เอเอฟพี – ผลสำรวจของรัฐบาลท้องถิ่นจีนระบุชัด สินค้าอุปโภค-บริโภคที่วางขายตามท้องตลาดกว่าครึ่งมีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานและยังเสี่ยงต่อการบริโภค แต่ยังอุบรายชื่อสินค้าที่มีปัญหาไว้
ทั้งนี้หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของรัฐบาลจีน ไชน่า เดลี ได้รายงานโดยอ้างผลสำรวจของรัฐบาลมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ระหว่างเดือนเม.ย.-มิ.ย. ที่ทำการสำรวจคุณภาพสินค้ากว่า 202 รายการ รวมถึงกระดาษทิชชู เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์อนามัยสำหรับผู้หญิง
ผลสำรวจพบว่า ในจำนวนสินค้าทั้งหมดมีเพียง 49 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้มาตรฐานตามที่รัฐบาลตั้งไว้ นอกนั้นเป็นสินค้าที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน และบางตัวอยู่ในระดับ “อันตรายต่อสุขภาพ”
ในส่วนของน้ำดื่มนั้นพบว่า มีเพียง 1 ใน 3 ของน้ำดื่มบรรจุขวดที่วางขายตามท้องตลาดที่ผลิตได้มาตรฐาน ขณะที่ในปีที่แล้วมีน้ำดื่มบรรจุขวดที่ผลิตได้มาตรฐานถึง 90 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานของรัฐในมณฑลกว่างตงได้ตัดสินใจว่า จะยังไม่เปิดเผยรายชื่อผลิตภัณฑ์ที่ผลิตต่ำกว่ามาตรฐานให้สาธารณชนทราบ โดยบอกว่ายังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่จะเปิดเผยรายชื่อสินค้าที่มีปัญหา
รายงานข่าวของไชน่า เดลี ระบุว่า การตัดสินใจดังกล่าวของรัฐบาลท้องถิ่นในมณฑลกว่างตง ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้บริโภคในท้องถิ่นเป็นอย่างมาก เพราะพวกเขาเกรงว่าตนเองจะตกเป็นเหยื่อของสินค้าอันตราย
“มันจะมีประโยชน์อะไร ถ้าจะบอกกับพวกเราเพียงว่าสินค้าที่เราบริโภคเข้าไปเป็นอันตราย แต่ไม่ยอมบอกว่าสินค้าอันตรายเหล่านั้นมีอะไรบ้าง” นั่นคือความเห็นจาก นายหวง ชุนหง นักธุรกิจท้องถิ่น
ความปลอดภัยของสินค้า ถือเป็นเรื่องที่สร้างความกังวลใจให้แก่ผู้บริโภคชาวจีนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกรณีที่ปรากฎเป็นข่าวเมื่อปี 2551 เรื่องการปนเปื้อนของสารเมลามีนในนมผงสำหรับเด็ก จนทำให้มีทารกเสียชีวิต 6 ราย และมีทารกที่ล้มป่วยหลังจากการบริโภคนมผงปนเปื้อนเหล่านี้ถึง 3 แสนราย