รอยเตอร์ – ทีมนักวิจัยญี่ปุ่นค้นพบ ฝุ่นหมอกอวกาศที่ก่อตัวหลังเกิดพายุฝุ่นในทะเลทรายตากะลิมากัน(Taklimakan) ในมณฑลซินเจียงของจีน ระหว่างวันที่ 8-9 พ.ค. 2550 สามารถเคลื่อนตัวปกคลุมรอบโลกได้ในเวลาเพียง 13 วัน
นอกจากนี้ การศึกษาของทีมนักวิจัยญี่ปุ่นที่ใช้ดาวเทียมของนาซา ติดตามกลุ่มฝุ่นหมอกในอวกาศที่เกิดขึ้นในจีนเมื่อปี 2550 ยังพบว่า กลุ่มฝุ่นหมอกดังกล่าวได้เคลื่อนตัวมาตกและทับถมอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิค ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติสามารถสร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในพื้นที่ห่างไกลออกไปได้
“โดยปกติแล้ว กลุ่มฝุ่นในแถบเอเชียจะตกลงมาทับถมแถบทะเลเหลืองที่อยู่ใกล้ญี่ปุ่น ขณะที่กลุ่มฝุ่นจากทะเลทรายซาฮาราจะไปตกลงในมหาสมุทรแอตแลนติกและชายฝั่งทะเลในอาฟริกา” นายอิตสุชิ อูโนะ นักวิจัยด้านเครื่องกลประยุกต์จากสถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัยคิวชู ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิจัย ระบุ
“การศึกษาในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าฝุ่นจากประเทศจีนสามารถไปทับถมอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิคได้ โดยกลุ่มฝุ่นหมอกนั้นจะมีแร่เหล็กที่ถือเป็นสิ่งที่สำคัญต่อท้องทะเล เป็นส่วนประกอบ 5 เปอร์เซ็นต์” นายอูโนะ ระบุ
นอกจากนี้ กลุ่มนักวิจัยยังพบด้วยว่า กลุ่มฝุ่นหมอกที่ใช้ศึกษาได้ลอยตัวเหนือพื้นผิวโลก 8-10 กม. และสามารถเคลื่อนตัวได้รอบโลกมากกว่ารอบหนึ่ง
“ความสำเร็จที่สำคัญที่สุดจากงานวิจัยนี้ ก็คือเราได้ติดตามกลุ่มฝุ่นหมอกนี้ไปตลอดเส้นทางที่เคลื่อนตัวรอบโลก ซึ่งไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน เพราะโดยปกติแล้ว กลุ่มฝุ่นหมอกจะมีปริมาณน้อยจนไม่สามารถติดตามได้อีกเมื่อเคลื่อนตัวไปได้เพียงครึ่งรอบโลก แต่กลุ่มฝุ่นนี้อยู่ได้นานกว่ากลุ่มฝุ่นอื่นๆ ถึง 2 สัปดาห์” นายอูโนะ เปิดเผยกับรอยเตอร์
โดยกลุ่มฝุ่นหมอกนี้ได้เคลื่อนตัวไปตลอดเส้นทางรอบโลกด้วยระดับ 3 กม.ในแนวตั้งและ 2,000 กม.ในแนวนอน “สาเหตุที่กลุ่มฝุ่นหมอกสามารถรักษาระดับนี้ไว้ได้ เป็นเพราะกลุ่มฝุ่นได้ยกตัวสูงขึ้นในขณะที่ชั้นบรรยากาศโลกมีภาวะเสถียรมาก” นายอูโนะ กล่าว
นักวิจัยกลุ่มนี้ยังเชื่อว่า อนุภาคของฝุ่นเป็นสาเหตุทำให้เกิดกลุ่มเมฆบางๆ ในชั้นบรรยากาศ แต่ไม่มีใครให้ความเห็นว่า กลุ่มเมฆนั้นทำให้โลกร้อนขึ้นหรือเย็นลง