xs
xsm
sm
md
lg

ไต้หวันกัดนักศศ.เวิลด์แบงก์ไม่ปล่อย สั่งรื้อคดีว่ายน้ำข้ามช่องแคบซบอกจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลิน อี้ฝู นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของเวิลด์แบงก์ - เอเอฟพี
เอเอฟพี – หน่วยงานเฝ้าระวังของรัฐบาลไต้หวันจี้ก้นกระทรวงกลาโหมรื้อคดีหลิน อี้ฝู นักเศรษฐศาสตร์ระดับอาวุโสของธนาคารโลก ซึ่งเป็นอดีตนายทหารสังกัดกองทัพบกของไต้หวันที่หนีทหารว่ายน้ำข้ามฝั่งไปสวามิภักดิ์แผ่นดินใหญ่

กระทรวงกลาโหมไต้หวันเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ (24 ก.ค.) ว่า ทางกระทรวงฯ จะทบทวนข้อกล่าวหาหลบหนีออกนอกประเทศของหลิน อี้ฝู รองประธานสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ซึ่งหนีไปอยู่จีนแผ่นดินใหญ่กว่า 30 ปี หลังจากถูกหน่วยงานเฝ้าระวังของรัฐเร่งให้จัดการกับกรณีนี้

ทั้งนี้ หลิน อี้ฝู หรือชื่อเดิมว่า หลิน เจิ้งอี้ หลบหนีออกจากไต้หวันด้วยการว่ายน้ำกินระยะทาง 2 กิโลเมตรจากเกาะจินเหมินไปขึ้นฝั่งที่เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยนเมื่อปี 2522 โดยขณะนั้นเขาในวัย 26 ปีดำรงตำแหน่งเป็นนายทหารสังกัดกองทัพบกประจำการอยู่บนเกาะจินเหมิน ซึ่งเป็นจุดที่อยู่ใกล้แผ่นดินใหญ่มากที่สุดของไต้หวัน

เขาเดินทางมาถึงประเทศจีนในช่วงที่เติ้ง เสี่ยวผิงกำลังเริ่มเปิดประเทศ และภายหลังหลิน อี้ฝูก็กลายเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงเศรษฐกิจจีนให้ก้าวสู่ความทันสมัย ก่อนที่จะหักเหเข้าสู่หน้าที่การงานระดับโลกด้วยการดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจของธนาคารโลกในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2551

เฉิน หยุนอิง ภรรยาของหลิน อี้ฝูเคยให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุที่สามีเธอต้องยอมเสี่ยงอันตรายว่ายน้ำไปยังประเทศจีนว่า “หลังจากแยกตัวจากแผ่นดินใหญ่แล้ว อนาคตของไต้หวันยังลุ่มๆ ดอนๆ การเลือกกลับมาสู่อ้อมอกของจีนเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ในตอนนั้นมีหลายคนที่คิดแบบนี้ แต่สามีฉันเขาค่อนข้างหัวดื้อ ดันทุรังว่ายน้ำข้ามช่องแคบไต้หวันมาขึ้นฝั่งจีนจนได้”

เป็นเวลาหลายปีที่หลิน อี้ฝู ไม่ได้มีชื่ออยู่ในบัญชีผู้หลบหนีออกนอกประเทศ แต่อยู่ในบัญชี “ผู้สูญหาย” เนื่องจากการหลบหนีในขณะที่เป็นทหารของเขาเป็นเรื่องน่าอับอาย

อย่างไรก็ตาม ในปี 2545 ชื่อของเขาก็ถูกขึ้นบัญชีผู้ที่ทางการต้องการตัวในฐานะ “ผู้หลบหนีออกนอกประเทศ” หลังจากเขายื่นเรื่องขอกลับมาที่ไต้หวันเพื่อร่วมงานศพบิดาของเขา

และเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ปี 2551 ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี ทางการไต้หวันได้เคยออกมาระบุว่า หากหลิน อี้ฟู ซึ่งเป็นอดีตทหารกองทัพบกกลับมายังไต้หวัน ก็มีสิทธิ์ถูกจับดำเนินคดีในศาลทหารข้อหาหลบหนีออกนอกประเทศ และอาจถึงขั้นถูกลงโทษประหารชีวิต

อย่างไรก็ตาม ทางหน่วยงานเฝ้าระวังของไต้หวัน “สภาควบคุม” (the Control Yuan) ได้ให้เวลากระทรวงกลาโหม 2 เดือนเพื่อสะสางปัญหาที่คาราคาซังนี้

“ทางกองทัพเพิกเฉยต่อกรณีของหลินมานานหลายปีแล้ว...ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กร แต่รวมไปถึงสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาด้วย” สภาควบคุมกล่าวในรายงานเมื่อเย็นวันพฤหัสบดี (23 ก.ค.)

มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับคดีการหลบหนีออกนอกประเทศของหลินแตกเป็น 2 กระแส บ้างมองว่า ตามกฎหมายไต้หวันแล้ว คดีของหลินมีอายุความเพียงแค่ 30 ปีเท่านั้น ขณะที่ทางกองทัพไต้หวันออกมายืนยันว่า กองทัพยังสามารถดำเนินคดีกับหลินได้ เนื่องจาก “เป็นการกระทำผิดทางอาญาที่ต่อเนื่อง”

ทั้งนี้ จีนและไต้หวันตัดขาดจากกันหลังสิ้นสุดสงครามกลางเมืองเมื่อปี 2492 (ค.ศ.1949) และพรรคคอมมิวนิสต์นำโดยเหมา เจ๋อตง มีชัยเหนือพรรคก๊กมินตั๋งของเจียง ไคเช็ก จนฝ่ายหลังต้องอพยพไปตั้งรัฐบาลใหม่ที่ไต้หวัน แต่จนถึงทุกวันนี้แผ่นดินใหญ่ก็ยังมองไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ และรอวันรวมชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น