เซียนนิยายกำลังภายในท่านหนึ่งบอกกับผมว่า ภายหลังจากยุครุ่งเรืองของนิยายกำลังภายในในยุค “กิมย้ง” “โกวเล้ง” เรื่อยมาจนถึง “หวงอี้” แล้ว ยุคต่อไปของนิยายกำลังภายในจีนก็น่าจะเข้าสู่ยุคเรอเนสซองซ์ เพราะ นักเขียนนิยายกำลังภายในรุ่นใหม่สามารถผสมผสานเอาเรื่องราวที่ตื่นเต้น เร้าอารมณ์ เข้ากับศิลปวิทยาการ สมัยใหม่ที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่เรียกว่า “วิทยาศาสตร์” ได้แนบเนียนยิ่งขึ้น แนบเนียนกว่านักเขียนรุ่นก่อนที่มักจะมีความรู้เพียงในเชิงประวัติศาสตร์และวรรณกรรมเท่านั้น
เช่นเดียวกับว่า “เฟิ่งเกอ” นักเขียนหนุ่มจากแผ่นดินใหญ่ ผู้เขียนนิยายเรื่อง “มหากาพย์ภูผามหานที” ซึ่งจับเอาดาราศาสตร์ และ คณิตศาสตร์เข้ามาผสมผสานกับนิยายกำลังภายในได้อย่างกลมกลืน
อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่กำลังรออ่านนิยายกำลังภายในเรื่องมหากาพย์ภูผามหานทีเล่มต่อที่มีกำหนดวางจำหน่ายทุกวันที่ 10 และ 25 ของเดือน ด้วยความกรุณาของ อาจารย์ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์ ทำให้ผมมีโอกาสได้สัมผัสต้นกำเนิดหรือต้นธารของนิยายกำลังภายในในยุคปัจจุบันโดยบังเอิญ
เมื่อมีเวลาว่างจากงานสอนหนังสือที่ธรรมศาสตร์ อ.ปกรณ์ ได้สละเวลาเพื่อแปลอมตะนิยายกำลังภายในเรื่องยอดยุทธ์เยาวมาลย์ออกมาให้นักอ่านชาวไทยได้เสพสม
ยอดยุทธ์เยาวมาลย์ แม้จะเป็นวรรณกรรมเล่มเล็กที่มีความหนาเพียงร้อยกว่าหน้า และไม่เข้าข่ายมหากาพย์นิยายกำลังภายในแม้แต่น้อย ทว่า หนังสือเล่มที่ถูกแต่งขึ้นตั้งแต่เมื่อเกือบสองร้อยปีก่อนกลับถูกชาวจีนยกย่องว่าเป็น ต้นธาร ต้นแบบ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็น “ซือแป๋” ของนิยายกำลังภายในในยุคปัจจุบัน
“ยอดยุทธเยาวมาลย์” หรือชื่อในภาษาจีนกลางคือ “เอ๋อร์หนี่ว์อิงสยงจ้วน (儿女英雄传 นอกจากนี้ยังถูกเรียกขานในชื่ออื่นๆ อีก คือ “จินอี้ว์หยวน” และ “รื่อเซี่ยซินซู”) เป็นอมตะนิยายที่ถูกแต่งขึ้นในสมัยตอนปลายของราชวงศ์ชิง ในช่วงรัชกาลเสียนเฟิง (พ.ศ.2394-2404) โดยชาวแมนจูนามว่า เหวิน คัง (文康) จุดน่าสนใจในความเชื่อมโยงระหว่างวรรณกรรมเรื่องนี้กับผู้เขียนก็คือ วรรณกรรมเรื่องนี้ใช้ความเลวทรามและความเสื่อมโทรมในยุคสมัยราชวงศ์ชิงเป็นพื้นเพในการเขียน แต่ผู้เขียน (เหวิน คัง) กลับเป็นชาวจีนเชื้อสายแมนจูที่บรรพบุรุษเป็นขุนนางแมนจูสังกัดทัพธงแดง
ภายใต้สภาพบ้านเมืองของต้าชิงที่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น ฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างมโหฬาร ประกอบเข้ากับการรุกรานจากจักรวรรดินิยมตะวันตก ก่อความรู้สึกคับข้อง ไม่พอใจในสภาพสังคม การเมืองและการปกครองประเทศภายในเงื้อมมือราชสำนักแมนจูอย่างรุนแรง จนนำมาสู่การระบายความคับแค้นออกทางวรรณกรรม กลายเป็นวีรสตรีนาม “สือซานเม่ย”
นัยยะของวรรณกรรมอมตะเล่มนี้มิเพียงสะท้อนสภาพสังคมและการเมืองในอดีต แต่ยังแฝงไว้ด้วยความก้าวหน้าทางความคิดที่ผู้เขียนกล้าหยิบยกเอาสตรีขึ้นมาเป็นตัวเอกในการดำเนินเรื่อง โดยสตรีผู้นี้มิเพียงมีรูปลักษณ์ที่งดงาม หัวใจที่บริสุทธิ์-สูงส่ง รักความยุติธรรม รักศักดิ์ศรีและมีความกตัญญู แต่ยังมีความสามารถในเชิงยุทธ์อันสูงส่งอีกด้วย
เนื้อเรื่องและวิทยายุทธ์ของ “ยอดยุทธ์เยาวมาลย์” แม้จะไม่ซับซ้อนหรือล้ำลึกพิศดารดังเช่น นวนิยายกำลังภายในรุ่นลูก รุ่นหลาน ทว่า ยังเต็มเปี่ยมไว้ด้วยเนื้อหาของการปกป้อง คุณธรรม จริยธรรม อันดีของบ้านเมืองของสังคมเอาไว้ …
เป็น “ผู้กล้า-คุณธรรม-จริยธรรม” เช่นเดียวกันกับที่ทุกๆ บ้านเมือง ทุกๆ สังคมขาดแคลนและเสาะแสวงหาในยามวิกฤต
รายละเอียดหนังสือ
ชื่อหนังสือ ยอดยุทธ์เยาวมาลย์ (儿女英雄传)
สำนักพิมพ์ สร้างสรรค์บุ๊คส์ (ติดต่อ โทร 0-2258-2724, 0-2258-5858 หรือ www.sangsanbooks.com)
ผู้แปล ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์
ISBN 978-974-341-640-8
พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม พ.ศ.2552
ราคา 140 บาท
หมายเหตุ : หน่วยงาน/บุคคลใดที่ต้องการแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับจีนในรูปแบบหนังสือ สามารถส่งหนังสือมาได้ที่ “โต๊ะจีน หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 102/1 ถ.พระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200” กรุณาวงเล็บด้วยว่า “(คอลัมน์หิ้งหนังสือ)”