ในการพบปะพูดคุยกับรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์จีน เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ไม่มีประเด็นนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น