xs
xsm
sm
md
lg

ธ.ต่างชาติเมินด่านอรหันต์จีน ตบเท้าขุดทองหลังม่านไม้ไผ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลูกค้าเดินออกมาจากธนาคาร HSBC สาขาย่อยใกล้สนามกีฬารังนก - เอเจนซี
เอเจนซี - กูรูเชื่อ แม้หนทางสู่การเป็นฐานทัพบริษัทธนาคารและการลงทุนโลกของแดนมังกรยังโรยด้วยลวดหนาม แต่บริษัทหลายแห่งเริ่มกระตือรือร้นรุกเข้ามากอบโกยกำไรมากขึ้น เนื่องจากเห็นช่องทางหาเงินในจีน

ปีที่แล้วจีนแผ่นดินใหญ่ (ไม่รวมฮ่องกง) กลายเป็นประเทศที่สร้างผลกำไรมากเป็นอันดับ 4 ของโลกให้แก่ธนาคารในเครือของ HSBC Holdings ซึ่งให้บริการซื้อขายเงินตรา พันธบัตร และอนุพันธ์ทางการเงินสำหรับลูกค้าบริษัทขนาดใหญ่ โดยยอดกำไรก่อนเสียภาษีได้ 353 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 137 ช่วยชดเชยการขาดทุนจากบริการธนาคารเพื่อลูกค้าบุคคล อย่างไรก็ตาม ทาง HSBC ไม่ได้เปิดเผยผลประกอบการไตรมาสแรกที่ผ่านมาในประเทศจีน

ขณะที่ ซิตี้ กรุ๊ป เมื่อปี 2551 มีรายได้สุทธิในประเทศจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 95 เท่ากับ 191 ล้านเหรียญสหรัฐ อันเป็นผลพวงมาจากการซื้อขายเงินตราต่างประเทศเพื่อการพาณิชย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ซึ่งสวนทางอย่างแรงกับธนาคารในนิวยอร์ก ซึ่งขาดทุนรวมกันมากถึง 27,680 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปีที่แล้ว

ผลประกอบการข้างต้นชี้ให้เห็นว่า การแสวงหากำไรในภาคการเงินของจีนไม่ใช่แค่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป ความล้มเหลวของอุตสาหกรรมการธนาคารในสหรัฐฯ รวมทั้งที่อื่นๆ ขับเน้นให้เห็นความสำคัญของตลาดกำลังพัฒนาอย่างจีนและอินเดียมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าธนาคารต่างชาติที่ไปลงทุนทำธุรกิจในประเทศเหล่านี้จะยังมีรายได้และผลกำไรไม่มากก็ตาม

การขยายตัวของผลกำไรในประเทศจีนสะท้อนให้เห็นว่าปักกิ่งเปิดโอกาสระดับหนึ่งให้แก่ธนาคาร บริษัทจัดการกองทุน และบริษัทต่างๆ อื่นๆ ในการทำธุรกิจ แม้ว่าจะมีกฎระเบียบเข้มงวดในระบบการเงินจีน

ดังเช่น จีนมีการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินและเงินทุนไหลเข้าออกประเทศอย่างเข้มงวด อันเป็นตัวขัดขวางนักลงทุนต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม ลิซ่า โรบินส์ หัวหน้าฝ่ายบริการสินทรัพย์จีนของเจพี มอร์แกนในปักกิ่งเชื่อมั่นว่า “ถึงแม้ว่าจะมีการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงิน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะไร้ซึ่งโอกาสในการหาเงิน เพราะธุรกิจในประเทศจีนของเราตอนนี้ก็กำลังเติบโตและทำกำไร”

นอกจากนโยบายควบคุมการเงินอันเข้มงวดแล้ว ชาวต่างชาติยังมีข้อจำกัดในการลงทุนโดยตรงในตลาดหลักทรัพย์จีนด้วย ถึงแม้ว่าเมื่อปีที่แล้วจะมีบริษัทบริหารกองทุนระดับโลกเข้ามาดำเนินธุรกิจบริษัทร่วมทุนทั้งสิ้น 32 แห่งและควบคุมเกือบครึ่งของสินทรัพย์ 290,000 ล้านเหรียญสหรัฐในอุตสาหกรรมกองทุนรวมท้องถิ่น จากการเก็บค่าธรรมเนียมบริหารจัดการเฉลี่ยรายละ 52 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามที่บริษัทวิจัยตลาดของเซี่ยงไฮ้ ซี-เบน แอดไวเซอร์ระบุ

และถึงแม้ว่าในทางเทคนิกชาวต่างชาติจะไม่สามารถซื้อขายในตลาดล่วงหน้าของจีนได้ แต่บริษัทซื้อขายชั้นแนวหน้าของโลกก็ยังหาทางซิกแซกซื้อขายผ่านบริษัทโบรกเกอร์ท้องถิ่นได้

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา จีนได้เพิ่มมาตรการผลักดันเซี่ยงไฮ้ให้ขึ้นชั้นเป็นศูนย์กลางการเงินและการขนส่งทางเรือระดับโลก ด้วยการให้คำมั่นว่าจะพัฒนาระบบตลาดการเงินหลายระดับชั้น, สนับสนุนการเปิดภาคบริการการเงินภายในไม่กี่ปีข้างหน้า, พัฒนาเทคโนโลยี และปรับลดภาษี ความเคลื่อนไหวเหล่านี้สะท้อนความเชื่อว่า รัฐบาลจีนอาจอาศัยเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อัดฉีดเงินให้แก่เซี่ยงไฮ้มากขึ้น

นอกจากนี้รัฐบาลกลางยังตั้งเป้าดึงดูดธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทระดับโลกอื่นๆ มายังเซี่ยงไฮ้ในทศวรรษหน้า เพื่อประชาสัมพันธ์เมืองเซี่ยงไฮ้ว่าทัดเทียมกับฮ่องกง ลอนดอน นิวยอร์ก และโดดเด่นเหนือเมืองอื่นๆ ของจีน อย่างปักกิ่ง เทียนจิน และเซินเจิ้น

อย่างไรก็ตาม หนทางสู่การเป็นฮับการเงินโลกของเซี่ยงไฮ้ก็ยังโรยด้วยลวดหนาม ดังเช่นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ลอนดอนได้จัดอันดับศูนย์กลางการเงินโลก และเซี่ยงไฮ้รั้งแค่อันดับที่ 35 เท่านั้น จุดด้อยของเซี่ยงไฮ้อยู่ตรงที่การแทรกแซงของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นการออกหุ้น เทรด ผู้ประกันการจำหน่ายหลักทรัพย์ ไปจนถึงอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตร รวมทั้งมีความเคลือบแคลงสงสัยต่อโครงสร้างทางกฎหมาย ภาษี และสื่อของเซี่ยงไฮ้ด้วย

“การจะเป็นศูนย์กลางการเงินโลกอย่างแท้จริง คุณจำเป็นต้องอนุญาตให้มีการแลกเปลี่ยนเงินตราได้โดยเสรี” เคธ โนเยส ผู้อำนวยการสมาคมการแลกเปลี่ยนและตราสารอนุพันธ์นานาชาติกล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น