xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ห่วงพิษ ศก.ส่งโปลิโอระบาดข้ามแดน เตือนเด็กไทย-เทศรับวัคซีนครบ 2 ครั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.ห่วงเศรษฐกิจตกต่ำแรงงานต่างชาติทะลัก โปลิโอข้ามแดนระบาดได้ รณรงค์หยอดวัคซีนโปลิโอเด็กพื้นที่เสี่ยงไทย-ต่างชาติ 4 ล้านคน ป้องกันเชื้อโรคโปลิโอฟรี 17 ธ.ค.51 และ 14 ม.ค. 52 เผยล่าสุดปี 51 พบโปลิโอใน 15 ประเทศ รวมเกือบ 1,500 ราย ร้อยละ 6 เกิดโรคในประเทศที่เคยปลอดโรคแล้วเป็น 10 ปี

วันที่ 8 ธันวาคม ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิ์วัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกวาดล้างโรคโปลิโอ ดร.มอรีน เบอร์มิงแฮม (Dr.Maureen Birmingham) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และนายนรเศรษฐ ปัทมนันท์ ประธานกรรมการโปลิโอพลัสแห่งชาติของโรตารีสากล ร่วมกันแถลงข่าว “การรณรงค์ให้วัคซีนโปลิโอทั่วประเทศ ประจำปี 2551”

นพ.ม.ล.สมชาย กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้กำหนดการรณรงค์หยอดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอแก่เด็กไทยไทยและต่างชาติพร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 17 ธันวาคม 2551 และ 14 มกราคม 2552 ตามนโยบายกวาดล้างที่ประเทศไทยใช้มา ตั้งแต่ พ.ศ. 2533 เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กไทยป่วยเป็นโรคโปลิโอ โดยขณะนี้ไทยไม่พบเด็กป่วยเป็นโรคนี้มากว่า 11 ปี แล้ว อย่างไรก็ตาม การที่ไทยยังเผชิญปัญหาอพยพของแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองทั้งถูกและผิดกฎหมาย โดยเฉพาะในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกถดถอยนี้ อาจทำให้มีแรงานต่างด้าวอพยพเข้าไทยมากขึ้น และอาจนำเชื้อมาแพร่ทำให้เด็กไทยมีความเสี่ยงติดโรคโปลิโอที่มาจากนอกประเทศได้

“ในภูมิภาคอเมริกา สามารถประกาศเป็นเขตปลอดโปลิโอได้ตั้งแต่ปี 2537 ภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก ปี 2543 และภูมิภาคยุโรป ปี2545 แต่ยังมี 3 ภูมิภาคที่ยังไม่สามารถประกาศเป็นเขตปลอดโรคโปลิโอได้ ได้แก่ อัฟริกา เมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น สธ.จึงต้องดำเนินการกวาดล้างโรคนี้ต่อไป จนกว่าทั่วโลกจะกวาดล้างได้สำเร็จ เพราะหากมีเด็กที่ป่วยด้วยโรคโปลิโอหลุดมาเพียงคนเดียวก็ทำให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้างได้นพ.ม.ล.สมชาย กล่าว

ด้านนพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิ์วัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกวาดล้างโรคโปลิโอ กล่าวว่า สถานการณ์โรคโปลิโอตั้งแต่ 1 มกราคม 2551 - 4 พฤศจิกายน 2551 ทั่วโลกมีรายงานผู้ป่วยโรคโปลิโอ 1,449 ราย ใน 15 ประเทศ ในจำนวนนี้ร้อยละ 94 หรือ 1,357ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ในประเทศที่ยังคงมีโรคโปลิโอเป็นโรคประจำถิ่น คือ ไนจีเรีย 744 ราย อินเดีย 499 ราย ปากีสถาน 91 ราย และอัฟกานิสถาน 23 ราย ที่เหลืออีก 92 ราย เกิดใน 11 ประเทศ ที่เคยปลอดโรคนี้มาแล้ว คือ แองโกลา ชาด ไนเจอร์ ซูดาน เนปาล คองโก แอฟริกากลาง เอทิโอเปีย เบนิน กาน่า และบูร์กิน่าฟาโซ ส่วนในประเทศใกล้เคียงกับไทยที่ปลอดโรคนี้ แต่กลับมาพบใหม่ ได้แก่ พม่าพบ 11 ราย ในปี 2550 อินโดนีเซีย พบ 300 ราย ในปี 2548 และ 2 ราย ในปี 2549 ทั้งนี้ อินโดนีเซียไม่มีรายงานผู้ป่วยมาเกือบ 10 ปี

นพ.ศุภมิตร กล่าวต่อว่า โรคโปลิโอเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสโปลิโอ มีชีวิตอยู่ได้เฉพาะในร่างกายคนเท่านั้น เชื้อจะผ่านออกมากับอุจจาระของผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ เข้าสู่ร่างกายโดยการกินเชื้อที่ติดไปกับมือหรืออาหาร ไปเจริญเติบโตในลำไส้ อาการสำคัญคือ มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บคอ คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ตึงหรือปวดกล้ามเนื้อบริเวณคอ ลำตัวและขา หากเชื้อเข้าสู่ระบบประสาท จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นอัมพาตของแขนหรือขา รายที่รุนแรงมาก อาจเสียชีวิตจากอัมพาตของกล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจ มักพบโรคนี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เพราะภูมิต้านทานยังไม่ดีพอและยังดูแลสุขภาพตนเองไม่ได้

“โรคนี้ไม่มียารักษาหายขาด แต่สามารถป้องกันได้โดยหยอดวัคซีนโปลิโอแก่เด็กตามกำหนด คืออายุ 2,4,6 เดือน และกระตุ้นเมื่ออายุ 1 ปีครึ่ง และ 4 ปี ผู้ปกครองจึงควรพาบุตรหลานไปรับวัคซีนให้ครบตามกำหนด รวมทั้งนำเด็กไปรับวัคซีนโปลิโอเสริมทุกครั้งที่มีการรณรงค์ แม้จะได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์แล้วก็ตาม การได้รับวัคซีนหลายครั้งไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด แต่ยิ่งช่วยกระตุ้นให้ระดับภูมิคุ้มกันโรคสูงขึ้นและเพียงพอที่จะป้องกันโรคได้ และหากพบเห็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีอาการแขนขาอ่อนแรง ควรพาไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อตรวจหาเชื้อโปลิโอหรือสาเหตุอื่นๆ เพราะอาการแขนขาอ่อนแรงมีหลายสาเหตุ เช่น เนื้องอกในไขสันหลัง แพ้ยา การผิดปกติที่ระบบประสาท” นพ.ศุภมิตร กล่าว

ด้าน นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การรณรงค์ให้วัคซีนโปลิโอครั้งที่ 1 กำหนดในวันพุธที่ 17 ธันวาคม 2551 และครั้งที่ 2 ในวันพุธที่ 14 มกราคม 2552 ได้เตรียมวัคซีนทั้งหมด 6 ล้านโดส ขณะนี้ได้จัดส่งให้ทุกจังหวัดแล้ว โดยจะหยอดให้เด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงได้รับเชื้อซึ่งมีประมาณ 4 ล้านคน และเด็กต่างชาติอายุต่ำกว่า 15 ปีที่อยู่ในประเทศไทย เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้ไม่มีโอกาสได้รับวัคซีนเหมือนเด็กไทย โดยเน้นเด็กที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง 7 ประเภท ได้แก่ พื้นที่ทุรกันดาร ชุมชนแออัด หรือเด็กที่มีการเคลื่อนย้ายตามผู้ปกครองที่เป็นผู้ใช้แรงงาน ลูกหลานแรงงานต่างชาติ เด็กในพื้นที่ชายแดนติดประเทศพม่า หรือพื้นที่ที่มีรายงานเกิดโรคคอตีบ หรือโรคหัด เด็กในกทม. รวมทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่รณรงค์ พาบุตรหลานไปรับการหยอดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอทั้ง 2 ครั้ง ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น