xs
xsm
sm
md
lg

จีนเป็นศูนย์กลางพิภพบนแผนที่โบราณริชชี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายละเอียดในแผนที่เมื่อปีค.ศ.1602 ของมัตเตโอ ริชชี่ แสดงบริเวณที่เป็นรัฐฟลอริด้าและอ่าวเม็กซิโก โดยแผนที่จัดแสดงที่ห้องสมุดรัฐสภาในกรุงวอชิงตันเมื่อวันที่ 11 ม.ค.2553 - เอเจนซี่
เอเจนซี่ – ห้องสมุดรัฐสภามะกันเปิดห้องจัดแสดงแผนที่โบราณอายุเก่าแก่ 400 ปีของจีนซึ่งเกือบไม่เคยมีใครได้ยลเป็นบุญตามาก่อน และยังเป็นแผนที่ภาษาจีนฉบับแรก ที่เอ่ยถึงทวีปอเมริกา โดยเรียกรัฐฟลอริด้าว่า “ดินแดนแห่งบุปผชาติ” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยังกำหนดให้แผ่นดินมังกรคือศูนย์กลางของโลก

แผนที่โบราณฉบับดังกล่าวเขียนขึ้นโดยบาทหลวง มัตเตโอ ริชชี่ (Matteo Ricci) มิสชันนารีคณะเยซูอิตจากอิตาลี และเป็นชาวตะวันตกพวกแรก ที่พำนักอยู่ในบริเวณ ซึ่งปัจจุบันคือกรุงปักกิ่งเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษ 1600 โดยริชชี่ ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า เป็นผู้นำวิทยาการของชาวตะวันตกมาเผยแพร่ในจีน ได้สร้างแผนที่ฉบับนี้ขึ้นเมื่อปีค.ศ.1602 ตามพระประสงค์ของฮ่องเต้วั่นหลี่

ในแผนที่ ซึ่งมีภาพวาด และหมายเหตุประกอบ ได้พรรณนาถึงภูมิภาคต่าง ๆ ในโลก โดยพูดถึงทวีปแอฟริกาว่า มีภูเขาสูงที่สุด และแม่น้ำสายยาวที่สุดในโลก นอกจากนั้น ยังเล่าถึงทวีปอเมริกาเหนืออย่างสั้น ๆ โดยเอ่ยถึง “วัวมีตะโหงก” หรือวัวกระทิง ม้าป่า และภูมิภาค ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “Ka-na-ta”

ขณะเดียวกันยังมีการบอกชื่อของสถานที่ในอเมริกากลาง และอเมริกาใต้บางแห่ง เช่น“Wa-ti-ma-la” (กัวเตมาลา) “Yu-ho-t’ang” (ยูคาทาน) และ“Chih-Li” (ชิลี)

“ ในอดีตกาลโน้น ไม่เคยมีใครทราบว่ามีดินแดนอย่างเช่นอเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ หรือมาเจลแลนนิก้า” ริชชียังได้อธิบายคร่าวๆ ถึงการค้นพบทวีปอเมริกา

“แต่เมื่อหนึ่งร้อยปีก่อน ชาวยุโรปได้แล่นเรือไปยังชายฝั่งทะเลหลายที่ จึงได้ค้นพบดินแดนเหล่านี้” เขาระบุ


มีการตั้งชื้อล้อเลียนแผนที่ของริชชีว่า “ดอกทิวลิปดำแห่งวิชาเขียนแผนที่ ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้” เพราะเสาะหาได้ยากเหลือเกิน

แผนที่ฉบับนี้เป็น 1 ใน 2 ฉบับ ที่ยังอยู่ในสภาพดี กองทุนเจมส์ ฟอร์ด เบลล์ ทรัสต์ (James Ford Bell Trust) เป็นผู้ซื้อเมื่อเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา ด้วยราคา 1 ล้านดอลลาร์ เพื่อนำมาเก็บรักษาไว้ที่ห้องสมุดเบลล์ของมหาวิทยาลัย มินเนสโซต้า โดยก่อนหน้านี้ เป็นสมบัติของนักสะสมคนหนึ่งในญี่ปุ่นอยู่นานหลายปี นับเป็นแผนที่หายาก ซึ่งมีราคาแพงที่สุด ที่มีการซื้อขายกันเป็นชิ้นที่ 2

ห้องสมุดเบลล์ ได้ซื้อแผนที่โบราณ ซึ่งหายากที่สุดคือแผนที่โลกวัลด์เซมุลเล่อร์ (the Waldseemuller world map) ด้วยราคา 10 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2546 แผนที่ซึ่งเขียนโดยชาวเยอรมันฉบับนี้ เป็นแผนที่ฉบับแรก ที่มีการเอ่ยถึงชื่อ “อเมริกา”

แผนที่ของริชชี่ นำมาจัดแสดงพร้อมกับแผนที่โลกวัลด์เซมุลเล่อร์ไปจนถึงเดือนเมษายนนั้น และได้รับการยกย่องจากนายฟอร์ด ดับเบิ้ลยู เบลล์ ผู้ร่วมดูแลกองทุนว่า เป็นสัญลักษณ์ของการติดต่อเกี่ยวข้องกันครั้งแรกระหว่างความคิดและการค้าขายระหว่างโลกตะวันออกกับตะวันตก

แผนที่ฉบับนี้ยังนำออกแสดงสู่สายตาประชาชนเป็นครั้งแรกในทวีปอเมริกาเหนือ และได้รับการยกเว้นพิเศษจากห้องสมุดของรัฐสภา ซึ่งแทบไม่เคยจัดแสดงวัตถุสิ่งของ ที่ตนไม่ได้เป็นเจ้าของ โดยยังจะได้มีการจัดทำแผนที่ฉบับนี้ในลักษณะแผนที่ดิจิตอล เผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตสำหรับนักศึกษาและผู้สนใจค้นคว้าทั่วไป

แผนที่ของริชชี มีขนาด 3.6 x 1.5 เมตร พิมพ์อยู่บนกระดาษ ซึ่งทำด้วยไส้ไม้ชนิดหนึ่ง จำนวน 6 ม้วน

ปัจจุบัน ไม่มีตัวอย่างของแผนที่นี้ปรากฏอยู่ในจีนแล้ว โดยเหลือสำเนาต้นฉบับสองสามชิ้น ปัจจุบันเก็บรักษาโดยห้องสมุดของสำนักวาติกัน และนักสะสมในฝรั่งเศสและญี่ปุ่น

สำหรับบาทหลวงริชชีนั้นได้ฝังร่างอยู่ใต้แผ่นดินมังกร และเป็นบุคคล ที่จีนให้การเคารพยกย่องนับถือ
กำลังโหลดความคิดเห็น