เอเอฟพี – นักประวัติศาสตร์จีนฉีกตำราเก่า ประกาศหุ่นทหารจิ๋นซีที่เลื่องชื่อของจีนไม่ใช่ของจิ๋นซีฮ่องเต้ จักรพรรดิองค์แรกของประเทศ แต่เป็นของเซวียนไทเฮา บรรพบุรุษหญิงของจิ๋นซี
สร้างความฮือฮา เมื่อเฉิน จิ่งหยวน นักประวัติศาสตร์จีนให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวโกลบอลไทม์ถึงข้อสันนิษฐานของเขาว่า จักรพรรดินีเซวียน ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของจิ๋นซีฮ่องเต้ และสิ้นพระชนม์ก่อนจิ๋นซีฮ่องเต้จะลืมตาดูโลกถึง 55 ปี เป็นเจ้าของสุสานและผู้สั่งสร้างหุ่นทหารที่แท้จริง
โดยที่ผ่านมาเชื่อกันว่า กองทัพหุ่นทหารซึ่งขุดพบใกล้กับเมืองซีอัน มณฑลส่านซีเหล่านี้ ถูกสร้างขึ้นเพื่อเฝ้าสุสานของจิ๋นซีฮ่องเต้ ผู้รวม 6 รัฐให้เป็น 1 เมื่อช่วง 221 ปีก่อนคริสตศักราช และประกาศตัวเป็นจักรพรรดิองค์แรกของประเทศจีน
เฉินนำเสนอหลักฐานที่ยืนยันความเชื่อดังกล่าวในหนังสือเล่มใหม่ของเขา “ความจริงของหุ่นทหาร” (The Truth of Terracotta Warriors) ซึ่งบอกรายละเอียดที่ขัดแย้งกับข้อสันนิษฐานก่อนหน้านี้ อาทิ ระยะห่างของหุ่นทหารกับสุสานจิ๋นซี รูปแบบผมและเสื้อผ้าของนักรบ ซึ่งเขาระบุว่า หลักฐานทั้งหมดชี้ว่าหุ่นเหล่านี้เป็นของจักรพรรดินี
“สไตล์การทำผมตามลักษณะจีนโบราณของหุ่นทหารที่ขุดพบ รวมทั้งหลักฐานอื่นๆ บ่งชัดว่าเจ้าของหุ่นทหารเหล่านี้คือจักรพรรดินีเสวียน หนึ่งในผู้หญิงที่ทรงอำนาจที่สุดในประวัติศาสตร์จีน” เฉินกล่าว
นอกจากนี้ เสื้อผ้าของหุ่นทหารยังมีสีสันหลากหลาย ซึ่งขัดแย้งกับชุดเกราะทหารสีดำของจิ๋นซีฮ่องเต้
“ในช่วงที่จักรพรรดินีเสวียนอยู่ในอำนาจ รัฐฉินเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก ความมั่งคั่งร่ำรวยนี้หมายความว่า หญิงผู้ทรงอำนาจคนนี้มีเงินมากพอที่จะสร้างโครงการใหญ่ยักษ์เช่นนี้” เฉินกล่าว
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อของเฉินก็ถูกคัดค้านโดยนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีท่านอื่นๆ
หลิว จั้นเฉิง ผู้อำนวยการทีมนักประวัติศาสตร์ศึกษาหุ่นทหารจิ๋นซีให้สัมภาษณ์ว่า มีหลักฐานแน่หนาว่า จักรพรรดิองค์แรกคือเจ้าของหุ่นที่แท้จริง
“อย่างแรกคือ หุ่นเหล่านี้อยู่ภายในอาณาเขตสุสานของจิ๋นซีฮ่องเต้ นอกจากนี้อาวุธของพวกเขาล้วนมีชื่อของอัครเสนาบดีสลักไว้ด้วย”
ทั้งนี้ หุ่นทหารจิ๋นซีถูกขุดพบครั้งแรกเมื่อปีค.ศ.1974 หรือ 2517 โดยเกษตรกรคนหนึ่งที่เดิมทีต้องการไปขุดบ่อน้ำ ปัจจุบันเชื่อว่ายังมีหุ่นลักษณะคล้ายมีชีวิตอีก 5,000 กว่าตัวยังถูกฝังอยู่ใต้ดินและรอการขุดพบ
กองทัพหุ่นทหารจิ๋นซีกลายเป็นสุดยอดสถาปัตยกรรมของมนุษยชาติ และได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2530