xs
xsm
sm
md
lg

ชี้หายนะธรรมชาติกระหน่ำแยงซีเกียง-เซี่ยงไฮ้ใน 50 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แม่น้ำแยงซี ได้รับการขนานนามว่าเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ของชนชาติจีน ด้วยความเป็นเส้นทางสายหลักของอารยธรรมจีนที่สืบทอดมานาน นับย้อนได้ถึงเจ็ดพันปี (ภาพ อู่ จอร์จ)
เอเจนซี่- สำนักข่าวซินหัวรายงานวันอาคาร (10 ต.ค.) ถึงผลสำรวจวิจัยสภาพอากาศที่รุนแรงในบริเวณลุ่มน้ำฉางเจียง หรือแยงซีเกียงสืบเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น จะก่อให้เกิดภัยพิบัติ น้ำท่วม ภัยแล้ง คลื่นความร้อน และพายุหิมะ รุนแรงขึ้นในบริเวณลุ่มแม่น้ำสายนี้ในอีก 50 ปีข้างหน้า ทั้งอาจคุกคามเมืองต่างๆ เช่น เซี่ยงไฮ้

รายงานสรุปผลวิจัย ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซี สำรวจโดย World Wildlife Fund (WWF) ระบุว่า ใน 50 ปีข้างหน้า อุณหภูมิเหนือลุ่มน้ำแยงซีเกียง จะสูงขึ้นเฉลี่ย 1.5-2 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงขึ้นเฉลี่ย 0.33 องศาเซลเซียสต่อปี มาตั้งแต่ปี 2533 และสภาพอุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้ จะก่อหายนะธรรมชาติหนักขึ้นและบ่อยครั้ง

แม่น้ำแยงซี เป็นสายน้ำที่ยาวที่สุดของจีน มีความยาวกว่า 6,300 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 1.8 ล้านตารางกิโลเมตร เป็นแหล่งเลี้ยงดูประชากรมากกว่าหนึ่งในสามของประเทศ หรือ 400 ล้านคน อีกทั้งเป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ

นอกจากนั้นยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์จำนวนมาก รวมถึงแพนด้ายักษ์ โลมา และปลาสเตอร์เจียน ขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำลายทรัพยากรสำคัญๆ ในระบบนิเวศไป

ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิบริเวณลุ่มน้ำแยงซีสูงเฉลี่ย 1.04 ระหว่างปี 2533-2548 หายนะธรรมชาติต่างๆก็รุมจู่โจมลุ่มน้ำแยงซี ทั้งน้ำท่วมรุนแรง คลื่นความร้อน และภัยแล้งซัดกระหน่ำ

ขณะเดียวกัน ระดับน้ำทะเลบริเวณนครเซี่ยงไฮ้ ก็ขยับสูง 11.5 ซม. (4.6 นิ้ว) ระหว่าง 30 ปีมานี้  และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก 18 ซม. ในปี 2593 ซึ่งจะสร้างภัยคุกคามแหล่งน้ำของเมือง

"การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ทำให้เมืองชายฝั่งทะเล อย่าง เซี่ยงไฮ้เสี่ยงอันตรายจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น สภาพอากาศแปรปวนรุนแรง และหายนะทางธรรามชาติอื่นๆ" รายงานฯเตือน

นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อการเกษตรว่า ผลผลิตข้าว และข้าวโพดในลุ่มน้ำฯ ก็จะตกต่ำอย่างมาก โดยเฉพาะการเก็บเกี่ยวข้าวจะลดลงระหว่าง 9 เปอร์เซนต์ ถึง 41 เปอร์เซนต์ ในปลายศตวรรษนี้

เจมส์ ลีพ ประธานของ WWF-International กล่าวว่าการประเมินสำรวจครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญของจีนกับความมุ่งมั่นเพื่อต่อสู้กับสภาวะความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

"การประเมินแยงซีเกียงยังช่วยย้ำถึงความสำคัญของการลงทุนเพื่อรักษาการปรับเปลี่ยนสภาพอากาศ และการทำงานอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญต่อคนเกือบห้าร้อยล้านคน" เขากล่าว

รายงานชิ้นนี้จัดทำโดย WWF และใช้เวลาในการวิจัยกว่าสองปี โดยนักวิจัยมากกว่า 20 คนจาก CAS สำนักอุตุนิยมวิทยาจีน (CMA) และมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นแห่งเซี่ยงไฮ้
กำลังโหลดความคิดเห็น