xs
xsm
sm
md
lg

อุตสาหกรรมรีไซเคิลแดนมังกรถึงคราวตกอับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระดาษเหลือใช้กองเป็นภูเขา รอให้นำกลับไปรีไซเคิล
ทุก ๆ เช้า เถียน เหวินกุ้ย จะออกจากบ้าน ที่เขาสร้างอยู่ใต้สะพานในกรุงปักกิ่ง หาบไม้คานซึ่งแขวนกระสอบใหญ่ 2 ใบ ใช้เวลาทั้งวัน จนพลบค่ำ ตระเวน คุ้ยถังขยะ หาขวดโซดา, ขวดเต้าเจี้ยว และขวดน้ำมันพืช เก็บไปขายให้ร้านรับซื้อของเก่าสำหรับนำไปรีไซเคิล ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในเมืองหลวง

ถ้าวันไหนโชคดี ขยะที่เก็บ สามารถสร้างรายได้ให้เถียน มากถึงวันละ 3 ดอลลาร์เลยทีเดียว

ทว่าวันที่โชคดีนั้นเกิดขึ้นได้ยากทุกที ในยุคที่อุตสาหกรรมรีไซเคิลมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ดิ่งหัวทิ่ม เพราะวิกฤตเศรษฐกิจโลก และสินค้าโภคภัณฑ์ราคาตกต่ำ ตอนนี้ขวดใช้แล้วขายได้แค่ครึ่งหนึ่งของจำนวนที่เคยขายได้ในช่วงฤดูร้อน

“แม้แต่ขยะก็กลายเป็นของไม่มีราคา” เถียนซึ่งอพยพมาจากมณฑลเสฉวน เล่าให้ฟัง ขณะมุ่งหน้าไปยังร้านรับซื้อของเก่า กระสอบใบใหญ่ของเขาโป่งจนแทบปริ

ความซบเซาของธุรกิจรีไซเคิล หรือธุรกิจรับซื้อของเก่า เพื่อนำไปผ่านกระบวนการ กลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ ส่งผลกระทบกับผู้คน ที่มีอาชีพเดียวกับเถียน ,พ่อค้าคนกลาง ที่รับซื้อของเก่า และโรงงาน ที่นำของเก่าไปผ่านกระบวนการ ผลิตเป็นสินค้า หมุนเวียนกลับไปขายตามร้านค้า หรือโครงการก่อสร้างทั่วโลก ขณะที่นักธุรกิจอเมริกันและยุโรป ซึ่งขายขยะสำหรับรีไซเคิลให้จีน พบว่า สินค้าของตนกำลังถูกลูกค้าปฏิเสธ

จีนรู้สึกถึงผลกระทบดังกล่าวได้อย่างชัดเจน เนื่องจากเป็นชาติผู้นำเข้าสิ่งของใช้แล้วรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยโฆษกของสมาคมรีไซเคิลทรัพยากรแห่งชาติของจีน (China National Resources Recycling Association) ระบุว่า เนื่องจากการบริโภคของจีนยังไม่พัฒนาเท่าชาติตะวันตก วัตถุดิบสำหรับป้อนอุตสาหกรรมรีไซเคิลของจีนจึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศถึงกว่าร้อยละ 70 ยกตัวอย่างสหรัฐฯ ส่งออกกระดาษเอกสาร และกระดาษแข็ง ที่ใช้แล้ว 11 ล้าน 6 แสนตันแก่จีนในปีที่แล้ว เพิ่มจาก 2 ล้าน 1 แสนตันในปี 2543

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา สิ่งของใช้แล้วมีราคาตกลงอย่างมาก จากการเปิดเผยของโฆษกสถาบันอุตสาหกรรมรีไซเคิลสิ่งของใช้แล้ว (Institute of Scrap Recycling Industries) ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทแปรรูปขยะของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่

สหรัฐฯ ส่งออกวัตถุดิบสำหรับการรีไซเคิลให้แก่ 152ประเทศ รวมเป็นมูลค่า 22,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2550 แต่ปัจจุบัน ทางสถาบันประเมินว่า ขยะรีไซเคิลของสหรัฐฯ มีมูลค่าลดลงราวร้อยละ 50-70

ขณะที่นักธุรกิจชาติตะวันตกรายอื่น ๆ กำลังปลุกปล้ำกับราคาของขยะรีไซเคิล ที่ตกลงถึงร้อยละ 50 และขยะกองสุมเป็นภูเขาเลากา

สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก เมื่อผู้นำเข้าของจีนกำลังเรียกร้องให้มีการเจรจาสัญญากันใหม่ และในบางกรณีกำลังปฏิเสธการรับสินค้าที่ส่งมา

“ยังมีตู้สินค้าอัดแน่นด้วยขยะอีกหลายตู้ทิ้งอยู่ที่ท่าเรือในฮ่องกง” โฆษกสมาคมรีไซเคิลทรัพยากรแห่งชาติของจีนเปิดเผย

“พูดยากว่าจะถูกเอาไปเมื่อไร”

จากข้อมูลของทางสมาคม ระบุว่า ตอนนี้ เศษทองแดง 1 ตัน ขายได้แค่ 3,000 ดอลลาร์จากราคาที่ขายได้กว่า 8,000 ดอลลาร์เมื่อปี 2550

ขณะที่เศษดีบุกขายได้ปอนด์ละ 5 ดอลลาร์ จากที่เคยขายได้ถึงปอนด์ละ 300 ดอลลาร์ ส่วนเศษกระดาษนั้น ไม่ต้องพูดถึง ราคาร่วงลงถึงร้อยละ 80
หญิงจีนนั่งอยู่ในสุสานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่งของจีน
ยุคของผลกำไรมหาศาลหมดลงแล้ว !

คนทำธุรกิจรับซื้อขยะรีไซเคิลของจีนทุกระดับกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาวิกฤต !

ครอบครัวของนายเกา จู๋เซียว์ เปิดร้านรับซื้อของเก่าเล็ก ๆ กลางกรุงปักกิ่ง ภายในห้อง ที่มีแสงสว่างสลัว เคยเต็มไปด้วยหม้อน้ำรถยนต์ที่เสียแล้ว, ขวดโซดา และกองหนังสือพิมพ์เก่า แต่เดี๋ยวนี้ ว่างเปล่าครึ่งห้อง

นายเกาเล่าว่า ในช่วงที่เฟื่องฟูตอนปี 2550 นั้น เขามีรายได้เกือบ 450 ดอลลาร์ต่อเดือน ตอนนี้ ได้ 80 ดอลลาร์ก็ถือว่าโชคดีแล้ว

“คนเค้ากำลังไม่ขายของเก่าให้เรา เพราะคิดว่าราคามันไม่เข้าท่า” นายเกาบอก

ในขณะที่เจ้าของโรงงานผู้ผลิตอีกหลายราย ที่ ดำเนินกระบวนการรีไซเคิล เช่นการรีไซเคิลเพื่อผลิตใยโพลีเอสเตอร์ และใยโพลีโพรพีลีนสำหรับการผลิตผ้า พบว่ากำลังอยู่ในธุรกิจนี้ลำบาก

คุณลั่ว กั๋วเลี่ยงผู้บริหารบริษัทเหยียน ซิน หลงฝู ในมณฑลซันตง เล่าว่าบริษัทเคยนำเข้าพลาสติกปริมาณ 1 ใน 3 จากต่างประเทศเมื่อปีที่แล้ว โดยซื้อเศษขวดพลาสติกเก่า ๆ ในราคาตันละ 1,200 ดอลลาร์ แต่เวลานี้ บริษัทจ่ายเงินเพื่อซื้อพลาสติกในปริมาณนั้นเพียงครึ่งเดียว ขณะที่ผู้จัดหาสินค้าป้อนภายในประเทศพากันปิดกิจการไปหลายราย ทำให้หาวัตถุดิบได้ยาก

แต่ปัญหาน่าวิตกยิ่งกว่านั้นสำหรับบริษัทก็คือทางการได้ประกาศห้ามโรงงานลอยแพคนงาน แม้ยอดขายสินค้าลดลงก็ตาม

และผู้ตกเป็นเหยื่อรายสุดท้ายของธุรกิจรีไซเคิลที่ซบเซาอาจเป็นสิ่งแวดล้อม !

ของเก่าที่เก็บไว้ตามที่ต่าง ๆ เพื่อรอการรีไซเคิล ที่ผ่านมา ก็มากพอที่จะเป็นภัยคุกคามสุขภาพมนุษย์อยู่แล้ว ขณะนี้ เมื่อไม่มีการนำไปรีไซเคิล ก็ยิ่งกองสุมพอกพูนมากกว่าเดิม นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และผู้เชี่ยวชาญการรีไซเคิลพากันวิตกผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลท้องถิ่นบางประเทศประหยัดงบประมาณด้วยการนำกระดาษที่ใช้แล้วในสำนักงาน และกระป๋องโซดา ที่ครั้งหนึ่ง เคยส่งออกไปขายต่างแดน มาฝังดินแทน

หญิง วัย 36 ปีคนหนึ่ง อาศัยในหมู่บ้านปาเจียชุน ซึ่งสร้างอยู่บนกองขยะแถบชานกรุงปักกิ่ง เล่าถึงชะตากรรม ที่ตกอับของพวกเก็บของเก่าขาย สำหรับครอบครัวเธอนั้น เคยมีรายได้เดือนละ 735 ดอลลาร์ เดี๋ยวนี้หดหายเหลือแค่ 360 ดอลลาร์

“ตอนนี้จีนมีขยะล้นเหลือเกินกว่าจะสามารถย่อยสลายได้ แล้วเรายังต้องการขยะจากอเมริกาอีกหรือ?” เธอกล่าว ขณะกำลังเลือกเศษกระดาษ ที่เขียนโคลงกลอนของท่านประธานเหมา เจ๋อตง




แปลและเรียบเรียงจาก “ China’ s Big Recycling Market Is Sagging” ของนิวยอร์กไทมส์
กำลังโหลดความคิดเห็น