เอเอฟพี – เซี่ยงไฮ้เปิดตัวโครงการ “ดรามา วอลเล่ย์” ดึงโรงละคร “มาเจสติก” ที่เก่าแก่เป็นหัวหอกของแผนฟื้นเมืองวัฒนธรรม ผลักดันเมืองสู่การเป็น “บรอดเวย์แห่งตะวันออก”
จาง เริงเหลียง ผู้ว่าการเขตจิ้งอันในเมืองเซี่ยงไฮ้เปิดตัวโครงการสร้างบรอดเวย์แห่งตะวันออก โดยมีโรงละคร “มาเจสติก” (Majestic) สถานที่เตือนใจถึงเซี่ยงไฮ้ในยุคคลั่งใคล้เสียงเพลงแจ๊ส และดาราภาพยนตร์ เกเบิล และการ์โบ เป็นหัวใจของโครงการ
ทั้งนี้ โรงละครมาเจสติกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2484 เคยได้รับการขนานนามว่าเป็นโรงละครหมายเลข 1 ของเอเชีย โดยโรงละครแห่งนี้เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีชื่อเสียงทางประวัติศาสตร์ และเป็นเอกลักษณ์ด้วยการผสมผสานศิลปะแบบเก่าและใหม่เข้าด้วยกัน
ภายใต้โครงการดังกล่าว ได้ขนานนามย่านโรงละครมาเจสติก และโรงละครอื่นๆ ที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงไม่ต่ำกว่า 20 แห่งว่าเขตโรงละคร "ดรามา วอลเลย์"
จางกล่าวว่า “แผนการของเราคือการสร้าง “ดรามา วอลเลย์” ที่ตระการตา ทันสมัย และสามารถแข่งขันกับบรอดเวย์ของอเมริกาและเวสต์เอนด์ของลอนดอนได้ภายใน 10 ปี”
ในฤดูกาลแรกจะมีการจัดแสดงละครเวที 30 เรื่อง ผสมผสานระหว่างละครเวทีร่วมสมัยของจีน และผลงานของบรอดเวย์ อาทิ ละครเวทีเรื่อง “Cats” ของแอนดรูว์ ลอยด์ วีเบอร์, “Luma” และ “High School Musical” ของดิสนีย์
อย่างไรก็ตาม โครงการข้างต้นยังเผชิญหน้ากับความท้าทายอยู่บ้าง อาทิ การที่อุตสาหกรรมละครเวทีของเซี่ยงไฮ้ยังอยู่ในขั้นเริ่มแรกของการพัฒนา คณะละครที่ไม่ใช่ของรัฐบาลประสบปัญหาในการหาที่และเงินทุน รวมไปถึงการเซ็นเซอร์เนื้อหาก็เป็นไปอย่างเข้มงวดแม้แต่บนเวทีละครก็ตาม
“การควบคุมสื่อยังคงเป็นภารกิจหลักในแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะในละครจีนที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสังคมและการเมือง” เดวิด แบนเดอร์สกี้ นักวิจัยโครงการสื่อจีนจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงกล่าว
“แต่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่ทำให้จีนหันมาให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมวัฒนธรรมอีกครั้ง และอาจเป็นสิ่งที่อยู่ในใจของทางการเซี่ยงไฮ้ด้วย”
หยาง หย่ง ผู้จัดการใหญ่ของบริษัท เซี่ยงไฮ้ ดรามา วอลเลย์ ดิเวลอปเม้นท์ เปิดเผยว่า ทางการเขตจิ้งอันได้ลงทุนเบื้องต้นไปถึง 10 ล้านหยวน (1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในโครงการนี้ โดยเงินส่วนใหญ่ใช้เพื่อการประชาสัมพันธ์ และจะมีการเพิ่มเงินอัดฉีดเพื่อยกระดับโรงละคร พัฒนาการแสดงดั้งเดิม และสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่
นอกจากนี้ รัฐบาลยังหาช่องทางปั้นศิลปินใหม่ๆ ขึ้นมา โดยการจัดตั้งสตูดิโอในเขต พร้อมทั้งผุดนโยบายให้สิทธิพิเศษ อาทิ ค่าเช่าต่ำ ลดหย่อนภาษี และอื่นๆ
ทางการหวังว่าศูนย์กลางโรงละครแห่งนี้จะสามารถปั้มเงินเข้าสู่ธุรกิจในละแวกนั้น และจะจ้างบริษัท นีเดอร์แลนเดอร์ เวิลด์ไวด์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ผู้ดำเนินธุรกิจโรงละครบรอดเวย์มาบริหารจัดการมาเจสติก รวมทั้งช่วยพัฒนารูปแบบการแสดงและเป็นที่ปรึกษาด้วย
แต่โทบี ซิมกิน ผู้ผลิตและรองประธานบริษัทนีเดอร์แลนเดอร์ เวิลด์ไวด์ในเซี่ยงไฮ้เผยว่า ความสำเร็จของโครงการนั้นขึ้นอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ โรงละครเป็นสำคัญ
“ทุกคนในโลกต้องการจะสร้างโรงละครระดับนี้ แต่ทุกคนมักลืมไปว่าบรอดเวย์และเวสต์เอนด์ไม่ใช่แค่อิฐ ปูน หรือเป็นแค่โชว์เท่านั้น”
“รอบๆ ไทม์สแควร์ มีโรงละครอยู่ 36 โรง แต่ก็มีร้านอาหารถึง 100 ร้าน โรงแรมอีก 50 แห่ง มีแสงไฟนีออน พ่อค้าเร่ตามข้างทาง นักดนตรี ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่สร้างพลังและความมีชีวิตชีวา”
ซิมกินยังระบุว่า ผู้ชมละครเวทีชาวจีน ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการ ซึ่งจำเป็นต้องดึงดูดคนกลุ่มนี้ให้สำเร็จ
ด้านเอลิสัน ฟรายด์แมน อดีตผู้จัดการใหญ่บริษัทโปรดักชั่นของนักประพันธ์ ถัน ตุน กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมโรงละครของเซี่ยงไฮ้นับว่ายังอยู่ในขั้นเริ่มต้น “ในนิวยอร์กหรือชิคาโก คุณอาจพบคณะละครมากกว่า 1,000 คณะ แต่ที่นี่คุณเห็นแค่ 4 คณะเท่านั้น”
หยาง เส้าหลิน ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปะการละครแห่งเซี่ยงไฮ้มองว่า การผลักดันให้โรงละครผลิตผลงานออกมามากขึ้นเป็นหนทางเดียวที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมโรงละครให้ไปสู่ระดับโลกได้
ขณะที่หม่า เย่ว์ ผู้กำกับรุ่นใหม่ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากสถาบันการละครแห่งเซี่ยงไฮ้ และเพิ่งมีผลงานละครเวทีแสดงที่โรงละครเซี่ยงไฮ้ แกรนด์ไปเมื่อเร็วๆ นี้ เปิดเผยว่า เธอต้องทำงานร่วมกับคณะละครเก่าเพื่อให้ได้รับอนุญาตทุกอย่างเท่าที่จำเป็น โดยหม่าเล่าว่า บทละครจะได้รับอนุมัติจากทางการหากไม่มีฉากนู้ด หรือเนื้อหาที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและการเมือง
“หากโครงการ ดรามา วอลเลย์ สามารถกระตุ้นโรงละครขนาดเล็กใต้ดินให้เพิ่มขึ้นได้ ก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะความจริงเราไม่ได้ต้องการโรงละครใหญ่มโหฬารมาก” หม่ากล่าว