เอเอฟพี – มะกันมึนตึ้บ ไอโฟนผี ดีวีดีเถื่อนยังอาละวาดทั่วแดนมังกร สุดอนาถ ภาพยนตร์ “อวตาร” ฉบับก๊อปปี้ หาซื้อแค่ 1 ดอลลาร์ก็ได้ดูสบาย ๆ นักวิเคราะห์ชี้ งานนี้เจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่นคือตัวการใหญ่
ในรายงานประจำปีต่อสภาคองเกรสของนาย รอน เคิร์ก ผู้แทนการค้าสหรัฐฯเมื่อปลายเดือนที่แล้วระบุว่า แม้จีนได้ดำเนินการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์อยู่หลายครั้ง อีกทั้งการดำเนินคดีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในศาลของจีนก็เพิ่มมากขึ้น แต่สินค้าปลอมแปลงกลับยังคงมีอยู่ “ในระดับสูงอย่างที่ยอมรับไม่ได้” และก่อความเสียหายอย่างหนักต่อหลายภาคธุรกิจของสหรัฐฯ
ก่อนหน้าคำวิจารณ์ดังกล่าวไม่นาน คณะกรรมาธิการต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศของสภาคองเกรสสหรัฐฯ เพิ่งตัดสินใจขึ้นบัญชีจีนเป็น 1 ใน 5 ชาติอันดับแรก ที่ต้องเฝ้าจับตามองการละเมิดลิขสิทธิ์ประจำปี2552
นักวิเคราะห์มองว่า แม้ทางการจีนลงมือปราบปราม และสามารถฟ้องร้องเอาผิดผู้ปลอมแปลงได้ แต่การรับสินบนและการตรวจตรา ที่หย่อนยานในหมู่เจ้าหน้าที่ ทำให้โรงงานยังคงผลิตสินค้าเถื่อนออกมาไม่ขาดสาย ทำลายรายได้ของบริษัทต่างชาติและในประเทศหลายพันล้านดอลลาร์
“การให้ความคุ้มครองในท้องถิ่น และการคอร์รัปชั่นในรัฐบาลคือประเด็นที่แท้จริง” นายแดเนียล โจว อาจารย์ประจำวิทยาลัยกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยรัฐโอไฮโอ (the Ohio State University College of Law) กล่าว
“รัฐบาลกลางอาจมีความจริงใจ แต่การบังคับใช้กฎหมายนั้น เป็นสิ่งเกิดขึ้นในระดับท้องถิ่น และรัฐบาลท้องถิ่นก็มีผลประโยชน์ทางตรง และทางอ้อมในการให้ความคุ้มครองการปลอมแปลงสินค้า ซึ่งมีความสำคัญกับเศรษฐกิจในท้องถิ่นเอง” เขาอธิบาย
ตลาดละเมิดลิขสิทธิ์และปลอมแปลงสินค้าของจีนใหญ่มโหฬารที่สุดในโลก ต้องจ้างแรงงานหลายล้านคน ทั้งในโรงงาน, คนจำหน่าย และผู้ช่วยตามร้านค้าทั่วประเทศ
สินค้าผีวางขายกันสลอนตามร้านและบนหน้าเว็บไซต์อินเทอร์เน็ตในจีน และในตลาดต่างแดนจากนิวยอร์กถึงซิดนีย์ด้วยสนนราคาเพียงเศษเสี้ยวของราคาสินค้าของแท้
“อวตาร” ที่กำลังทำลายสถิติหนังทำเงินที่สุดในอเมริกาเหนือ หาซื้อได้ตามร้านในกรุงปักกิ่ง ส่วนไอโฟนของบริษัทแอปเปิ้ล ถูกก็อปปี้ขายราคาถูกมานาน ก่อนโทรศัพท์อัจฉริยะรุ่นนี้จะวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในปีที่แล้วเสียอีก
“คุณอยากปราบก็ปราบไปเถอะ ไม่ยากอะไร แต่ไม่มีผลกับแก๊งผีปอบ คนพวกนี้มักจ่ายค่าปรับไม่กี่หยวน พออีก 2 หรือ 3 สัปดาห์ ก็กลับมาปลอมสินค้ากันต่อ” อาจารย์โจวระบุ
ทว่ารัฐบาลปักกิ่งยืนยันเมื่อเดือนที่แล้วว่า ประสบความคืบหน้าชัดเจนในการทำสงครามกับสินค้าผี โดยนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ได้สอบสวนคดีละเมิดลิขสิทธิ์ทางอินเทอร์เน็ตกว่า 500 คดี ปิดเว็บไซต์เถื่อนหลายร้อยเว็บไซต์ และสั่งปรับผู้เกี่ยวข้องการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์รวมเป็นเงินถึง 1.28 ล้านหยวน (187,500 ดอลลาร์)
นอกจากนั้น ยังดำเนินการฟ้องร้องบริษัทต่างชาติ เช่นกรณี ชนะคดีฟ้องไมโครซอฟต์ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งรวมทั้งตัวพิมพ์ในระบบปฏิบัติการ หรือกรณีนักเขียนหญิงเลือดมังกรยื่นฟ้องกูเกิล เป็นคดีแรกของประเทศ ที่สแกนนวนิยายของเธอ ใส่ในห้องสมุดดิจิตอล โดยไม่ได้รับอนุญาต
แต่ยังมีอีกมากมายหลายกรณี ที่เล็ดลอดการตรวจตราไปได้ วิกเตอร์ เหอ นักกฎหมายของบริษัทกฎหมายระหว่างประเทศAllen and Overy ทักท้วง
เขาชี้ว่า พวกเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นคืออุปสรรคใหญ่ คนเหล่านี้หวังสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เติบโต ซึ่งจะทำให้หน้าที่การงานของตน พลอยโตไปด้วย
“ถ้ารัฐบาลท้องถิ่นปราบสินค้าผี คนหลายล้านจะตกงาน ไม่เฉพาะในการผลิตสินค้าปลอม แต่รวมทั้งอุตสาหกรรมถูกกฎหมาย ที่สนับสนุนการผลิตสินค้าเถื่อน และสูญเงินภาษีรายได้อีกหลายล้านหยวนทีเดียว”
อย่างไรก็ตาม เหอมองว่า ถ้ารัฐบาลกลางมีความตั้งใจอย่างแท้จริง เหมือนคราวการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปักกิ่งปี2551 ซึ่งรัฐบาลประกาศอย่างแข็งกร้าวว่า จะไม่ปล่อยให้มีการปลอมแปลงสินค้าเกี่ยวกับกีฬาโอลิมปิกอย่างเด็ดขาด ก็ย่อมสามารถมีชัยในการทำสงครามกับสินค้าผีอย่างแน่นอน