xs
xsm
sm
md
lg

กท.เกษตรแฉเกษตรกรจีนเติมสารเคมีลงเนื้อหมู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพการ์ตูนล้อเลียน
ไชน่าเดลี่ - เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรชาวจีนยังแหกกฎ เติมสารต้องห้ามลงในอาหารที่ใช้เลี้ยงหมู เพื่อให้จำนวนมันติดเนื้อลดน้อยลง เพิ่มความเสี่ยงเรื่องโรคภัยแก่ผู้บริโภคครั้งใหม่

รายงานจากคณะกรรมการการเกษตรและชนบทสังกัดที่ประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ (NPC) ระบุว่า ทางการด้อยประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและรักษามาตรฐานความปลอดภัย ส่งผลให้มีผู้บริโภคจำนวนมากป่วยจากการบริโภคเนื้อหมูปนเปื้อน

ในเดือนกุมภาพันธ์ ประชาชนมากกว่า 80 คนในมณฑลกว่างตงเกิดอาการปวดท้องและท้องเสีย หลังจากบริโภคเครื่องในหมูที่ปนเปื้อนสาร “เคลนบิวเทอรอล” (Clenbuterol) ซึ่งเป็นสารที่ไม่ได้รับอนุญาตให้นำมาใช้เลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภค
แผงหมูที่ประเทศจีน
กรณีอาหารเจือปนสารพิษที่รุนแรงที่สุดเคสหนึ่งเกิดขึ้นที่เมืองเซี่ยงไฮ้เมื่อปี 2549 โดยขณะนั้นมีผู้ป่วยถึง 336 รายถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาล หลังจากทานเนื้อและเครื่องในหมูที่ปนเปื้อนสารเคลนบิวเทอรอล

“ยังมีการใช้สารเคลนบิวเทอรอล และสารเคมีต้องห้ามอย่างอื่นอีก” หวัง หยุนหลง ประธานคณะกรรมการการเกษตรและชนบทแห่ง NPC เปิดเผย

ทั้งนี้ ทางกระทรวงเกษตรได้เริ่มต้นการรณรงค์กวาดล้างมากว่า 1 ปี ทั้งดูแลควบคุมการผลิต การตลาด และสารเติมแต่ง แต่รายงานของ NPC ได้กระตุ้นให้ทางการดำเนินมาตรการปราบปรามหนักหน่วงขึ้นกว่านี้

โดยปีนี้ทางกระทรวงเกษตรตรวจพบอาหารปนเปื้อนสารต้องห้ามจำนวน 8,677 กรณี สั่งปิดบริษัท 124 รายที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบการ พร้อมทั้งยกเลิกใบอนุญาตสำหรับบริษัท 87 แห่งในจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้บริโภคหมูมากที่สุดในโลก

จากข้อมูลสถิติของสมาคมผู้ค้าเนื้อแห่งประเทศจีนเมื่อปี 2552 ระบุว่า เนื้อหมูคิดสัดส่วนเป็น 65% ของเนื้อที่บริโภคในประเทศจีน โดยตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมายอดการบริโภคต่อหัวเพิ่มขึ้นเท่าตัว

อนึ่ง สารเคลนบิวเทอรอลนั้น เป็นสารที่ผู้เลี้ยงสุกรในจีนมักลักลอบเติมลงไปในอาหารเลี้ยงสัตว์ เพื่อเพิ่มเนื้อแดงและลดไขมัน เนื่องจากเนื้อที่มีปริมาณไขมันน้อยจะขายได้ราคาดีกว่า โดยเฉพาะในช่วงนี้ตลาดจีนกำลังเผชิญกับปัญหาเนื้อหมูราคาตกด้วย

โดยกระทรวงเกษตรจีนรายงานว่า ราคาเนื้อหมูเมื่อเดือนกรกฎาคมลดลงจากช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้วร้อยละ 28.3 มาอยู่ที่ 14.8 หยวน (ราว 75 บาท) ต่อกิโลกรัมเท่านั้น

ถึงแม้ว่าสารเติมแต่งดังกล่าวจะสร้างผลกำไรให้กับผู้ค้ามากขึ้น แต่ก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต เพราะสารดังกล่าวมักเข้าไปสะสมในร่างกายของผู้บริโภคเช่น ในตับและปอด

ด้านหลี่ ลี่เต๋อ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรจีนให้สัมภาษณ์ว่า เงินคือรากของปัญหา

“ในบางพื้นที่ ราคาเนื้อหมูถูกกว่าผักเสียอีก เพื่อรักษาราคาเอาไว้ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์บางรายจึงหันพึ่งพาวิธีผิดกฎหมาย” แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเหตุผลส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากทางการจีนไม่มีมาตรการปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกรนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น