xs
xsm
sm
md
lg

สนามกีฬารังนก แหล่งปั๊มเงินแห่งใหม่ของนครปักกิ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สนามกีฬารังนก - รอยเตอร์
รอยเตอร์ – สนามกีฬารังนกกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสุดนิยม สูสีพระราชวังต้องห้าม และกำแพงเมืองจีนอันเลื่องลือของเมืองหลวงแดนมังกร และกลายเป็นแหล่งทำเงินแห่งใหม่ภายหลังมหกรรมโอลิมปิก

นับตั้งแต่มหกรรมโอลิมปิกปักกิ่งปิดฉากลงล่วงเข้าสู่เดือนที่ 9 ปัจจุบันนักท่องเที่ยวหลายพันคนจากทั่วทุกมุมโลกต่างก็เดินทางมาเยือนสนามกีฬาแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง ที่ซึ่งถูกจัดเตรียมไว้เพื่อแสดงพิธีเปิดและปิดของโอลิมปิกอย่างอลังการ

โดยนักท่องเที่ยวจะต้องจ่ายค่าบัตรผ่านประตูจำนวน 50 หยวน (ประมาณ 260 บาท) เพื่อเข้าไปเยี่ยมยล ถ่ายภาพ หรือแม้กระทั่งทดลองนั่งบนอัฒจันทร์แห่งนี้

“เราไม่เคยคิดมาก่อนว่าหลังโอลิมปิกจบลง สนามกีฬารังนกจะกลายเป็นสถานที่ยอดนิยมในหมู่ชาวจีน” จาง เฮิงลี่ ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทซิติก กรุ๊ปที่ได้รับสัมปทานดำเนินกิจการในสนามกีฬารังนกให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์

นอกจากนี้จาง ยังเพิ่มเติมว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าชมสนามกีฬารังนกในแต่ละวันมากกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ขณะที่เผยตัวเลขผู้เข้าชมว่ามีจำนวน 20,000- 30,000 คนต่อวัน

สนามกีฬาแห่งชาติจีน หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม “สนามกีฬารังนก” มาจากรูปลักษณ์ของสถาปัตยกรรมภายนอกที่ถูกออกแบบให้คล้าย “รังนก”

อย่างไรก็ตาม จางกล่าวว่าแม้ในช่วงที่เศรษฐกิจเจอมรสุมรายได้จากการจำหน่ายบัตรผ่านประตูอาจมากถึง 70 ล้านหยวน ขณะที่ค่าบำรุงรักษาสนามขนาด 250,000 ตารางเมตร ต่อปีสูงถึง 90 ล้านหยวน กระนั้นสนามกีฬารังนกยังคงเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกความมั่งคั่งและอำนาจของจีนได้อย่างเป็นอย่างดี

“ผมรู้สึกภูมิใจในประเทศ ที่สามารถสร้างสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ หากจีนไม่มีการปฏิรูปและเปิดประเทศ เราก็คงเป็นประเทศที่ล้าหลัง และคงไม่สามารถบรรลุถึงเป้าหมายเช่นนี้ได้” โกว เต้ากวาง นักท่องเที่ยว วัย 77 ปี ที่เดินทางมาเยี่ยมชมสนามกีฬาแห่งนี้

ขณะที่นักท่องเที่ยวบางกลุ่ม ลงทุนสวมชุดกีฬาทีมชาติ คล้องเหรียญรางวัลโอลิมปิกที่ประดิษฐ์ขึ้น หรือแม้แต่ถือคบเพลิงเทียม เพื่อเข้ามาถ่ายภาพที่ระลึกโดยช่างภาพผู้เชี่ยวชาญ

ทั้งนี้ “สนามกีฬารังนก” เป็นผลงานออกแบบร่วมระหว่างบรรษัท Herzog and De Meuron Architekten AG แห่งสวิสเซอร์แลนด์ ผู้ชนะรางวัลสถาปนิกโลก Pritzker Prize และ China Architecture Design Institute เริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อปี 2547

คลิกอ่าน เยี่ยมยลนครปักกิ่งก่อนเปิดม่านโอลิมปิก ตอนที่ 2 “รังนก” “ลูกบาศก์น้ำ” สองขุนพลใหญ่รับศึกแข่งขันโอลิมปิก
กำลังโหลดความคิดเห็น