รอยเตอร์ – ทางการจีนเลือกวิธีอพยพชาวบ้าน หนีมหันตภัยสารตะกั่ว หลังจากพบเด็กนับพันคนมีปริมาณสารพิษปนเปื้อนในเลือดสูงเกินระดับปกติ โดยยังคงปล่อยให้โรงงานทำการต่อไป ด้านชาวบ้านโต้ รัฐบาลเห็นแก่เงินภาษีก้อนโตจากโรงงานมากกว่าชีวิตประชาชนตาดำ ๆ
นาย เจ้า ซู่ผิง นายกเทศมนตรีเมืองจี่หยวน มณฑลเหอหนัน ระบุว่า จะมีการอพยพประชาชน 15,000 คน ออกจาก 10 หมู่บ้าน ใกล้กับที่ตั้งโรงถลุงตะกั่ว ซึ่งเป็นแหล่งถลุงตะกั่วใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น ราว 1,000 ล้านหยวน (150 ล้านดอลลาร์) ในการนี้ เพื่อให้โรงถลุงตะกั่วหลายราย รวมทั้งโรงถลุงใหญ่ที่สุดในจีนของบริษัท อี้ว์กวง โกลด์ แอนด์ ลีด สามารถดำเนินงานต่อไปได้
โรงถลุงตะกั่ว และโรงงานอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวข้องจำนวนหนึ่งในเมืองนี้ต้องปิดมานานเกือบ 2 เดือนแล้ว หลังจากมีการตรวจเลือดของเด็กในเมือง พบว่ามีสารตะกั่วปนเปื้อนในปริมาณสูง ซึ่งเป็นกรณีเดียวกับ ที่เกิดอีกมากมายกับเด็กๆ แดนมังกร ซึ่งออกจากบ้าน ไปเรียนหนังสือในท่ามกลางเงื้อมเงาอันตรายของโรงถลุงตะกั่ว ที่มีอยู่ทั่วประเทศ
“ทางการพยายามจะไม่ให้เราตรวจเลือด และเป็นข่าวให้คนรู้ เพราะต้องการปกป้องโรงงาน ที่จ่ายภาษีจำนวนมหาศาลให้ทุกปีเท่านั้นเอง ” ชายผู้หนึ่งกล่าว
ผลการตรวจเลือดหลานชายวัย 5 ขวบของเขา พบสารตะกั่วเกือบ 500 ไมโครกรัมต่อเลือด 1 ลิตร ซึ่งสูงกว่าระดับที่มีการรับรองกันในสหรัฐฯ ถึง 50 เท่า
“ชีวิตและการตายของชาวบ้านธรรมดาอย่างเรา ทางการไม่สน หมู่บ้านทั้งหมู่บ้านถึงต้องย้ายออกไป เพื่อเปิดทางให้โรงงาน การปล่อยมลพิษก็ยังมีต่อไป” เขาระบุ
ที่ผ่านมา โรงถลุงตะกั่วหลายแห่งทั่วโลกต้องปิดลง เนื่องจากความหวาดวิตกเรื่องมลพิษ จึงทำให้อุตสาหกรรมถลุงตะกั่วเติบโตบนแดนมังกร เมื่อมีการประกาศปิดโรงถลุงในจี่หนัน ครั้งแรกนั้น ส่งผลให้ราคาตะกั่วพุ่งแตะสถิติสูงสุดเมื่อต้นเดือนกันยายน ที่ผ่านมา
ภายหลังจากชาวบ้านย้ายออกไปแล้ว โรงถลุงจะเช่าพื้นที่สำหรับปลูกต้นไม้เป็นปราการป้องกันสำหรับหมู่บ้าน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้ ๆ โดยชาวบ้านจำนวนหนึ่งจะย้ายไปอาศัยห่างจากที่อยู่เดิมราว 4 กิโลเมตร
นายหลิน เจียงเซี่ยน แห่งสถาบันธรณีวิทยาของจีน ซึ่งวิจัยเกี่ยวกับหมู่บ้านมะเร็งชี้ว่า ปัญหาอยู่ที่ว่า มีประชาชนอยู่ภายในรัศมีของมลพิษหรือไม่? จึงต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดเกี่ยวกับสภาพดิน, น้ำ และการเคลื่อนที่ของลม เพื่อทราบว่า ควรอพยพไปไกลเท่าใด
นอกจากนั้น การอพยพผู้คนเป็นการแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากสามารถหาที่ตั้ง ที่ปลอดจากมลพิษได้ ขณะที่การลดการปล่อยมลพิษนั้น ใช้เงินสูงมาก
กรณีสารตะกั่วที่จี่หยวน กลายเป็นข่าวครึกโครมเมื่อปลายฤดูร้อน ช่วงเดียวกับที่มีการประท้วงโรงถลุงโลหะในมณฑลส่านซี โดยพ่อแม่ของเด็ก ที่มีสารตะกั่วและแคดเมียมสูงในเลือด
ทั้งนี้ เด็กที่ได้รับสารตะกั่วสูงอาจเป็นโรคโลหิตจาง กล้ามเนื้ออ่อนแรง และสมองถูกทำลาย ขณะที่ผู้ใหญ่ โดยเฉพาะคนงานในโรงงานผลิตตะกั่ว จะมีอาการอ่อนเปลี้ย , เบื่ออาหาร และปวดร่างกาย โดยยังมีชาวจีนอีกจำนวนมาก ที่อาศัยใกล้โรงถลุงตะกั่ว และยังไม่ได้รับการตรวจเลือด