xs
xsm
sm
md
lg

โอบามาจี้เปลี่ยนนโยบายการค้า มุ่งมาตรฐานสิ่งแวดล้อม-แรงงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บารัค โอบามา ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
เอเอฟพี - บารัค โอบามา ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่าเขาจะเปลี่ยนนโยบายด้านการค้าครั้งใหญ่ โดยหันไปให้ความสำคัญกับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงาน เพื่อป้องกัน “การแข่งขันกันในทางตกต่ำ” ซึ่งแม้จะเป็นนโยบายที่ก้าวหน้าแต่ก็อาจสร้างความสับสนให้กับเวทีเจรจาการค้าโลกได้ อีกทั้งยังอาจกลายเป็นข้อแก้ตัวให้กับลัทธิกีดกันทางการค้าด้วย

“ประธานาธิบดีคนใหม่จะเผชิญกับแรงกดดันทางการเมืองในประเด็นการกีดกันทางการค้าสูงกว่าผู้นำสหรัฐฯ คนอื่นๆ นับตั้งแต่ปี 1930 เป็นต้นมา” คริสเฟอร์ แพดิลลา ปลัดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ซึ่งกำลังจะอำลาตำแหน่งหลังรัฐบาลชุดใหม่เข้ารับหน้าที่อย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม 2009 กล่าวและเสริมว่า

“การรับมือกับแรงกดดันดังกล่าวนี้ของโอบามาจะเป็นตัวกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งอัตลักษณ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไปอีกชั่วอายุคนทีเดียว”

ทั้งนี้ แม้ว่า โอบามา จะแต่งตั้งผู้สนับสนุนการค้าเสรีอย่าง บิล ริชาร์ดสัน เป็นรัฐมนตรีพาณิชย์ และ รอน เคิร์ก เป็นผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) แล้ว แต่แนวทางเรื่องการค้าเสรีของผู้นำทำเนียบขาวคนใหม่ก็ยังเป็นที่สงสัย เพราะพรรคเดโมแครตนั้นได้รับการสนับสนุนอย่างเหนียวแน่นจากสหภาพแรงงาน และยังคัดค้านข้อตกลงการค้าเสรีกับโคลอมเบียและเกาหลีใต้ที่ลงนามไปในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ด้วย ดังนั้น ข้อตกลงการค้าต่างๆ คงไม่มีทางผ่านความเห็นชอบของคองเกรสได้ง่ายๆ เนื่องจาก ส.ส.ของเดโมแครต ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่จะต้องคัดค้าน

ในการแถลงข่าวแต่งตั้งเคิร์กที่ชิคาโกเมื่อวันศุกร์ (19) โอบามา กล่าวว่า ความสำเร็จของธุรกิจอเมริกันนั้นขึ้นอยู่กับ “การค้าที่เข้มแข็งจริงจังและการเปิดประตูให้กับสินค้าอเมริกัน” ดังนั้น ข้อตกลงต่างๆ ที่เขาจะลงนาม “จะต้องจัดทำขึ้นโดยไม่เพียงเห็นแก่ผลประโยชน์ของบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและผู้ใช้แรงงานทั้งหมดเป็นสำคัญด้วย”

โอบามา บอกอีกว่า เคิร์ก นั้น “มองเห็นความหวังในเรื่องการค้า แต่เขาก็เห็นหลุมพรางต่างๆ ด้วยเช่นกัน และเขายังรู้ว่าไม่มีอะไรที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างการสนับสนุนการค้าเสรีกับการสนับสนุนคนงานอเมริกัน”

“รอนจะเข้ามารับผิดชอบในการสร้างความมั่นใจว่า จะมีการตอบแทนซึ่งกันและกันอย่างเท่าเทียมในข้อตกลงการค้าของเราทั้งหมด”

โอบามา บอกว่า แนวคิดเรื่องการตอบแทนซึ่งกันและกันนี้ นอกจากจะใช้กับการค้าสินค้าต่างๆ แล้ว ยังขยายไปสู่ “ประเทศคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย โดยเราจะใช้ข้อตกลงที่สนับสนุนสิ่งแวดล้อมและแรงงานเพื่อที่เราจะไม่ต้องแข่งขันกันในทางตกต่ำ แต่เป็นการยกระดับมาตรฐานการครองชีพของผู้ใช้แรงงานทั้งหมด”

ปัจจุบัน เคิร์ก ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองดัลลัส มลรัฐเทกซัส เขาเป็นผู้สนับสนุนข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) และมุ่งเร่งการค้าขายบริเวณแนวชายแดนติดกับเม็กซิโก ซึ่งเขาเห็นว่าเป็น “เส้นทางการค้าที่แท้จริงระหว่างสองประเทศ” แต่เขาก็ต้องเผชิญกับภารกิจที่ยุ่งยากในการสร้างสมดุลของผลประโยชน์ให้แก่ทั้งภาคธุรกิจ สหภาพแรงงาน และประเทศชาติ

“ผมมีความเห็นเช่นเดียวกับท่านประธานาธิบดี (บุช) ที่ว่าการค้าสามารถช่วยสร้างงานในประเทศและสนับสนุนการพัฒนาในต่างประเทศด้วย” เคิร์ก กล่าว

“และผมก็มีความเห็นเช่นเดียวกับท่านว่าที่ประธานาธิบดีโอบามา ผมเชื่อว่า วาระที่ผลักดันด้วยคุณค่าต่างๆ ซึ่งยืนยันความจริงใจต่อพันธกิจของเราที่มีต่อคนงานของอเมริกาและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่สิ่งที่สอดคล้องกับวาระทางการค้าเท่านั้น แต่ยังจำเป็นต่อความสำเร็จทางการค้าด้วย”

คาดหมายกันว่า เคิร์ก ยังต้องเผชิญกับปัญหาท้าทายในเรื่องการหาทางเปิดตลาดในจีนให้มากขึ้นกว่าเดิมและต้องดูแลประเด็นอ่อนไหวในเรื่องการยืนยันปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาด้วย

ทั้งนี้ โอบามา ให้คำมั่นว่าจะเอาจริงในเรื่องนโยบายเงินตราของจีน ซึ่งเหล่าส.ส.ของสหรัฐฯ เห็นว่าการที่ปักกิ่งจงใจทำให้ค่าเงินของตนอ่อนกว่าความเป็นจริง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีน

นอกจากนั้น เคิร์ก ยังต้องปรับปรุงข้อตกลงการค้าอีกหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นนาฟตาซึ่งโอบามาต้องการให้มีการเปิดเจรจากันใหม่เพื่อปกป้องตำแหน่งงานของสหรัฐฯ และข้อตกลงการค้ากับเกาหลีใต้ ซึ่งโอบามาต้องการให้ผู้ผลิตรถยนต์สหรัฐฯ เข้าสู่ตลาดเกาหลีใต้ได้มากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น