เอเจนซี--ผู้อำนวยการหน่วยวิศวกรแห่งสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งรัฐ วั่น เปิ่นไท่ แถลงในวันพฤหัสฯ(25 มิ.ย.) สั่งการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในข้อเสนอโครงการสร้างเขื่อนเขื่อนเสี่ยวหนันไห่บริเวณต้นน้ำแยงซีเกียงในเขตเทือกเขาด้านตะวันตกของนครฉงชิ่ง
สืบเนื่องจากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และนักรณรงค์สิ่งแวดล้อมในจีนเคลื่อนไหวหยุดการก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้ เนื่องจากเขื่อนจะคุกคามสายพันธุ์ปลานับร้อยชนิด และอาจทำให้ปลาสเตอร์เจียนยักษ์สูญพันธุ์
วั่น เปิ่นไท่ กล่าวระหว่างแถลงฯนี้ว่า กระทรวงสิ่งแวดล้อมมีอำนาจสั่งการหยุดโครงการสร้างเขื่อน หากพบว่าโครงการฯจะคุกคามสิ่งแวดล้อม สำหรับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมครั้งนี้จะดำเนินการร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นนครฉงชิ่ง แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่าการประเมินฯจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่
ทั้งนี้จีนทุ่มงบประมาณมหาศาลสำหรับโครงการสร้าง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลดการพึ่งพิงพลังงานถ่านหินที่สร้างมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมอย่างหนัก จีนมีเขื่อนขนาดใหญ่มากกว่า 25,800 แห่ง มากกว่าประเทศใดๆในโลก จากตัวเลขของ International Rivers ในแคลิฟอร์เนีย
สำหรับการสร้างเขื่อนเสี่ยวหนันไห่ และเขื่อนอีกสองแห่งบริเวณต้นน้ำเหนือเขื่อนสามโตรก (Three Gorges Dam)ในข้อเสนอนั้น จะส่งผลกระทบโดยน้ำจากอ่างเก็บน้ำจะท่วมแหล่งปลาหายากแห่งสุดท้ายที่เหลืออยู่ของแม่น้ำฉางเจียง ทั้งนี้ ปัจจุบันแหล่งปลาหายากในแม่น้ำฉางเจียงเหลืออยู่ร้อยละ 10 ของขนาดดั้งเดิม นอกจากนี้ เขื่อนจะขัดขวางการไหลของกระแสน้ำตามธรรมชาติ ปิดเส้นทางอพยพของปลาหายาก จากรายงานผลกระทบการสร้างเขื่อนเสี่ยวหนันไห่ที่กลุ่มนักวิทยาศาสตร์และนักรณรงค์สิ่งแวดล้อมจีน 8 กลุ่ม เขียนร่วมกัน และเผยแพร่ใน China Economic Times ฉบับเดือนที่แล้ว
แม่น้ำฉางเจียงเป็นแม่น้ำสำคัญที่มีความยาวอันดับสองของจีน มีสายพันธุ์ปลาอาศัยอยู่ 338 ชนิด โดยในจำนวนนี้ มี 162 ชนิด ที่เป็นปลาเฉพาะถิ่นดำรงชีพอยู่ได้เฉพาะในแม่น้ำฉางเจียงเท่านั้น
“สำหรับปลาสเตอร์เจียนที่มีแหล่งอาศัยในฉางเจียงเช่นกันนั้น ต้องอาศัยกระแสน้ำที่ไหลต่อเนื่องเป็นทางยาวจึงสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และการสร้างเขื่อนขวางกลางลำน้ำเช่นนี้ จะทำให้สเตอร์เจี้ยนสูญพันธุ์” เบรียน ริชเตอร์ ผู้อำนวยการโครงการแหล่งน้ำโลก ของ The Nature Conservancy กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติในสหรัฐอเมริกา กล่าว
กลุ่มสื่อรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนเสี่ยวหนันไห่ เพียงว่าจะสร้างขึ้นบนลำน้ำฉางเจียง โดยบริษัท Three Gorges Project Development Corp แต่ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับขนาด งบประมาณ และกำหนดเวลาเริ่มการก่อสร้าง.