xs
xsm
sm
md
lg

โลกมุสลิมเงียบกรณีจีนปราบจลาจลในซินเจียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มประท้วงตะโกนผนึกกำลังสมานฉันท์ร่วมกับมุสลิมอุยกูร์ในอิสตันบูล ตุรกี เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ตุรกีเป็นชาติที่โต้ตอบการปราบปรามจลาจลเชื้อชาติในอูหลู่มู่ฉีแรงสุด โดยนายกฯตุรกีถึงกับเปรียบสถานการณ์ในซินเจียงเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และเรียกร้องให้จีนหยุดกลืนชาติชนส่วนน้อยอุยกูร์-เอเอฟพี
เอเจนซี-กลุ่มชาติมุสลิมหลายชาติปิดปากเงียบเกี่ยวกับจลาจลระหว่างเชื้อชาติจีนฮั่นและมุสลิมอุยกูร์ในอูหลู่มู่ฉี ชี้เหตุเพราะกลัวสะเทือนผลประโยชน์ทางการค้า

โลกมุสลิมดูมีความกลมเกลียวกันอย่างเหนียวแน่น แต่ในกรณีจลาจลจีนฮั่นและมุสลิมอุยกูร์ในอูหลู่มู่ฉี เมืองเออกของเขตปกครองตัวเองชนชาติอุยกูร์มณฑลซินเจียง หลายชาติทั้งกลุ่มตะวันออกกลางและโลกอาหรับกลับไม่ค่อยแสดงปฏิกิริยาว่าอะไรจีน มีมุสลิมไม่กี่ชาติที่ออกโรงวิพากษ์วิจารณ์ อิหร่านและตุรกี เป็นชาติที่ไม่ใช่อาหรับที่ออกหน้าสะกิดจีน

“กลุ่มชาติอาหรับไม่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์จีนเรื่องโจมตีมุสลิมในซินเจียงเนื่องจากพวกเขาเองก็ไม่มีประชาธิปไตยในระบอบการปกครองของตนนัก ซึ่งต่างมีสภาพไม่ต่างจากจีน” Labib Kamhawi นักวิเคราะห์การเมืองชาวจอร์แดนชี้

ขณะนี้จีนกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของกลุ่มชาติอาหรับหลายชาติรวมทั้งในซูดาน ซาอุดิอาระเบีย และกลุ่มชาติรอบอ่าวที่ร่ำรวยน้ำมัน
กลุ่มเดินขบวนมุสลิมในอินโดนีเซียซึ่งจัดเป็นชาติมุสลิมใหญ่สุดในโลก ประท้วงนอกสถานทูตจีนในกรุงจาการ์ตาเมื่อวันที่ 13 ก.ค. กลุ่มมุสลิมในแดนอิเหนาประณามการปกครองของจีน ที่พวกเขาชี้ว่าเป็นการ “กดขี่” พร้อมเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของชาวมุสลิมอุยกูร์ในจีน-เอเอฟพี
อิหร่านเป็นหนึ่งในไม่กี่ชาติมุสลิมที่พูดถึงการปราบปรามจลาจลในซินเจียง โดยในวันอาทิตย์(12 ก.ค.) สำนักข่าว IRNA รายงานว่ารัฐมนตรีว่าการต่างประเทศแห่งอิหร่าน Manouchehr Mottaki โทรศัพท์ถกเถียงการปะทะทางเชื้อชาติกับรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศจีน และกล่าวถึง “ความวิตกในกลุ่มชาติอิสลาม”

ขณะที่กลุ่มศาสนาประณามการปราบปรามว่าความเงียบและความไม่ใส่ใจการกดขี่ในซินเจียงเป็นเรื่องที่ไม่อาจให้อภัย อย่างไรก็ตาม อิหร่านก็มีชนักติดหลังเช่นกันโดยเหล่าประชาคมโลกทั้งรัฐบาลในชาติตะวันตกและองค์กรสิทธิมนุษย์ชนเพิ่งออกโรงประณามรัฐบาลกรณีปราบปรามกลุ่มประท้วงในศึกพิพาทการเลือกเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.

ตุรกีเป็นชาติที่โต้ตอบการปราบจลาจลในซินเจียงอย่างแข็งขันที่สุด โดยมีกลุ่มประท้วง 5,000 คน เดินขบวนในอิสตันบูล ประณามความรุนแรงเชื้อชาติ และเรียกร้องให้รัฐบาลแทรกแซง

กลุ่มผู้นำตุรกีออกมาโต้ตอบจีนหลังจลาจล ได้แก่ Recep Tayyip Erdogan นายกรัฐมนตรีตุรกีเปรียบสถานการณ์ในซินเจียงถึงระดับฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศส่งสารแสดงความวิตกไปยังจีน และรัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรมก็ออกโรงเรียกร้องชาวตุรกีหยุดซื้อสินค้าจีน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ไม่มีแผนบอยคอตจีนอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้หลังจากเกิดจลาจลในอูหลู่มู่ฉีที่มีผู้เสียชีวิตร่วม 200 คน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน ผู้นำจีนก็ระดมกองกำลังทั้งตำรวจปราบจลาจลและทหารนับหมื่นพร้อมพาหนะติดอาวุธเข้าควบคุมสถานการณ์ในเมือง

ชาวอุยกูร์ซึ่งมีจำนวนราว 9 ล้านคน เกือบครึ่งของประชากรในซินเจียง ไม่พอใจการสนับสนุนชาวจีนฮั่นเข้ามายังดินแดน ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังจำกัดการปฏิบัติทางศาสนา กลืนภาษาและวัฒนธรรมของชาวอุยกูร์ อีกทั้งการเลือกปฏิบัติที่ทำให้ชาวอุยกูร์ดูกลายเป็นพลเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น