xs
xsm
sm
md
lg

จีนส่งไม้ผลัด "อุปรากรจีน" สู่มือคลื่นลูกใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"จี้ โหรว" กำลังนั่งให้ช่างจัดแจงแต่งหน้าให้ด้วยความรู้สึกตื่นเต้น เพราะอีกไม่กี่ชั่วโมงเธอจะต้องขึ้นเวทีแสดงงิ้วปักกิ่งต่อหน้าทุกคนแล้ว

ขณะที่ช่างกำลังแต่งแต้มสีแดงลงไปบนเรียวปาก ปัดแก้มและทาตาสีชมพูอ่อนให้กับเธอ จี้ โหรว ดรุณีวัย 15 ปียอมรับว่า เธอรู้สึกกังวลใจเล็กน้อยเกี่ยวกับการแสดงเป็นนางเอกงิ้วหลังเริ่มเรียนอุปรากรจีนมาเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น

โรงเรียนของเธอคือ “โรงเรียนมัธยมหมายเลข 171” เป็น 1 ใน 22 โรงเรียนของปักกิ่งที่เพิ่มวิชางิ้วปักกิ่งลงในหลักสูตรดนตรี ตามแผนนำร่องของรัฐบาลปักกิ่งที่ต้องการฟื้นฟูศิลปะประจำชาติ ด้วยการกระตุ้นต่อมความสนใจในหมู่เยาวชน

โดยเนื้อหาที่เรียนจะเน้นอธิบายประวัติความเป็นมาของอุปรากรจีนซึ่งมีอายุยาวนานนับร้อยปี และเสน่ห์ของศิลปะแขนงนี้ ให้เด็กรุ่นใหม่ที่พิสมัยดนตรีสมัยใหม่และอึกทึกครึกโครม หันมาเปลี่ยนรสชาติของชีวิตดูบ้าง

“เมื่อก่อนหนูไม่เคยรู้จักงิ้วปักกิ่งอย่างแท้จริง ไม่เคยเข้าใจบทบาทของตัวละครและเนื้อเรื่อง แล้วก็คิดว่ามีแต่คนแก่ที่ชอบ แต่ตอนนี้หนูกลับชอบดูและเรียนรู้เกี่ยวกับศาสตร์ด้านนี้อย่างจริงจัง” จี้กล่าวขณะกำลังสวมชุดสวยสีเขียวและเครื่องประดับบนศีรษะอย่างรีบร้อน

งิ้ว หรือ อุปรากรจีนเป็นศิลปะที่มีความหลากหลายทั้งการร้องเพลง การแสดงลีลาท่าทาง ระบำรำฟ้อน แต่ทั้งหมดก็สามารถผสมผสานกันได้อย่างลงตัว งิ้วเริ่มมีขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (ค.ศ.1179-1276) ในขณะนั้นการแสดงงิ้วมีบทพูดเป็นโคลงกลอนสลับร้อง มีการใช้วงเครื่องดีดสีตีเป่าประกอบการแสดง ประเภทของงิ้วจีนมีกว่า 300 ประเภท โดยมากเป็นงิ้วท้องถิ่น อาทิ งิ้วเหอหนัน งิ้วกวางตุ้ง จนกระทั่งในสมัยราชวงศ์ชิงจึงเกิดเป็น “งิ้วปักกิ่ง” ซึ่งถือว่าเป็นศิลปะที่มีความโดดเด่นและมีชื่อเสียงที่สุด เพราะเป็นการแสดงที่นำเอาลักษณะเด่นของงิ้วทุกชนิดมารวมเข้าด้วยกัน

งิ้วปักกิ่งเป็นสมบัติล้ำค่าของชาติจีน ศิลปะแขนงนี้มีอายุยาวนานมากกว่า 200 ปี ในช่วงยุคราชวงศ์จักรพรรดิงิ้วเป็นการแสดงที่ได้รับความนิยมอย่างมาก จนกระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีชัยชนะเหนือพรรคก๊กมินตั๋งในสงครามกลางเมืองและขึ้นเป็นรัฐบาลปกครองประเทศจีนแทนในปี 1949 งิ้วก็เริ่มเสื่อมความนิยมลงตามลำดับ เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์พยายามทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิม ซึ่งถูกมองว่าเป็นสิ่งไม่ดี เพราะเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นศักดินา

ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมปี 1966-1979 บ้านเมืองระส่ำระส่าย งิ้วจีนกลับกลายเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ รัฐบาลอนุญาตให้แสดงงิ้วตัวอย่างให้ดูแค่ 8 เรื่องเท่านั้น แล้วก็แสดงซ้ำไปซ้ำมาอยู่เช่นนั้น

กระทั่งเหมา เจ๋อตง ผู้สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนและเป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ในขณะนั้นถึงแก่อสัญกรรม จีนก็เดินหน้าสู่การปฏิรูปเศรษฐกิจในช่วงปลายทศวรรษที่ 70 งิ้วปักกิ่งก็เริ่มลืมตาอ้าปากอีกครั้ง ด้วยการแสดงในโรงละครต่างๆ และแสดงออกโทรทัศน์

แต่แล้วความสนใจงิ้วจีนของผู้คนก็เริ่มจางหายไปอีก เมื่อโรงละครที่จัดการแสดงงิ้วถูกทุบทำลาย เพื่อถางทางไปสู่ความก้าวหน้าของนครปักกิ่ง ขณะที่รูปแบบความบันเทิงสมัยใหม่จากฝั่งตะวันตกก็เริ่มก้าวเข้ามาแทนที่

แม้ว่าทั่วโลกจะหันมาให้ความสนใจกับศิลปะแขนงนี้บ้างเมื่อครั้งถูกถ่ายทอดลงในแผ่นฟิล์ม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่อง “Farewell My Concubine” ที่ เลสลี่ จาง รับบทบาทเป็นนักแสดงงิ้วตัวนางที่มีชีวิตอาภัพ หรือที่เพิ่งเข้าโรงฉายไปเมื่อปลายปีที่แล้วอย่าง “Forever Enthralled” ที่ได้ จาง จื่ออี๋ และหลี หมิง รับบทเป็นนักแสดงงิ้ว แต่รัฐบาลก็ไม่อาจสลัดความกังวลว่าว่าศิลปะการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติจะสูญสิ้นไป ดังนั้นจึงได้เริ่มโครงการนำร่องบรรจุวิชางิ้วลงในหลักสูตรของโรงเรียนหลายแห่งในปักกิ่ง และอีก 9 แห่งในมณฑลเมืองต่างๆ

ก่อนหน้านี้โจวเหอผิง รองรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของจีนให้ข้อมูลว่า ช่วง 50 ปีที่ผ่านมาศิลปวัฒนธรรมการแสดงอุปรากรจีน หรือ งิ้วจีนโบราณสูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 100 ประเภท โดยช่วงศตวรรษที่ 50 จีนมีงิ้วกว่า 368 รูปแบบ ต้นศตวรรษที่ 80 เหลือ 317 แบบ และเมื่อสิ้นปี 2005 เหลือเพียง 267 แบบเท่านั้น
อย่างไรก็ตามโจวทิ้งท้ายว่า "แต่หากพิจารณาถึงความจริงที่ว่า มีงิ้วจำนวนมากที่สูญเสียเอกลักษณ์ดั้งเดิมของตนเองไปโดยผสมผสานตัวเองเข้ากับวัฒนธรรมกระแสหลัก ก็เป็นไปได้ว่าจำนวนรูปแบบงิ้วที่สูญพันธุ์อาจมีมากกว่าที่ประเมินไว้”

ด้านหวัง จวิน เจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการศึกษาธิการแห่งปักกิ่งเล่าถึงสาเหตุที่ผุดโครงการนำร่องข้างต้น “สาเหตุที่เราใช้วิธีนี้ ก็เพราะต้องการให้เด็กๆ เข้าใจวัฒนธรรมของประเทศมากขึ้น”

“เนื่องจากในโลกมีวัฒนธรรมต่างๆมากมาย ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมของตัวเอง” หวังกล่าว พร้อมเสริมว่าจะมีการขยายโครงการไปยังโรงเรียนอื่นๆ ด้วย หลังจากโครงการเฟส 2 เริ่มต้นขึ้นในเดือนกันยายนนี้

อย่างไรก็ตาม จัว หย่าอี้ อาจารย์ของจี้ที่สอนงิ้วปักกิ่งมาตั้งแต่ปี 2550 เรียกได้ว่าก่อนหน้าโครงการของรัฐบาลเกิดเสียอีก มองว่าการให้เด็กๆหันมาสนใจเรียนงิ้วนั้นเป็นเรื่องยากมาก

“มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะว่าเด็กๆ คิดว่าการฟังงิ้วมันเป็นเรื่องที่น่าขนลุก ครั้งแรกที่เริ่มสอนมีนักเรียนมาเข้าเรียนแค่ 7-8 คนเท่านั้น ปีที่แล้วดีขึ้นหน่อยมี 14 คน แต่ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 44 คนแล้ว”

ถึงจะเป็นอย่างนั้น อาจารย์จัวก็เล่าว่า ไม่ใช่นักเรียนทุกคนจะเปลี่ยนแนวหันมาชอบงิ้วปักกิ่ง

“ผมสามารถยอมรับงิ้วปักกิ่งได้ แต่ผมไม่คิดจะเข้าร่วมกิจกรรมประเภทนี้อีกหลังจากเรียนจบเทอมนี้” ซือ เหวินจวิน นักเรียนวัย 17 ปีกล่าวระหว่างกำลังนั่งรอสวมชุดงิ้ว “ผมคิดว่ามันเป็นอะไรที่น่าเบื่อมาก แล้วก็รู้สึกว่ามันแตกต่างจากเพลงป็อปร่วมสมัยอย่างสิ้นเชิง”

หลังจากใช้เวลาพูดคุยกับนักเรียนและอาจารย์ที่สอนอุปรากรจีนแก่เด็กๆ มาสักครู่หนึ่ง และแล้วการแสดงก็กำลังเปิดม่านขึ้นแล้ว นักเรียนนับร้อยมารวมตัวกันที่หอประชุม พร้อมด้วยผู้ชมรุ่นคุณปู่คุณย่าที่ตั้งใจมาชมเด็กรุ่นใหม่แสดงอุปรากรจีนที่เคยได้รับความนิยมอย่างมากในสมัยที่พวกเขายังหนุ่มยังสาว

ด้านเทียน เจียซิน โฆษกของโรงละครฉางอันแห่งปักกิ่งมองว่า โครงการนำร่องดังกล่าวช่วยเพิ่มจำนวนเด็กรุ่นใหม่หันมาชมการแสดงงิ้วมากขึ้น

“ผู้ชมของฉางอัน 50% เป็นผู้สูงวัย 30% เป็นวัยกลางคน และอีก 20% เป็นวัยรุ่น แต่สัดส่วนของเด็กรุ่นใหม่ที่มาชมงิ้วปักกิ่งมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้น” เทียนกล่าว

ชายหนุ่มยืนอยู่ด้านหลังสถาปัตยกรรมรูปหน้ากากงิ้วปักกิ่ง ในเมืองหลวงจีนเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา - เอเอฟพี
ตุ๊กตาจีนสวมใส่ชุดงิ้วปักกิ่งถูกจัดแสดงที่โรงละครแห่งหนึ่งในเมืองปักกิ่ง - เอเอฟพี
ช่างกำลังแต่งหน้าให้แก่สาวน้อยวัยกระเตาะก่อนขึ้นแสดงงิ้วโรงเรียน - เอเอฟพี
ช่างกำลังแต่งหน้าน้องจี้ โหรว ก่อนขึ้นแสดงบนเวที - เอเอฟพี
แต่งตา


เหล่านักแสดงรุ่นเยาว์กำลังเตรียมตัวขึ้นเวทีแสดง

กำลังโหลดความคิดเห็น