xs
xsm
sm
md
lg

ไชน่าโมบายล์นำร่องลงทุนไต้หวัน แผนรวบมังกรน้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซี – ความสัมพันธ์จีน-ไต้หวันนับวันชื่นมื่น เมื่อไชน่า โมบายล์ (China Mobile Ltd.) ตกลงเข้าซื้อหุ้นฟาร์ อีสโทน เทเลคอมมูนิเคชั่นส์ (Far EasTone Telecommunications Co.) เปิดศักราชการลงทุนโดยตรงของวิสาหกิจรัฐจีนบนแดนมังกรน้อย หลังจากดินแดนทั้งสองตัดขาดความสัมพันธ์กันเมื่อหกสิบปีก่อน

ภายหลังจากไชน่าโมบายล์แถลงเข้าซื้อหุ้นร้อยละ 12 ของฟาร์อีสโทน บริษัทโทรศัพท์รายใหญ่อันดับ 3 ของไต้หวัน มูลค่า 529 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ให้ดัชนีไทเอ็กซ์ ของไต้หวันเมื่อวันพฤหัสฯ (30 เม.ย.2552) ปรับตัวขึ้นร้อยละ 5.7 ทำสถิติสูงสุด นับตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนเก็งกันว่า บริษัทจากแผ่นดินใหญ่จะแห่มาลงทุนในไต้หวันกันมากขึ้น

ไชน่าโมบายล์จะได้ 1 ที่นั่งในคณะกรรมการบริหาร และกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 2 ของฟาร์อีสโทน บริษัททั้งสองระบุว่าความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ครั้งนี้จะส่งผลดีแก่ทั้งสองฝ่าย โดยในส่วนของไชน่าโมบายล์ ซึ่งเตรียมให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือรุ่น 3 จี บนแผ่นดินใหญ่จะได้รับความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับเทคโนโลยีจี 3 ซึ่งมีความล้ำหน้าของไต้หวัน ขณะที่ฟาร์อีสโทนได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับบริษัทรายใหญ่ที่สุดในตลาดโทรคมนาคมสื่อสารขนาดมหึมาอันดับหนึ่งของโลก เมื่อดูจากจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวันฟื้นฟูขึ้น หลังจากหม่า อิงจิ่วจากพรรคก๊กมินตั๋ง ขึ้นเป็นประธานาธิบดีไต้หวันเมื่อปีที่แล้ว ล้มเลิกจุดยืนเรียกร้องเอกราชไต้หวันของประธานาธิบดีเฉิน สุ่ยเปียน ผู้นำคนก่อน โดยรัฐบาลจีนประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามการลงทุนในไต้หวันตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2552 เป็นต้นไป หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงเปิดให้บริการภาคการเงินระหว่างกัน, ขยายเที่ยวบินโดยตรงจาก108 เที่ยวเป็น 270 เที่ยวในแต่ละสัปดาห์ และจับมือกันปราบปรามอาชญากรรม

จีนและไต้หวันยังจะจัดตั้งกลไกกำกับดูแล เพื่อให้บริษัทบริการด้านการเงินสามารถเข้าดำเนินธุรกิจในตลาดทั้งสองฝ่าย นอกจากนั้นคณะกรรมการกำกับดูแลภาคการเงินของไต้หวันประกาศเริ่มรับใบสมัครจากนักลงทุนประเภทสถาบันของจีน ที่ต้องการเข้าซื้อหุ้นในไต้หวันอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในสายตาของนักวิเคราะห์มองว่า กรณีการซื้อหุ้นรายนี้ อาจเป็นเรื่องการเมือง เนื่องจากตลาดโทรศัพท์มือถือในไต้หวันอิ่มตัวแล้ว และการเติบโตจะกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย

กรณีที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นความพยายามของจีนในการผนวกไต้หวันอย่างละมุนละม่อมด้วยการเข้าลงทุนโดยตรงในอุตสาหกรรมไฮเทค และทำให้ไต้หวันต้องพึ่งพาเศรษฐกิจจีนมากขึ้น

กำลังโหลดความคิดเห็น