游 (yóu) อ่านว่า โหยว แปลว่า เคลื่อนไหว
刃 (rèn) อ่านว่า เริ่น แปลว่า ใบมีด
有 (yǒu) อ่านว่า โหย่ว แปลว่า มี
余 (yú) อ่านว่า อี๋ว์ แปลว่า เหลือ ในที่นี้หมายถึงเหลือพื้นที่ว่าง
มีพ่อครัวผู้หนึ่ง มีทักษะในการเชือดวัวได้อย่างชำนิชำนาญยิ่งนัก ขนาดที่เมื่ออ๋องเหวินฮุ่ยเห็นยังต้องยกย่องชมเชย
พ่อครัวกล่าวกับท่านอ๋องว่า “ความสามารถของข้าน้อยนั้น ไม่เพียงมาจากการฝึกฝนอย่างหนัก ทั้งยังกอรปกับการเรียนรู้กฎเกณฑ์ในการแล่เนื้ออย่างปรุโปร่ง รู้จักโครงร่างกระดูกทุกข้อทุกชิ้นของวัว ดังนั้นมีดแล่เนื้อของข้าน้อย แม้จะใช้งานมาเป็นเวลากว่า 19 ปีแล้ว เชือดวัวไปไม่น้อยกว่า 1000 ตัว แต่กลับยังคมกริบ มันปลาบราวกับเพิ่งตีออกมาใหม่ทุกครั้ง เนื่องจากโครงกระดูกของวัวนั้นมีช่องว่างตรงกลาง ในการชำแหละวัวข้าน้อยได้ใช้ใบมีดที่บางมากที่สุด ดังนั้นเมื่อชำแหละเข้าไป ใบมีดจึงเคลื่อนไหวผ่านช่องว่างระหว่างกระดูกวัวได้อย่างอิสระ”
“โหยวเริ่นโหย่วอี๋ว์” หรือ การเคลื่อนไหวใบมีดผ่านกระดูกวัว แต่ยังเหลือพื้นที่ว่าง เป็นสุภาษิตที่ใช้เพื่อเปรียบเปรยว่า การทำสิ่งใดก็ตามหากมีการฝึกฝนจริงจัง มีประสบการณ์โชกโชน เกาะกุมแก่นแท้ของสิ่งนั้นเอาไว้ได้ ย่อมทำงานได้อย่างดีมีประสิทธิภาพ ไร้อุปสรรคขัดขวาง