xs
xsm
sm
md
lg

ห้องเรียน“เถ้าแก่” การศึกษาแนวใหม่ในจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักเรียนสอบแข่งขันกันอย่างหนักเพื่อให้ได้เข้ามหาวิทยาลัยมีชื่อ และจบออกมามีงานทำ
รอยเตอร์ – ในห้วงที่จีนกำลังเผชิญกับวิกฤตการว่างงาน “เจี่ย เส้าฮวา” นักการศึกษาจากวิทยาลัยการค้าและอุตสาหกรรมอี้อู ในมณฑลเจ้อเจียง ถือเป็นครูแถวหน้าที่พยายามช่วยผ่าทางตันวิกฤตการว่างงานของนักศึกษา เขาไม่ได้สอนให้เด็กมีทักษะในงานอาชีพเท่านั้น หากแต่ยังสอนให้พวกเขาสร้างสรรค์งานของตัวเองขึ้นมาด้วย

ด้วยคำนึงถึงความเป็นจริงของตลาดงานในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ เจี่ย เส้าหวา จึงไม่ได้สอนเฉพาะเรื่องทฤษฏี ที่ถือเป็นมาตรฐานของระบบการศึกษาในจีน ให้แก่นักศึกษาของเขาเท่านั้น แต่ยังได้สอนให้นักศึกษาฝึกทักษะด้านธุรกิจและการจัดการด้วยการตั้งร้านค้าออนไลน์ของพวกเขาขึ้นมา

“ข้อด้อยของระบบการศึกษาจีนก็คือว่า เราพยายามสอนให้เด็กว่ายน้ำในห้องเรียน และพวกเขาก็สอบผ่าน แต่พอเขาได้ไปเจอกับแม่น้ำจริงๆ เขากลับตัวสั่นงันงก และเมื่อเขาโดดลงน้ำ ก็ต้องจมน้ำตาย”

เจี่ย กล่าวด้วยว่า ห้องเรียนการเป็นผู้ประกอบการด้านอี-คอมเมิร์ซ ของเขาที่มีนักศึกษาประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์มาเล่าเรียน ได้ฝึกทักษะเพื่อใช้ในชีวิตจริงให้แก่นักศึกษา เพื่อเขาจะได้มีเครื่องมือที่ดีเอาไว้แข่งในตลาดแรงงานกับเด็กนับล้านจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ

ความคิดที่จะเปลี่ยนระบบการศึกษาของจีนเพื่อเตรียมนักศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงาน ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่กระนั้นก็ยังมีเสียงบ่นมาจากบริษัทจ้างงานอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับระบบการศึกษาที่ไม่ได้สอนให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็น หรือมีทักษะในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
นักศึกษาจบใหม่แห่หางานทำอย่างไม่รู้ชะตากรรม
“โรงเรียนในจีนจะสอนให้เด็กท่องจำและฝึกปฏิบัติ แต่ไม่มีการแปลงกระบวนการเรียนรู้มาสู่การติดต่อสื่อสารและปฏิบัติงานในชีวิตประจำวัน” นี่คือข้อความที่ระบุไว้ในเอกสารเผยแพร่ของหอการค้าอเมริกันในจีนฉบับเดือนเมษายน

ถึงแม้ว่าหอการค้าอเมริกันได้พยายามบอกกล่าวปัญหานี้ออกมาเมื่อหลายปีก่อน แต่ดูเหมือนว่าเรื่องนี้เพิ่งจะได้รับความสนใจจากผู้นำประเทศ โดยรัฐบาลในกรุงปักกิ่งได้ประกาศแล้วว่า เรื่องการสร้างงานให้แก่นักศึกษาจบใหม่ในปีนี้จำนวน 6.1 ล้านคน ถือเป็นเรื่องที่ต้องทำเร่งด่วน

ล่าสุด รัฐบาลจีนได้ออกนโยบายเพื่อหางานให้เด็กจบใหม่ หรือให้พวกเขาตั้งธุรกิจของตัวเองขึ้นมา และยังตั้งเป้าว่าจะผลิตนักเรียนอาชีวะที่มีความรู้ทางด้านการอาชีพ ให้มากกว่านักศึกษาสายวิชาการ พร้อมกันนี้ ยังออกนโยบายให้เงินกู้ถึง 5 หมื่นหยวน (ราว 250,000 บาท) ให้แก่นักศึกษาจบใหม่ที่ต้องการทำธุรกิจของตัวเองด้วย โดยแต่ละปี มีเด็กจบใหม่น้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ที่ทำธุรกิจของตัวเอง

การศึกษาแนวใหม่

หลังจากสื่อท้องถิ่นได้รายงานการศึกษาแนวใหม่ในโรงเรียนของ เจี่ย เส้าฮวา ออกไปสู่สาธารณะ ก็ดูเหมือนว่าการศึกษาแนวใหม่นี้จะได้รับการสนับสนุนอย่างดี

เจียง ต้าหยวน นักวิจัยจากศูนย์การศึกษาอาชีวะและเทคนิคในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับมันสมองของกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า จีนกำลังมองหาแนวทางการศึกษาแบบใหม่ และการเปิดร้านค้าออนไลน์ก็ถือเป็นหนึ่งในนั้น และว่า “การเปิดร้านค้าออนไลน์ ถือเป็นก้าวแรกที่ง่ายสำหรับนักศึกษาอาชีวะ ที่จะเริ่มมีธุรกิจเป็นของตัวเอง”

การติดอาวุธด้วยโนว์-ฮาวและนโยบายที่ให้สิทธิพิเศษ ทำให้นักศึกษาในวิทยาลัยของ เจี่ย เส้าฮวา ต่างตื่นเต้นกับอนาคตของพวกเขา
เว็บ Taobao.com ร้านค้าปลีกออนไลน์ชื่อดัง หรือที่เรียกกันว่า eBay ของจีน
ป้ายผ้าสีแดงที่แสดงความดีใจกับกลุ่มที่ได้รับคัดเลือกจาก Taobao.com ร้านค้าปลีกออนไลน์ชื่อดัง หรือที่เรียกกันว่า eBay ของจีน พร้อมกับภาพถ่ายที่ประดับตามผนังในสำนักงานชั่วคราวของนักศึกษากลุ่มหนึ่ง ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงแรงบันดาลใจของพวกเขา

พาน เหวินป๋อ นักศึกษารายหนึ่ง เล่าว่า ในอนาคตเขาจะขายสินค้าออนไลน์ อาทิ กล่องใส่กระดาษทิชชู่ รองเท้าแตะ ชุดชั้นในสตรี เสื้อเชิ้ต และถุงเท้า และว่า การเริ่มธุรกิจของเขาเองทำให้พ่อแม่เขาโล่งใจมากที่เขาจะไม่ตกงาน หลังจากพ่อแม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนให้เขามาหลายปี ซึ่งการเปิดธุรกิจของตัวเองนี้ได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่ของเขาอย่างเต็มที่

ใช่ว่าทุกคนจะเชื่อ

วิทยาลัยของ เจี่ย เส้าฮวา ตั้งอยู่ในเมืองอี้อู ซึ่งเป็นแหล่งขายส่งสินค้าใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้นักศึกษามีโอกาสซื้อสินค้าในราคาขายส่ง ที่นักศึกษาในพื้นที่อื่นไม่มี อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางรายได้ตั้งคำถามต่อประสิทธิภาพในการผลักดันให้นักศึกษาเริ่มธุรกิจของตัวเองเร็วเกินไป

โดยซู ไห่หนัน ผู้เชี่ยวชาญสมาคมเพื่อศึกษาด้านแรงงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับมันสมองของกระทรวงความมั่นคงทางสังคมและทรัพยากรมนุษย์ กล่าวว่า นักเรียนมีหน้าที่เรียน ไม่ใช่มาประกอบอาชีพ

ขณะที่ เกา หยาง ผู้บริหาร Junior Achievement China ซึ่งเป็นองค์กรฝึกสอนผู้ประกอบการโดยผ่านเครือข่ายอาสาสมัคร กล่าวว่า นักธุรกิจจะสอนนักศึกษาเรื่องการทำธุรกิจได้ดีกว่าครูในโรงเรียน

“คนเหล่านี้จะสอนเด็กให้รู้จักของจริง และยังมีประสบการณ์กับความชำนาญมาแลกเปลี่ยนกับนักศึกษา ผมจึงเห็นว่า การใช้อาสาสมัครมาทำงานด้านนี้จะดีกว่า”

อย่างไรก็ดี เจี่ย ยอมรับว่า การศึกษาแนวใหม่ในโรงเรียนเขาอาจใช้ไม่ได้ผลทุกที่ และห้องเรียนผู้ประกอบการก็ใช่ว่าจะช่วยแก้ปัญหาการว่างงานได้ทั้งหมด แต่เขาก็ยืนยันว่า การศึกษาแนวใหม่นี้ถือเป็นความหลากหลายของระบบการศึกษา ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ปรับตัวเองให้เข้ากับความต้องการและความสามารถของพวกเขา

เจี่ย เส้าฮวา กล่าวอีกว่า สถานศึกษาชั้นนำอย่างเช่นมหาวิทยาลัยชิงหัวในกรุงปักกิ่ง ยังคงเป็นแหล่งที่คนให้ความสนใจ แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องน่าอายที่วิทยาลัยของเขาจะฝึกให้นักศึกษาลงมือปฏิบัติจริง

“มันน่าเสียดาย ที่วิทยาลัยอาชีวะทุกแห่งของจีนพยายามทำตัวเป็นมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยทุกแห่งของจีนพยายามทำตัวเป็นซิงหัว และนั่นถือเป็นจุดจบด้านการศึกษาของเรา” เจี่ย เส้าฮวา กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น