xs
xsm
sm
md
lg

จีนแซงเยอรมนี ชาติส่งออกอันดับหนึ่งของโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนงานที่ท่าเรือน้ำลึกหยางซัน โดยยอดส่งออกของจีนเมื่อปีที่แล้วมีมูลค่าสูงกว่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ - เอเจนซี่
วอชิงตันโพสต์,รอยเตอร์ – จีนผงาดเป็นชาติผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก ขณะที่ยอดส่งออกและนำเข้าของจีนเดือนธ.ค.พุ่งสูงเกินคาด นักวิเคราะห์ฟันธง ภาคการส่งออกที่แข็งแกร่งจะเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลปักกิ่งปล่อยเงินหยวนแข็งค่าในเร็ว ๆ นี้

สำนักงานศุลกากรของจีนเปิดเผยตัวเลขเมื่อวันอาทิตย์ (10 ม.ค.2553) ระบุ การส่งออกประจำเดือนธ.ค.ของจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ17.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน

แม้มิใช่จีนชาติเดียว ที่ยอดส่งออกเดือนดังกล่าวพุ่งฉลุย เกาหลีใต้ และไต้หวันต่างก็ปรับขึ้นเช่นกัน ทว่าของจีนดีดไปไกลกว่า จนกระทั่งเบียดเยอรมนีตกอันดับชาติผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลกในปีที่แล้วด้วยยอดมูลค่าการส่งออกกว่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงเล็กน้อยกว่าประมาณการณ์ส่งออก ที่ 1.17 ล้านล้านดอลลาร์ของแดนเบียร์ โดยสมาพันธ์การค้าส่งและการค้าต่างชาติแห่งเยอรมนี

อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยเมื่อปีที่แล้ว จีนเบียดขึ้นสู่อันดับหนึ่งได้ก็เนื่องจากยอดส่งออกของจีนตกลงเพียงร้อยละ16 ขณะที่ยอดส่งออกของเยอรมนีดิ่งลึกกว่า

อาร์เทอร์ โครเบอร์ กรรมการผู้จัดการของดราโกโนมิกส์ บริษัทวิจัยเศรษฐกิจในกรุงปักกิ่งระบุว่า ข่าวใหญ่อันดับต่อไปของจีนก็คือจีนก้าวขึ้นเป็นชาติเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกแทนที่ญี่ปุ่น ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนคาดว่า น่าจะเกิดขึ้นในปีนี้

ขณะเดียวกัน จีนยังคงเป็นชาติผู้นำเข้ารายใหญ่ โดยยอดนำเข้าเดือนธ.ค. เพิ่มร้อยละ 55.9 เป็นมูลค่า 112.3 พันล้าน ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ โดยการนำเข้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ และเครื่องจักรกล ที่จำเป็นสำหรับโครงการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งผุดขึ้นมากมายจากแผนกระตุ้นการใช้จ่ายจำนวนมหาศาลของรัฐบาลจีน

ตัวเลขเหล่านี้ ซึ่งรวมทั้งการเป็นชาติที่มีตลาดรถยนต์ และตลาดผู้ผลิตเหล็กกล้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อปีก่อน ล้วนสะท้อนถึงการบริโภคและการลงทุน ที่ความคึกคักแข็งแกร่งบนแดนมังกร ซึ่งช่วยปรับสมดุลใหม่แก่เศรษฐกิจโลก

รายงานของบาร์เคลย์ส แคปปิตอลเมื่อเร็ว ๆ นี้ระบุว่า จีนเป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญรายหนึ่งต่อการฟื้นตัวของตลาดโภคภัณฑ์ต่าง ๆ เช่นออสเตรเลียในปี2552 โดยจากข้อมูลส่วนใหญ่เมื่อไม่นาน เช่นการใช้ไฟฟ้า ที่เพิ่มขึ้น ล้วนบ่งชี้ถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจจีน ซึ่งจะยังคงนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ทุกชนิดอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่สินแร่เหล็ก น้ำมัน ตลอดจนถึงข้าวโพด

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์มองว่า อัตราเร่งที่แข็งแกร่งของการนำเข้านี้ อาจทำให้มีโอกาสมากขึ้นที่เศรษฐกิจจีนจะร้อนแรง และยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลปักกิ่งใช้นโยบายเข้ามาควบคุม ซึ่งเห็นได้จากการขึ้นดอกเบี้ยร้อยละ0.05 สำหรับตั๋วเงินคลังอายุ 3 เดือนของธนาคารกลางจีนเมื่อวันพฤหัสฯ ( 7 ม.ค.2553) ซึ่งเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปีที่แล้ว

นอกจากนั้น บรรดานักเศรษฐศาสตร์ เช่น ไบรอัน แจ็กสัน แห่งรอยัล แบงก์ ออฟ แคนาดา เชื่อว่าภาคการส่งออกที่แข็งแกร่งจะยิ่งกดดันให้ปักกิ่งปล่อยเงินหยวนแข็งค่า โดยตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดนี้ทำให้เจ้าหน้าที่ของจีนมั่นใจขึ้นว่า อุปสงค์ในโลกมิได้อ่อนแออย่างที่พวกตนกลัวกันไป และไตรมาสแรกของปีนี้จะเป็นช่วงสำคัญอย่างยิ่ง ที่จีนจะไตร่ตรองสิ่งที่เกิดขึ้น โดยหากตัวเลขเศรษฐกิจยังคงคึกคัก รัฐบาลก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆ รวมทั้งนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวน หลังจากจีนไม่สนใจแรงกดดันจากสหรัฐฯ และชาติตะวันตก ที่ให้ปล่อยเงินหยวนแข็งค่า หลังจากเกิดวิกฤตการเงินโลกเมื่อกลางปี 2551

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งมองว่า ถ้าภาคส่งออกของจีนยังคงแข็งแกร่ง เงินหยวนก็น่าจะเริ่มแข็งค่าขึ้นในราวสิ้นเดือนมีนาคม อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าจะเป็นไปอย่างพอประมาณ คือร้อยละ 3 ตลอดทั้งปีนี้ เนื่องจากจีนยังต้องสร้างตำแหน่งงานในภาคส่งออก และพยุงให้เศรษฐกิจโต จากความเห็นของหลิน ซ่งหลี่ นักเศรษฐศาสตร์ของกั๋วเซิน ซิเคียวริตี้ในกรุงปักกิ่ง

ขณะที่หวง กั๊วหัว นักสถิติของสำนักงานศุลกากรของจีนเรียกการดีดตัวของการส่งออกประจำเดือนธ.ค.นี้ว่าเป็น “จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ” และผู้ส่งออกของจีนได้เดินผ่านช่วงเวลา ที่อ่อนแอมาถูกทางแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น