xs
xsm
sm
md
lg

แกะรอยบ้านเกิด ‘iPhone Mini’ อยากได้มือถือรุ่นไหนจีน ‘จัดให้’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิวยอร์กไทมส์ – โทรศัพท์มือถือระบบสัมผัสแบบ “Touch-Screen” ที่กำลังฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมือง มีวางขายอย่างแพร่หลายในร้านจำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วเซินเจิ้น ทว่าคนขายกลับยอมรับหน้าตาเฉย เมื่อหยิบมันขึ้นมามองใกล้ๆ แล้วพบว่าตัวอักษรที่กระทบสายตาไม่ใช่ “Apple” “iPhone” แต่เป็น“Hi-Phone”

“แต่มันก็ใช้ได้ดีนะ” คนขายยังมั่นใจในสินค้า

ใกล้ๆ กันนั้น เจ้าของแผงค้าอีกจำนวนมากกำลังขายโทรศัพท์มือถือยี่ห้อโนเกีย โมโตโรล่า และซัมซุงที่ “ถอดแบบ” มาจากของจริง บางเครื่องยังสนนราคาเพียงเครื่องละ 20 เหรียญสหรัฐ

“5 ปีที่แล้ว เซินเจิ้นยังไม่มีมือถือปลอมขาย” สงทิง ผู้จัดการบริษัท ไตรควินต์ เซมิคอนดักเตอร์ ผู้ผลิตอุปกรณ์มือถือระบุ “เพราะคุณต้องมีศูนย์ออกแบบ นักซอฟต์แวร์ และฝ่ายออกแบบฮาร์ดแวร์ แต่เดี๋ยวนี้ บริษัทขนาด 5 คนก็สามารถผลิตมือถือได้ ในรัศมี 100 ไมล์นี้ คุณสามารถหาผู้ผลิตได้ทุกยี่ห้อ”

เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าได้อนุญาตให้บริษัทขนาดเล็กในแดนมังกร ซึ่งบางแห่งมีพนักงานเพียง 10 คน สามารถผลิตสินค้าที่เรียกกันว่า “ซันไจ้ (山寨)” อันหมายถึงสินค้าลอกเลียนแบบราคาถูกที่ผลิตจากโรงงานโลกอย่างจีน และมีวางขายกันเกลื่อนกลาด แต่กลับคลาดจากสายตาของเจ้าหน้าที่รัฐ นัยว่าอยู่ในค่ายลึกกลางป่าเขา ตามความหมายเก่าของคำว่า “ซันไจ้”

แม้ว่าบรรดาบริษัทจีนจะพยายามขยับมูลค่าของฐานการผลิต จากกลุ่มผลิตภัณฑ์ของเล่นและสิ่งทอ มาเป็นผู้ผลิตคอมพิวเตอร์และรถยนต์ไฟฟ้า แต่บรรดาสินค้าลอกเลียนแบบก็ยังมีวางขายอย่างละลานตา หลังจากจีนขึ้นชื่อด้านผู้ผลิตกระเป๋าหรูและดีวีดีราคาถูกมาหลายปี ตอนนี้จีนกำลังครองความเป็นเจ้าแห่งผู้ผลิตมือถือรายใหญ่ที่สุดของโลก

จากการสำรวจวิจัยของการ์ทเนอร์ บริษัทจัดอันดับเทคโนโลยีรายใหญ่ระบุว่า แม้ “มือถือซันไจ้” เพิ่งจะปรากฎเมื่อไม่กี่ปีมานี้ แต่มีส่วนแบ่งตลาดถึง 20% ในจีน ซึ่งจัดเป็นตลาดมือถือที่ใหญ่สุดของโลกด้วย

ขณะเดียวกัน “มือถือซันไจ้” ยังถูกส่งออกอย่างผิดกฎหมายไปขายยังรัสเซีย อินเดีย ตะวันออกกลาง หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา “ตลาดมือถือซันไจ้กำลังขยายตัวอย่างดุเดือด” หวังจี้ผิง นักวิเคราะห์อาวุโสของ IDC ซึ่งทำหน้าที่เกาะกระแสเทรนด์เทคโนโลยีระบุ “เขาลอกเลียนแบบทั้งแอปเปิล โนเกีย หรือยี่ห้ออื่นๆ และสนองตอบความต้องการของตลาดอย่างรวดเร็ว”

ท่ามกลางการแพร่กระจายของสินค้าปลอมและของลอกเลียนแบบ บรรดาแบรนด์ดังระดับโลกต่างกดดันให้รัฐบาลจีนจัดการกับสิ่งเหล่านี้ พร้อมเตือนผู้บริโภคถึงอันตรายต่อร่างกายที่อาจเกิดขึ้น ไม่ต่างจากแบตเตอรี่ราคาถูกที่อาจระเบิดได้

ผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ของโลกอย่างโนเกีย เปิดเผยว่า ได้มีการทำงานร่วมกับปักกิ่งในการต่อสู้กับสินค้าปลอม เช่นเดียวกับโมโตโรล่า ขณะที่ แอปเปิล อิงค์ ปฏิเสธที่จะออกความเห็น

แม้แต่ผู้ผลิตมือถือของจีนเองก็ต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับ “มือถือปลอม” เนื่องจากมีต้นทุนที่มากกว่า เพราะกลุ่มหลังทั้งเลี่ยงภาษี และไม่มีต้นทุนการตรวจสอบความปลอดภัยและค่าธรรมเนียมอื่นๆ ตามกฎหมาย

“เรากำลังเดือดร้อนแสนสาหัสจากมือถือซันไจ้” เซินจ้าว ผู้จัดการฝ่ายขายของคอนก้า (Konka) ผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่จีนรายหนึ่งระบุ “กฎหมายกำหนดว่า ผู้ผลิตมือถือจะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มถึง 17% จากยอดขายต่อปี และแน่นอนว่าพวกมือถือซันไจ้ไม่มีภาระนี้”

ปัจจุบัน แม้ว่าทางการจีนจะขยับเขยื้อนบ้างในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของมือถือปลอม ซึ่งมีโฆษณาเร่ขายผ่านทางทีวีกลางดึกด้วยสโลแกนว่า “ด้วยราคาเพียง 1 ใน 5 คุณก็ได้คุณสมบัติและหน้าตาแบบเดียวกัน (กับของจริง)” หรือเชื้อเชิญทำนองว่า “ซื้อสินค้าซันไจ้เพื่อแสดงออกถึงความรักชาติ”
ชอบแบบของแท้หรือรุ่น Mini จีนก็ “จัดให้” ได้
เมื่อเดือนมีนาคม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน ได้ออกประกาศเตือนผู้บริโภคเกี่ยวกับอันตรายของ “มือถือซันไจ้” โดยระบุว่า “คลื่นของมันแรงเกินกว่ากำหนด” ด้านกลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคของจีนชี้ว่า ปัญหามือถือเสีย เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคร้องเรียนมากที่สุดเมื่อปีที่ผ่านมา

สื่อจีนยังรายงานเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนว่า ชายวัย 45 ปีรายหนึ่งทางตอนใต้ของจีนถูกระเบิดอย่างรุนแรงจากโทรศัพท์มือถือที่พกไว้ในกระเป๋าเสื้อ

ทว่าข่าวนี้ดูเหมือนไม่สะเทือนตลาดค้ามือถือปลอม ซึ่งโดยทั่วไปจะขายราคาส่งที่เครื่องละ 100-150 เหรียญสหรัฐ ด้วยคุณลักษณะของสินค้าซันไจ้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต่างยินดีที่จะยอมเสี่ยงกับสินค้าราคาถูกที่ดูเก๋เท่ตามสมัยนิยม

“ฉันเห็น iPhone ในเว็บไซต์ มันเท่มาก แต่ราคาตั้ง 500 กว่าเหรียญฯ แพงเกินไป ฉันจึงตัดสินใจซื้อ iPhone ซันไจ้แทน มันช่างเหมือน iPhone จริงๆ” เป็นคำบอกเล่าของ หยางกุ้ยปิน สาวออฟฟิสวัย 30 จากเมืองฉงชิ่ง

ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า ปรากฏการณ์ “ซันไจ้” สะท้อนความคิดสร้างสรรค์ในแบบฉบับจีน

“บริษัทจีนในชนบทล้วนมีความเป็นนักนวัตกรรม” ยี่ว์โจว อาจารย์จากวิทยาลัยแวสซ่าร์ แห่งนิวยอร์กระบุ “มันไม่ต้องใช้เทคโนโลยีมากมาย เพราะทุกอย่างหาได้จากผู้ผลิตอะไหล่ชิ้นส่วน และพวกเขาสามารถผลิตออกมาตอบสนองเทรนด์ใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว”

ไม่เพียงโทรศัพท์เคลื่อนที่ลอกเลียนแบบนี้จะมีหน้าตาเหมือนแบรนด์ดังทั้งหลาย ผู้ผลิตยังเพิ่มจุดเด่นอื่นๆ เข้าไป เช่น หน้าจอที่กว้างขึ้น ใช้งานได้ 2 ซิม หรือแม้แต่เพิ่มเลนซ์ซูมของกล้องมือถือ

การเปลี่ยนมาสู่ระบบซิมการ์ด นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้โทรศัพท์มือถือวิ่งเข้าสู่แดนมังกรมากกว่าพื้นที่อื่นๆ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา สิ่งที่คุณทำมีเพียงใส่ซิมการ์ดเข้าไปใน “มือถือซันไจ้” สักเครื่อง แล้วคุณก็ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ตามปกติ

นวัตกรรมต่างๆ ที่เริ่มต้นขึ้นในปี 2005 โดยบริษัท มีเดียเท็ค (Mediatek) ผู้ออกแบบระบบเซมิคอนดักเตอร์จากไต้หวัน ได้ช่วยลดต้นทุนและความซับซ้อนของการผลิตเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ลงอย่างมาก

มีเดียเท็คใช้วิธีการที่เรียกว่า “turnkey” ในการพัฒนาแผงวงจรที่สามารถผสมผสานกลไกการทำงานจากชิปหลายๆ ตัว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของฐานการผลิตเครื่องโทรศัพท์มือถือต้นทุนต่ำ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อฝ่ายกฎหมายไฟเขียวให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้โดยไม่ต้องขอใบอนุญาต ทำให้อุตสาหกรรมนี้คึกคักขึ้นทันทีในปี 2007 และทำให้มีผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของปลอมหรือไร้ยี่ห้อออกมาเป็นจำนวนมาก บรรดาบริษัทเล็กๆ ต่างซื้อแผงวงจรของมีเดียเท็คมาใช้กับซอฟท์แวร์ของตน รวมทั้งหาแหล่งผลิตอะไหล่อื่นๆ แล้วหาโรงงานประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน

กลยุทธ์ทางการตลาดของมือถือปลอมก็ทำกันง่ายๆ แค่เลียนแบบดีไซน์และแบรนด์เนมให้ใกล้เคียงกับของจริง เช่น Sumsung จาก Samsung หรือ Nckia จาก Nokia.

นอกจากนั้น ยังมีการสร้างความสัมพันธ์กับแหล่งซัปพลายสินค้าของยี่ห้อดังๆ “เป็นเรื่องปกติมากที่โรงงานจะเพิ่มกะกลางคืนสำหรับผลิตให้กับบริษัทอื่น ไม่มีใครปฏิเสธออร์เดอร์มือถือที่มากกว่า 5,000 เครื่อง” จางไห่เจิน หนึ่งในผู้ผลิตสินค้าซันไจ้ในเซินเจิ้นระบุ

ด้านจางเฟยหยาง เจ้าของบริษัทหยวนหยางที่ผลิต iPhone ปลอมยอมรับว่า นี่เป็นธุรกิจในเงามืด “เราเป็นประเภทผู้ผลิตผิดกฎหมาย มีโรงงานเล็กๆ ลับๆ มากมายในเซินเจิ้น และเราสามารถผลิตมือถือได้ทุกชนิด”

นักวิเคราะห์ชี้ว่า การแข่งขันที่ดุเดือดระหว่างของจริงกับของเก๊นี้ กดดันให้บรรดาแบรนด์ดังของโลกต้องลดราคาขายลง ขณะที่มือถือแบรนด์จีนใหม่ๆ กำลังออกสู่ตลาดมากขึ้น เช่นยี่ห้อ “เม่ยจู๋ (Meizu)
” ที่ส่งรุ่น Meizu M8 ออกมาท้าชิงกับ iPhone โดยมีหน้าตาและฟีเจอร์เหมือน iPhone แท้เกือบ 100%

“มือถือของเราดีกว่าไอโพนด้วยซ้ำ และเป้าหมายของเราคือการผลิตมือถือที่จะสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ชาวจีน” หลิวเจ้อยีว์ เซลล์แมนของเม่ยจู๋ที่เซินเจิ้นกล่าวอย่างภาคภูมิในผลิตภัณฑ์ของตัวเอง!
เทียบกันชัดๆ ระหว่าง iPhone ของแท้จากแอปเปิล (ซ้าย) กับ  Meizu M8 จากจีน (ขวา)
กำลังโหลดความคิดเห็น