เอเยนซี – จีนผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ทีสุดในโลก กลายเป็นผู้นำเข้าสุทธิในผลิตภัณฑ์เหล็กครั้งแรกในรอบ 3 ปี ในเดือนมีนาคม ขณะที่ยอดขายในต่างประเทศลดลง
กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีนแถลงผ่านเว็บไซต์ ว่าผลผลิตเหล็กดิบในช่วงไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 1.4 เปอร์เซ็นต์ เป็น 127.4 ล้านเมตริกตัน แต่ไม่ระบุถึงรายละเอียดยอดนำเข้า-ส่งออก หรือแม้แต่ผลผลิตในเดือนมีนาคม
โดยผู้นำเข้าสุทธิ (Net Importer)หมายถึงยอดนำเข้ามากกว่ายอดส่งออก ผลกระทบที่ตามมาคือขาดดุลการค้า
ด้านบริษัทเป่าสตีล กรุ๊ป คอร์ป ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่สุดของจีน ระบุในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาว่า ภาวะชะลอตัวเศรษฐกิจโลกได้ลดความต้องการเหล็กในภาคการก่อสร้างและผู้ผลิตรถยนต์ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมเหล็กในจีนต้องประสบภาวะขาดทุนในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ขณะเดียวกันก็ประเมินว่าตลาดเหล็กจะยังคงซบเซาไปจนกระทั่งกลางปีหน้า
“นี้คือช่วงวิกฤตหนึ่งของอุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งยากที่จะกลับมามีกำไร” ถ้อยแถลงของเจี่ย หยินซ่ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายวัตถุดิบของกระทรวงอุตสาหกรรมฯ ซึ่งแถลงผ่านเว็บไซต์
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของจีน ประสบภาวะขาดทุนในเดือนมีนาคม โดยมียอดรวมกันทั้งสิ้น 1,800 ล้านหยวน (264 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งสูงกว่าในช่วงสองเดือนก่อนหน้า ซึ่งยอดขาดทุนอยู่ที่ 1,510 ล้านหยวน หนังสือพิมพ์ซั่งไห่ ซีเคียวริตี้ส์ รายงานวันในศุกร์(24 เม.ย.) โดยอ้างคำสัมภาษณ์จากหลัว ปิงเซิง รองประธานสมาคมผู้ผลิตเหล็กในจีน
สำหรับผลผลิตเหล็กในช่วงไตรมาสแรกมีจำนวน 517 ล้านตัน มากกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ 460 ล้านตัน
ในเดือนมีนาคมกลุ่มผู้ผลิตเหล็กจีนผลิตได้วันละ 1.46 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าในเดือนพฤศจิกายน 36 เปอร์เซ็นต์
ด้านดัชนีมาตรฐานราคาเหล็กในจีนปีนี้ ลดลงร้อยละ13 ขณะที่กลุ่มโรงงานหลอมต่างก็คาดหวังจะเพิ่มการผลิตมากขึ้น ตามแผนการใช้จ่ายการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 4 ล้านล้านหยวนจากรัฐบาล ขณะเดียวกันทางสมาคมอุตสาหกรรมผู้ผลิตเหล็กได้เรียกร้องให้ผู้ประกอบควบคุมการผลิต เนื่องจากวิตกว่าอุปสงค์ที่ล้นเกินจะเป็นตัวฉุดราคาเหล็กให้ลดลง
ขณะที่ในแถลงการณ์ระบุด้วยว่า ราคาเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตในจีนราคาร่วงลงร้อยละ 16 ส่วนเหล็กม้วน(hot-rolled coil) ก็ตกลงเช่นกันที่ร้อยละ 18 เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา จากระดับที่พุ่งสูงในเดือนกุมภาพันธ์
ทั้งนี้ การผลิตเหล็กของจีนในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้คิดเป็นร้อยละ 48 ของการผลิตทั่วโลก ขณะที่ประเทศคู่แข่งต่างลดการผลิตเพราะวิกฤตเศรษฐกิจ