เดอะ วอลล์สตรีต เจอร์นัล – กลุ่มนักวิทยาศาสตร์และนักสิ่งแวดล้อมชื่อดัง 8 คนของจีน ตีพิมพ์จดหมายเปิดผนึก วอนรัฐบาลล้มเลิกการสร้างเขื่อนเสี่ยวหนันไห่บนแม่น้ำแยงซี เตือนการพัฒนาแหล่งไฟฟ้าพลังน้ำ ที่มากเกินพอดี อาจเป็นบทอวสานสำหรับพันธุ์ปลาหายากหลายชนิด ซึ่งมีอยู่ที่นี่เพียงแห่งเดียว
ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังทบทวนโครงการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว ซึ่งฝ่ายคัดค้านเชื่อว่าจะผ่านการเห็นชอบในเบื้องต้นอย่างเร็วสุดภายในสิ้นเดือนนี้ โดยตามแผนนั้น เขื่อนเสี่ยวหนันไห่จะก่อสร้างในช่วงตอนบนของแม่น้ำ ห่าง 30 กิโลเมตรจากใจกลางของฉงชิ่ง มหานครในภาคตะวันตกเฉียงใต้ ที่กำลังเติบโตพรวดพราด
นักวิทยาศาสตร์จีนและต่างชาติพากันวิตกว่า การก่อสร้างเขื่อนจะไปรุกล้ำเขตสงวนพันธุ์ปลาหายาก ซึ่งมีอยู่ในแม่น้ำสายยาวที่สุดของแดนมังกรแห่งนี้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น โดยเขื่อนจะครอบคลุมพื้นที่ 400 กิโลเมตรในบริเวณ อันเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพยิ่งกว่าบริเวณตอนกลาง และตอนล่างของแม่น้ำ
เขตสงวนแถบนี้ มีปลามากถึง 180 สายพันธุ์ รวมทั้งปลาสเตอร์เจียน และโลมาไร้ครีบ ซึ่งปัจจุบันต่างก็ใกล้สูญพันธุ์
กลุ่มผู้เชี่ยวชาญระบุในจดหมายเปิดผนึกว่า การก่อสร้างเขื่อนจะปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลา, เปลี่ยนกระแสน้ำให้ไหลลงสู่บริเวณ ที่เป็นแอ่งน้ำนิ่งอย่างรวดเร็ว และก่ออันตรายแก่แหล่งวางไข่ของปลา
ทั้งนี้ พันธุ์ปลาน้ำจืด ที่พบในแม่น้ำแยงซี มีอยู่ทั้งสิ้น 338 สายพันธุ์ ซึ่ง 162 สายพันธุ์มีอยู่ที่แม่น้ำนี้เพียงแห่งเดียว อย่างไรก็ตาม ประชากรปลาพันธุ์หายากเริ่มลดน้อยลงมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 อันเป็นผลจากการก่อสร้างเขื่อน , มลพิษในน้ำ , การประมง และการบุกเบิกที่ดิน
ปัจจุบัน แม่น้ำแยงซี่เป็นที่ตั้งของเขื่อนสามโตรก ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนั้น จีนยังมีแผนสร้างเขื่อนอีกหลายแห่งบนแม่น้ำ และสาขาของแยงซี
“ มีการวางแผนสร้างเขื่อนมากจนเกินไปในช่วงตอนบนของแยงซี” หม่า จวิน ผู้อำนวยการสถาบันกิจการด้านสาธารณะและสิ่งแวดล้อมในกรุงปักกิ่ง ซึ่งลงนามในจดหมายเปิดผนึก ระบุ
ผู้คัดค้านจำนวนหนึ่งยังตั้งคำถามเกี่ยวกับประโยชน์ของการสร้างเขื่อนเสี่ยวหนันไห่ ในเมื่อได้มีการอนุมัติการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ 4 แห่งในแม่น้ำจินซา ซึ่งอยู่เหนือเขตสงวนพันธุ์ปลาแห่งนี้ไปแล้วก่อนหน้า
เขื่อนเสี่ยวหนันไห่ คาดว่าจะใช้เงินก่อสร้างเกือบ 24,000 ล้านหยวน (3,510 ล้านดอลลาร์) และก่อสร้างนานกว่า 7 ปี จึงจะแล้วเสร็จ