เอเอฟพี/เอเจนซี – ศาลจีนสั่งประหารนักโทษล็อตแรก 9 ราย เซ่นเหตุจลาจลในซินเจียง และกำลังพิจารณาความผิดนักโทษอีก 20 ราย ด้าน ก.ต่างประเทศสหรัฐฯ จี้ให้จีนตัดสินคดีที่เหลืออยู่ด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม ส่วนโฆษกสภาอุยกูร์โลกเชื่อ คำตัดสินมีการเมืองอยู่เบื้องหลัง
สำนักข่าวไชน่า นิวส์ ของทางการจีน รายงานเมื่อวันจันทร์ (9 พ.ย.) ว่า ศาลสูงของจีนได้ตัดสินให้ประหารชีวิตนักโทษชาย 9 ราย ฐานก่ออาชญากรรมระหว่างเกิดเหตุจลาจลในเมืองอูหลู่มู่ฉี เมืองเอกของเขตปกครองตนเองซินเจียง จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 200 ราย และถือเป็นนักโทษกลุ่มแรกที่ถูกตัดสินประหารชีวิตจากเหตุจลาจลครั้งรุนแรงที่สุดของจีน
แม้ในรายงานข่าวดังกล่าวไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ แต่แถลงการณ์ของรัฐบาลท้องถิ่นมณฑลซินเจียง ที่ออกมาก่อนหน้านี้ ระบุว่า นักโทษที่ถูกตัดสินประหารชีวิตครั้งนี้ เป็นชายชาวอุยกูร์ 8 ราย มีเพียงรายเดียวที่เป็นชาวฮั่น
จีนเป็นประเทศที่ถูกวิจารณ์ว่ามีการตัดสินคดีอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะคดีที่อ่อนไหวทางการเมือง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสงบสุขและความมั่นคงของชาติ จะใช้เวลาพิจารณาคดีเพียง 2 สัปดาห์ แม้กระทั่งการตัดสินประหารชีวิต ก็มีการพิจารณาคดีรวดเร็วกว่าประเทศอื่นๆ
มีประมาณการณ์ว่า ในปี 2550 มีชาวจีนถูกตัดสินประหารชีวิตถึง 6,000 ราย และการลงโทษประหารชีวิตของจีนนั้น หลายๆ มณฑลยังคงใช้วิธียิงนักโทษ มีเพียงไม่กี่มณฑลเท่านั้นที่เริ่มหันมาใช้วิธีฉีดยา
สำนักข่าวไชน่า นิวส์ รายงานด้วยว่า ยังมีนักโทษอีก 20 รายที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ฐานมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของประชาชน 18 ราย และก่ออาชญากรรมอื่นระหว่างเหตุจลาจล จากรายชื่อของนักโทษกลุ่มนี้ มี 2 รายที่ชื่อแซ่คล้ายชาวอุยกูร์ นอกนั้นมีชื่อแซ่คล้ายชาวฮั่น
แม้เหตุการณ์จลาจลได้ล่วงเลยมาถึง 4 เดือนแล้ว แต่การรักษาความปลอดภัยในเขตปกครองตนเองซินเจียงยังมีอย่างแน่นหนา รวมทั้งการตัดสัญญาณอินเทอร์เนต และการบล็อคโทรศัพระหว่างประเทศ ก็ยังมีให้เห็นอยู่ทั่วไป
สำหรับปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้ นายเอียน เคลลี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้ออกมากระตุ้นจีนให้พิจารณาคดีกับผู้ที่ถูกจับกุมอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส
“เราออกมากระตุ้นจีนเพื่อจะได้แน่ใจว่า ชาวจีนทุกคนมีสิทธิทางกฎหมายเท่าเทียมกัน และกระบวนการพิจารณาคดีจะเป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล โดยเจ้าหน้าที่ทูตสหรัฐฯ ในกรุงปักกิ่ง ได้แจ้งเรื่องนี้ต่อรัฐบาลจีนแล้ว” นายเคลลี ระบุ
การตัดสินประหารชีวิตนักโทษ 9 รายนี้ มีขึ้นเพียงไม่กี่วันก่อนที่ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ จะเดินทางมาเยือนจีน ทำให้ นางเรบียะห์ กอดีร์ ผู้นำชาวอุยกูร์ที่ลี้ภัยอยู่ในสหรัฐฯ ใช้โอกาสนี้ออกแถลงการณ์ประณามจีน โดยระบุว่า การกระทำดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นว่า จีนไม่ใส่ใจกับเรื่องสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล และว่า ทางการจีนจะต้องอธิบายต่อการกระทำที่เกิดขึ้น
ขณะที่ นาย Dilxat Raxit โฆษกสภาอุยกูร์โลก ได้ออกมาประณามคำตัดสินประหารชีวิตครั้งนี้ ว่ามีเรื่องทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง
“เราไม่เชื่อว่าพวกเขาได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม เราเชื่อว่าคำพิพากษาครั้งนี้มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง”
โฆษกสภาอุยกูร์โลก กล่าวด้วยว่า “สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ไม่ได้เข้าไปกดดันจีน หรือหาทางแทรกแซงในเรื่องนี้เลย และเราก็รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง”
ด้าน นายสตีฟ ซาง ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า ทางการจีนประสบความล้มเหลว ที่ไม่อาจทำให้คนเชื่อมั่นว่าการพิจารณาคดีมีความเป็นธรรม แม้ว่าอาชญากรรมจำเป็นต้องได้รับการลงโทษ แต่ความจริงและการสร้างความไว้วางใจในหมู่ชนกลุ่มน้อย ก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนให้ความสนใจต่อเรื่องนี้น้อยเกินไป
“พรรคฯอาจประสบความสำเร็จในการสร้างเสถียรภาพในระยะสั้นๆ แต่พวกเขาไม่อาจแก้ปัญหาพื้นฐานได้ และพรรคก็ไม่อาจซุกความขัดแย้งนี้ไว้ในลิ้นชักได้เช่นกัน” นายซาง กล่าวทิ้งท้าย