xs
xsm
sm
md
lg

กูรูชี้ระบบจ่ายไฟล้าหลัง-ทุจริตโครงการ อุปสรรคใหญ่ขวางจีนเป็นเจ้าพลังงานลม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เติ้ง ฮุย ผู้จัดการทั่วไปของฟาร์มกังหันลมที่พัฒนาโดยบริษัทไชน่า เอ็นเนอร์จี คอนเซอร์เวชัน อินเวสต์เมนท์ คอร์ป กำลังชี้ไปยังหน้าจอถึงตำแหน่งพื้นที่โดยรอบในเมืองจางเป่ย ทางตอนเหนือของกรุงปักกิ่งในมณฑลเหอเป่ยที่กำลังเฝ้าสังเกตการณ์ธรรมชาติ - ภาพเอเอฟพี
เอเอฟพี – จีนเดินหน้าผลักดันการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมเป็นพลังงานทางเลือกทดแทนพลังงานถ่านหินที่สร้างมลพิษ อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าววงในชี้ อุตสาหกรรมฯ ยังเผชิญอุปสรรค อาทิ ความไม่โปร่งใสในการประมูลโครงการ และระบบการจ่ายไฟที่ล้าหลัง

เติ้ง ฮุย ผู้จัดการทั่วไปของฟาร์มกังหันลมที่พัฒนาโดยบริษัทไชน่า เอ็นเนอร์จี้ คอนเซอร์เวชั่น อินเวสต์เม้นท์ คอร์ป มองออกไปที่ฟาร์มกังหันลมของบริษัทเขา ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของปักกิ่ง สองปีที่ผ่านมา มีกังหันลมสูง 80 เมตรเพียงไม่กี่สิบตัวตั้งอยู่บนทุ่งหญ้าแห่งนี้ แต่วันนี้มันมีมากถึง 200 ตัว

การเติบโตของธุรกิจพลังงานลมของเติ้งนั้น เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นในการสร้างจีนให้กลายเป็นเจ้าพลังงานลม

เนื่องจากเกือบ 80% ของพลังงานทึ่ซับพลายในประเทศจีนนั้นมาจากพลังงานถ่านหินที่ราคาถูกแต่สร้างมลพิษมหาศาล ทำให้รัฐบาลตั้งเป้าไปสู่พลังงานทางเลือก อย่าง พลังงานลม ซึ่งมีมากทางตอนเหนือและตะวันตกของประเทศ

ก่อนหน้านี้จีนตั้งเป้าผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานลมไว้ที่ 30 กิกะวัตต์ภายในปี 2563 แต่เมื่อเร็วๆ นี้ทางรัฐบาลประกาศว่า จะผลักดันความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 100 กิกะวัตต์ในช่วง 4 ปีสุดท้าย เพิ่มขึ้นจากช่วงปลายปี 2551 ที่ผ่านมา ที่จีนมีความสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานลมราว 12.2 กิกะวัตต์ แต่เนื่องจากบริษัทพลังงานผลักดันโครงการให้สอดคล้องกับความต้องการของรัฐบาล จึงได้เพิ่มสัดส่วนกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานทางเลือกให้มากขึ้น

จากข้อมูลของสภาพลังงานลมโลกระบุว่า ปัจจุบันมีการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมราว 121 กิกะวัตต์ทั่วโลก โดยมีสหรัฐฯ เยอรมนี และสเปน เป็นเจ้าแห่งพลังงานลมอันดับต้นของโลก และจีนเป็นอันดับที่ 4

ในเดือนมิถุนายน รัฐบาลท้องถิ่นมณฑลกันซู่แห่งภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ วางแผนขยายโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานลมซึ่งจะมีความสามารถผลิตพลังงานสูสีกับเขื่อนซันเสีย (Three Gorges) แห่งลุ่มน้ำแยงซีเกียง ซึ่งเป็นเขื่อนใหญ่ที่สุดในโลก จึงขนานนามโครงการนี้ว่า  "ซันเสียแห่งพลังงานลม"  ขณะที่มณฑลอื่นก็กำลังวางแผนเดินรอยตาม

"ซันเสียแห่งพลังงานลม" ของกันซู่ จะสามารถผลิตพลังงานได้ถึงกว่า 20 กิกะวัตต์ใน 11 ปี เพิ่มขึ้น 10 เท่าจากระดับปัจจุบัน ส่วนเขื่อนซันเสียนั้น ปัจจุบันมีความสามารถผลิตพลังงาน 18.2 กิกะวัตต์ และจะค่อยเพิ่มเป็น 22.4 กิกะวัตต์

“การผลิตไฟฟ้าพลังงานลมของประเทศเราพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว แต่การพัฒนาระบบการจ่ายไฟยังล้าหลัง ซึ่งนี่เป็นอุปสรรคที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับพลังงานลม”
เติ้งกล่าว

โดยพลังงานไฟฟ้าที่จีนผลิตได้ 12.2 กิกะวัตต์เมื่อปี 2551 มีเพียง 8.9 กิกะวัตต์เท่านั้นที่เข้าสู่ระบบการจ่ายไฟ ตามที่เฉียว ลี่หมิง ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายจาก GWEC กล่าว

นอกจากนี้อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นอุปสรรคก็คือ การประมูลโครงการที่ไม่โปร่งใส และการตั้งค่าธรรมเนียมกระแสไฟฟ้าสำหรับฟาร์มกังหันลมต่ำเกินไปเพื่อสร้างผลกำไรอย่างไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ตามเฉียวเสริมว่า ขณะนี้รัฐบาลได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้และพยายามแก้ไขปัญหา
ไฟล์ภาพเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2552 สายรุ้งที่ปรากฏบนท้องฟ้าเหนือฟาร์มกังหันลมที่พัฒนาโดยบริษัทไชน่า เอ็นเนอร์จี คอนเซอร์เวชัน อินเวสต์เมนท์ คอร์ป-ภาพเอเอฟพี
ไฟล์ภาพเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2552 ฝูงวัวของชาวนาที่นอนบนทุ่งหญ้าด้านหลังเขาของฟาร์มกังหันลมในเมืองจางเป่ย มณฑลเหอเป่ย ทางภาคเหนือของจีน – ภาพเอเอฟพี
กำลังโหลดความคิดเห็น