xs
xsm
sm
md
lg

จีน : ชาติร่ำรวยหรือยากจน…ปริศนาที่ยังไร้คำตอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จีนถูกมองเป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับ 1 ของโลกแซงหน้าสหรัฐ แต่จีนมองว่าตัวเองเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ยังต้องพัฒนาภาคการผลิตมากเพื่อแก้ปัญหาปากท้องและยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ประชาชน จึงไม่อาจลดการเผาผลาญพลังงานในโรงงานได้มากนัก
รอยเตอร์ – ความสำเร็จของการทำให้จีนเข้ามาช่วยแก้ปัญหาใหญ่ของโลก ทั้งปัญหาเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ขึ้นอยู่กับว่าเรามองจีนในฐานะใด มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ หรือประเทศกำลังพัฒนา

ในฐานะมหาอำนาจรายใหม่ จีนถือครองทุนสำรองสกุลเงินตราต่างประเทศมากถึง 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 70 ล้านล้านบาท) และยังถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อีก 1 ล้านล้านเหรียญ แต่ในฐานะประเทศกำลังพัฒนา จีนมีประชากรที่ยากจนในชนบทหลายร้อยล้าน จากจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1.3 พันล้านคน ส่วนรายได้ต่อหัวของจีนนั้น ธนาคารโลกได้จัดให้อยู่ในระดับเดียวกับประเทศแคเมรูน และกัวเตมาลา

สภาพการณ์เช่นนี้ ทำให้ เอสวาร์ ปราซาด นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล มองว่า การจัดทำนโยบายของจึนเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก “ไม่เคยมีตัวอย่างจากประเทศไหนมาก่อน ที่เศรษฐกิจอยู่ในระดับประเทศชั้นนำในโลก แถมยังมีบทบาทสำคัญต่อการค้าและการเงินของโลกอีกด้วย”

จากข้อมูลในปี 2550 ธนาคารโลกได้จัดให้จีนอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ระดับต่ำถึงกลาง โดยประชากรมีรายได้ต่อหัวต่อปีเท่ากับ 936-3,705 เหรียญสหรัฐฯ ขณะที่สหประชาชาติได้จัดให้ทุกประเทศในเอเชีย ยกเว้นญี่ปุ่น อยู่ในฐานะประเทศกำลังพัฒนา และจีนยังเป็นประเทศกำลังพัฒนาตามบรรทัดฐานของไอเอ็มเอฟด้วย

อย่างไรก็ตาม สตีฟ ดันอะเวย์ นักวิชาการจาก Council on Foreign Relations และอดีตหัวหน้าของไอเอ็มเอฟในประเทศจีน ได้วิจารณ์ว่า จีนต้องการมีปากมีเสียงเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก แต่เมื่อต้องพูดกันถึงช่วยอัดฉีดทุนให้แก่ไอเอ็มเอฟ ก็มักจะได้คำตอบว่าจีนยังมีรายได้ต่อหัวประชากรต่ำอยู่

ในปี 2550 จีนได้แซงหน้าเยอรมนีขึ้นมามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับสามของโลก รองจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น และนักเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่นบางรายยังมองว่า จีนจะแซงหน้าทุกประเทศขึ้นไปเป็นชาติเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกภายในปี 2557

ส่วนข้อโต้แย้งเรื่องการให้เงินสนับสนุนแก่สหประชาชาตินั้น ในบันทึกของสหรัฐฯ วิจารณ์ไว้ว่า จีนจ่ายเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณรายปีของสหประชาชาติ ขณะที่สหรัฐฯ จ่ายให้ 25 เปอร์เซ็นต์

และก่อนหน้าที่จะมีการประชุมสุดยอดชาติอุตสาหกรรมและชาติกำลังพัฒนา 20 ประเทศ หรือ จี-20 เมื่อ 2 เม.ย.ที่กรุงลอนดอน ผู้นำอาวุโสของจีน นายหวัง ฉีซัน (Wang Qishan) ได้ตอกย้ำข้อเรียกร้องให้เพิ่มบทบาทจีนในไอเอ็มเอฟ แต่ระบุว่า จำนวนเงินที่จีนจะบริจาคให้ไอเอ็มเอฟนั้น ควรอิงกับรายได้ต่อหัวของประชากรทั้งประเทศ ไม่ใช่ตัวเลขในทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ

ในที่สุด จีนก็ตกลงใจบริจาคให้ไอเอ็มเอฟจำนวน 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 1.4 ล้านล้านบาท) เพื่อให้นำเงินไปช่วยประเทศที่ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ พร้อมกับคำสัญญาว่าจะมีการปฏิรูปไอเอ็มเอฟเพื่อเปิดโอกาสให้จีนเข้าไปมีอิทธิพลในกองทุนมากขึ้น

ในการประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เมืองบอนน์ ประเทศเยอรมนี ที่จะมีขึ้นในเดือนนี้ โดยมี 175 ประเทศเข้าร่วมประชุม จีนได้เป็นผู้นำชาติกำลังพัฒนาเรียกร้องให้ชาติที่ร่ำรวยแล้วตกลงที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง โดยตัวแทนของจีน นายสี่ว์ หัวชิง ได้กล่าวแบบไม่อ้อมค้อมว่า ชาติที่ร่ำรวยแล้วควรเป็นฝ่ายลดการปล่อยก๊าซมากกว่า เพราะชาติที่ยากจนยังต้องพัฒนาภาคการผลิตมากเพื่อแก้ปัญหาปากท้องและยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ประชาชน ดังนั้น จึงไม่อาจลดการเผาผลาญพลังงานในโรงงานได้มากนัก

ด้านนักกฎหมายชาวจีน นายหยวน ซือ แห่งคณะกรรมการประจำสภาผู้แทนประชาชนของจีน ก็ได้แสดงความเห็นในกรุงวอชิงตัน เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของจีนนั้น ทำไปเพื่อการยังชีพ “รัฐบาลจีนมีสิทธิ์ที่จะทำให้ชาวจีนมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเพื่อทำให้เป้าหมายนั้นสำเร็จ จีนจำต้องบริโภคพลังงานมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นด้วย”

ขณะที่หลายฝ่ายมองว่าจีนกล่าวอ้างอย่างเห็นแก่ตัว แต่ นายแจ๊ค ชมิดต์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสภาพอากาศของสภาการป้องกันทรัพยากรธรรมชาติในสหรัฐฯ กลับมองว่า ข้อโต้แย้งของจีนมีเหตุผล และยังว่าผู้สร้างปัญหามากที่สุดคือชาติร่ำรวย เนื่องจากมีการใช้ส่วนแบ่งเกินกว่าควรจะเป็น

อย่างไรก็ตาม คู่แข่งด้านอุตสาหกรรมจากตะวันตกต่างคัดค้านความเห็นดังกล่าว โดยผู้บริหารอุตสาหกรรมเหล็กกล้าในสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลใช้กำแพงภาษีมาบีบ หากผู้ผลิตเหล็กกล้าจากจีนไม่ยอมทำตามข้อกำหนดของสหรัฐฯ เกี่ยวกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างเคร่งครัด

สถาบันทรัพยากรโลกได้คำนวณไว้ว่า ระหว่างปี ค.ศ. 1990-1999 สหรัฐฯ ปล่อยก๊าซคาร์บอน คิดเป็น 30.3 เปอร์เซ็นต์ ส่วนจีนปล่อยก๊าซคาร์บอนคิดเป็น 12.2 เปอร์เซ็นต์ แต่ในทศวรรษนี้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนของจีนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ขณะที่บรรยากาศของโลกกำลังทวีความร้อนขึ้น ข้อโต้แย้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็มีความร้อนแรงไม่แพ้กัน โดยชมิดต์มองว่า “ทั้งสองฝ่ายต่างโต้แย้งอย่างมีเหตุผล ขณะนี้สภาพอากาศเลวร้ายลง ภาวะโลกร้อนเลวร้ายลง และฝ่ายต่างๆ ที่โต้แย้งกันต่างก็วิตกกังวล ประเด็นตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่ใครปล่อยก๊าซ แต่อยู่ที่ว่าเราควรทำอะไร”

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์อย่าง เอสวาร์ ปราซาด มองว่า หากเราจะมองในเรื่องความก้าวหน้าของจีนและโลก การตั้งคำถามว่าจีนอยู่ตรงแถบสีไหนของการพัฒนา และอะไรคือข้อบังคับหรือข้อผ่อนผันสำหรับจีน ถือเป็นคำถามที่ผิด เพราะสิ่งที่ดีสำหรับจีน อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับโลกก็ได้

เรียบเรียงจาก : Rich China, poor China conundrum as clout grows จากรอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น