เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการรายวัน - สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ(ยูเอสทีอาร์) ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดี (29) ขึ้นบัญชีดำแคนาดา อินโดนีเซีย และแอลจีเรียในฐานะที่เป็นประเทศละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้ 3 ประเทศหน้าใหม่เหล่านี้ ตกอยู่ในฐานะเดียวกับจีนและรัสเซีย ตลอดจนไทยและชาติอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 12 ชาติ ซึ่งถูกวอชิงตันระบุว่าเป็น "ประเทศที่ต้องจับตามองเป็นลำดับแรกๆ " (Piority Watch List หรือ PWL)
รายงานทบทวนสถานการณ์การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ประจำปี 2009 ซึ่งจัดทำโดยยูเอสทีอาร์ พูดถึงประเทศไทยว่า ยังต้องอยู่ในบัญชี PWL ต่อไป เนื่องจากรัฐบาลไทยในรอบปีที่ผ่านมา แทบไม่ได้สร้างความคืบหน้าในการจัดการกับปัญหาสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และสินค้าปลอมที่มีอยู่อย่างกว้างขวาง แต่ก็บอกด้วยว่ารู้สึกยินดีที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ซึ่งขึ้นบริหารประเทศเมื่อกลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว แสดงเจตนารมณ์ที่จะถือเรื่องการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเรื่องสำคัญ
ขณะเดียวกัน ยูเอสทีอาร์ซึ่งถูกวิพากษ์หนักในปีก่อนๆ ว่าขึ้นบัญชีดำไทย เพราะถูกบริษัทยาสหรัฐฯกดดัน ภายหลังไทยประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร(ซีแอล) ในยาหลายๆ ขนาน ก็กล่าวในรายงานประจำปีนี้แบบเป็นนัยๆ ถึงความไม่พอใจในเรื่องนี้ว่า "สหรัฐฯก็รู้สึกได้กำลังใจจากการแสดงเจตนารมณ์ของไทยที่จะลดความไม่แน่นอนอันถูกสร้างขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลชุดก่อนๆ ในเรื่องเกี่ยวกับการออกประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร..."
นอกเหนือจากไทยแล้ว รายงานประจำปีที่เรียกกันว่า "สเปเชียล 201รีพอร์ต" ฉบับล่าสุดนี้ ได้ใส่ชื่อแคนาดาเอาไว้ในบัญชีดำ PWL เป็นปีแรก ทั้งที่แคนาดาเป็นเพื่อนบ้านและเป็นคู่ค้าสำคัญมากของสหรัฐฯ
รายงานบอกว่า รู้สึกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอ รวมทั้งเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปเรื่องลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาในแคนาดา
"ในช่วงเวลาแห่งความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ เราต้องร่วมมือกับคู่ค้าของเราเพิ่มเป็นสองเท่า แม้แต่พันธมิตรที่ใกล้ชิดอย่างแคนาดา เพื่อยกระดับการป้องกันและการบังคับใช้กฏหมายคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศเหล่านั้นภายใต้ระบบการค้าเสรีของโลก" รอน เคิร์ก ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ กล่าวในรายงาน
ในส่วนเกี่ยวกับอินโดนีเซีย รายงานระบุว่า "มีความก้าวหน้าเรื่องการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาและการบังคับใช้กฏหมายนับจากปี 2006 เป็นต้นเพียงน้อยนิดเท่านั้น" ในขณะที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่น ๆนั้นเริ่มที่จะเดินหน้าไป "ในกระบวนการที่ก้าวหน้ามากกว่าเดิม"
"แนวโน้มในอินโดนีเซียมิได้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และความพยายามของรัฐบาลก็ดูเหมือนจะถอยหลังไปเมื่อเทียบกับสถานการณ์ก่อนหน้านี้" รายงานระบุ
รายงานยังได้เน้นด้วยว่า ในจีนและรัสเซีย ยังคงมี "สถานการณ์ที่น่าวิตกอย่างยิ่ง" ทั้งสองประเทศยังคงถูกจัดอยู่ในบัญชีดำแม้ว่า "จะมีหลักฐานแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่ดีขึ้น" ในด้านการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาก็ตาม
ในปีนี้ สำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐฯทำการสำรวจและรายงานเรื่องภาวะสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศคู่ค้า 77 ราย โดยมีถึง 46 ประเทศที่ถูกขึ้นรายชื่อไว้ในบัญชี "ต้องจับตามองเป็นอันดับแรก" หรือ "ต้องจับตา" หรือ "ต้องตามดูสถานการณ์"
ประเทศที่อยู่ในรายชื่อ "ต้องจับตามองเป็นอันดับแรก" นอกจากจีน รัสเซีย ไทย แคนาดา อินโดนีเซีย และแอลจีเรียแล้ว ยังมี อาร์เจนตินา ชิลี อินเดีย อิสราเอล ปากีสถาน และเวเนซุเอลา
ยูเอสทีอาร์ปีนี้ไม่ได้ขึ้นบัญชีประเทศใดไว้ใน "ต่างประเทศที่ต้องจับตามองเป็นอันดับแรก" (priority foreign country) ซึ่งประเทศคู่ค้าใดถูกใส่ในบัญชีนี้ สหรัฐฯก็จะต้องจัดการสอบสวนทางการค้า อันอาจนำไปสู่การประกาศใช้มาตรการลงโทษ