เอเจนซี – นักเศรษฐศาสตร์หวั่นวิตกภาวะกำลังผลิตล้นเกินในบางอุตสาหกรรมของจีน ตั้งแต่เหล็กกล้าไปจนถึงปิโตรเคมี เหตุแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลหนุนการลงทุนขนาดใหญ่ ระบุจีนส่งสินค้าที่มีการผลิตล้นเกินไปยังสหรัฐฯ และอียู อาจทำให้ความขัดแย้งทางการค้า
“จีนกำลังเจอปัญหากำลังผลิตล้นเกินในอุตสาหกรรมบางกลุ่ม และการที่รัฐบาลไปส่งเสริมการลงทุนเพราะอยากให้บริษัทดำเนินกิจการต่อไปได้ ก็ยิ่งจะส่งผลเสียต่อรากฐานอุตสาหกรรมในอนาคต” นั่นคือความเห็นจาก นายเจอร์ก วุทเค่ ประธานหอการค้าสหภาพยุโรปในจีน ที่ได้กล่าวด้วยว่า ทางการจีนประเมินปัญหาการผลิตล้นเกินต่ำเกินไป เพราะมัวแต่มุ่งเน้นไปที่การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้น
จีนเป็นประเทศผู้ผลิตเหล็กกล้ารายใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นผู้ผลิตยานยนต์เป็นรายใหญ่อันดับสามของโลก ปัจจุบันกำลังผลิตใน 2 อุตสาหกรรมนี้ และอุตสาหกรรมอื่นๆ มีเกินความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ
ข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรมของจีน ระบุว่า ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียมที่ผลิตได้แต่ไม่มีการนำมาใช้มีอยู่ 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผลิตภัณฑ์แผ่นกระจกที่ไม่มีการนำมาใช้มี 20 เปอร์เซ็นต์ และผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ที่ไม่มีการนำมาใช้มีถึง 70 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจีนทุ่มเม็ดเงินลงไป 4 ล้านล้านหยวนเพื่อโครงการลงทุนต่างๆ สามารถแก้ปัญหาได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เช่นการส่งเสริมให้มีการก่อสร้างสาธารณูปโภค ได้ช่วยเพิ่มความต้องการในผลิตภัณฑ์เหล็กขณะเดียวกัน การที่ธนาคารเร่งอนุมัติเงินกู้ให้แก่โครงการใหญ่ๆ เช่น โรงงานปิโตรเคมี จะทำให้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจจบลงด้วยการเพิ่มกำลังผลิต
ในเรื่องนี้ หู อี้ฝาน หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทหลักทรัพย์ Citic ในฮ่องกง กล่าวว่า “แผนกระตุ้นเศรษฐกิจจะทำให้เกิดสภาพการผลิตล้นเกิน ดังนั้น รัฐบาลจีนจะต้องเร่งส่งเสริมความต้องการภายในประเทศ เพราะดูเหมือนว่าตลาดโลกจะไม่สามารถดูดซับกำลังผลิตที่ล้นความต้องการของจีนได้อีก”
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งก็ระมัดระวังที่จะวิจารณ์ ว่าในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้กำลังผลิตจะมีล้นเกินในระยะยาว เพราะเห็นว่าผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในบางโรงงาน จะนำกลับมาใช้อีกครั้งเมื่อความต้องการของตลาดฟื้นกลับขึ้นมา
“ในภาวะเศรษฐกิจขาลงอย่างนี้ มันเป็นเรื่องธรรมดาที่กำลังผลิตจะมีเกินความต้องการของตลาด เศรษฐกิจเกือบทุกภาคส่วนต่างก็เจอปัญหากำลังผลิตล้นตลาดทั้งนั้น” นายเหวิน เซิง เผิง นักเศรษฐศาสตร์จาก Barclays Capital ระบุ
ช่วงไม่กี่ปีมานี้ การขยายตัวของอุตสาหกรรมในประเทศจีนมีมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และการขยายตัวของลงทุนก็มีมากกว่าประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในยุคพัฒนาอุตสาหกรรมเสียอีก การลงทุนจำนวนมหาศาลเช่นนี้อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนมีมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์หลายคนได้กล่าวเตือนว่า ในยุคที่ชาวอเมริกันหันมาออมเงินกันมากขึ้นและใช้จ่ายกันน้อยลง จีนจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับการส่งออกที่น้อยลงด้วย แต่จนถึงขณะนี้รัฐบาลจีนก็ยังไม่มีความพยายามที่จะปิดโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่จำเป็น
แม้กฎหมายล้มละลายของบริษัทจะบังคับใช้แล้วตั้งแต่ปี 2550 แต่นักกฎหมายต่างเห็นว่า มีการนำกฎหมายนี้มาใช้น้อยมาก ส่วนใหญ่รัฐบาลจะใช้วิธีเจรจาเพื่อแก้ปัญหา เพื่อให้โรงงานเหล่านั้นยังคงมีการจ้างงานต่อไป
พร้อมๆ กับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลจีนได้ผลักดันแผน “ปรับโครงสร้างและฟื้นฟู” อุตสาหกรรมหนัก โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่กำลังผลิตล้นตลาด และเร่งโละอุตสาหกรรมการผลิตที่ล้าหลัง
แต่แผนการดังกล่าว ดูเหมือนจะไม่ครอบคลุมถึงการลดกำลังผลิตในอุตสาหกรรมหลักๆ อย่างเช่นอุตสากรรมผลิตเหล็กกล้า ที่มีกำลังผลิตถึง 660 ล้านตันในปี 2551 แต่มีการนำไปใช้ประโยชน์เพียง 500 ล้านตัน แผนที่ร่างไว้สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กกล้าคือเรียกร้องให้ลดกำลังผลิตลงอีก 25 ล้านตันภายในปี 2554
มันเป็นเรื่องเข้าใจได้ที่ผู้นำของจีนจะช่วยอุ้มอุตสาหกรรมหลักของประเทศไว้ และลังเลที่จะเดินตามสหรัฐฯ ที่ปล่อยให้อุตสาหกรรมรถยนต์ประสบภาวะล้มละลาย โดยขณะนี้จีนก็มีความกังวลเกี่ยวกับภาคธุรกิจรถยนต์เช่นกัน เพราะในแต่ละปีจีนสามารถผลิตรถยนต์ได้ถึง 12 ล้านคัน แต่ในปี 2551 รถยนต์ของจีนขายออกเพียง 9.37 ล้านคัน
แม้ว่ารัฐบาลจีนมีแผนที่จะสนับสนุนการควบรวมกิจการของผู้ผลิตรถยนต์ แต่ก็ไม่เคยเรียกร้องให้ผู้ผลิตลดกำลังผลิตลง แถมยังสนับสนุนให้รวมกิจการเพื่อทำให้บริษัทรถยนต์มีขนาดใหญ่ขึ้น