xs
xsm
sm
md
lg

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในศึกขัดแย้งจีน-ทิเบต 50 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไฟล์ภาพเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ปี 2502 องค์ทะไล ลามะกำลังให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวในที่พำนักของพระองค์ ที่เบอร์ลา เฮาส์ ในเมืองมัสซูรี่ (Mussoorie) ประเทศอินเดีย


องค์ทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณของชาวทิเบต

อุณหภูมิศึกเผชิญหน้าระหว่างผู้นำจีนและชนชาติทิเบต ทวีความร้อนแรงอย่างน่ากลัว ขณะที่จีนระดมกำลังพร้อมรับสถานการณ์อันไม่พึงปรารถนาโดยจีนวิตกหนักว่ากลุ่มเคลื่อนไหวอิสรภาพหรือกลุ่มลัทธิแบ่งแยกดินแดนว่าอาจใช้โอกาสครบรอบ 50 ปีของการลุกฮือต่อต้านอำนาจ เปิดฉากเคลื่อนไหวอิสรภาพดินแดน นับเป็นสัปดาห์แห่งความอ่อนไหว และล่อแหลมต่อสันติภาพโลก

ในโอกาสนี้ “มุมจีน” ขอเสนอลำดับเหตุการณ์สำคัญของความขัดแย้งเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ที่จุดชนวนการปะทะรุนแรงอันน่าเศร้าสลดมาถึงวันนี้ นับจากวันที่ผู้นำส่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีนเข้าสู่ดินแดนพุทธศาสนาทิเบตบนหลังคาโลกในปี พ.ศ. 2493 (1950)

ตุลาคม 2493- กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งชาติจีนยาตราทัพเข้าทิเบต และบดขยี้กลุ่มต่อต้านชนชาติทิเบตที่จับอาวุธขึ้นสู้ได้อย่างง่ายดาย

รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนประกาศปฏิบัติการดังกล่าว เป็นการ “ปลดแอก” ทิเบตจากระบอบศักดินา และสังคมทาส โดยมีกลุ่มศาสนาเป็นชนชั้นปกครอง และประชาชนทั่วไปเป็น “ทาส”ขณะที่รัฐบาลทิเบตพลัดถิ่นในเมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย เรียกการกระทำของจีนนี้ ว่า เป็น “การรุกราน”

พฤษภาคม 2494- ผู้แทนทิเบตลงนามข้อตกลงที่กรุงปักกิ่ง กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวระบุอธิปไตยจีนครอบคลุมเหนือดินแดนทิเบต กลุ่มทิเบตพลัดถิ่นได้เผยในภายหลังว่าการลงนามนี้ เป็นไปเพราะแรงกดดัน

มีนาคม 2502 – ศึกลุกฮือต่อต้านการปกครองของจีนโดยชนชาติทิเบต ระเบิดขึ้นในกรุงลาซา จีนประกาศกฎอัยการศึก กลุ่มรัฐบาลทิเบตพลัดถิ่นเผยว่า มีผู้เสียชีวิตนับหมื่นคนระหว่างการปราบปรามของจีนครั้งนั้น

31 มีนาคม 2502 – ทะไล ลามะที่ 14 ได้เดินทางมาถึงอินเดีย หลังจากที่การลุกฮือต่อต้านอำนาจจีนล้มเหลว รัฐบาลอินเดียได้รับรองการลี้ภัยทางการเมืองแก่ทะไล ลามะในวันที่ 3 เมษายน

ปี 2508- รัฐบาลจีนประกาศจัดตั้งเขตปกครองตนเองชนชาติทิเบตอย่างเป็นทางการ ซึ่งเขตปกครองตัวเองนี้ ครอบคลุมพื้นที่ราวครึ่งหนึ่งของดินแดนทิเบตที่ยอมรับกันมาโดยประเพณี ส่วนพื้นที่ของชนชาติทิเบตแห่งอื่นๆก็ผนวกเข้ากับมณฑลต่างๆของจีน ได้แก่ ชิงไห่ หยุนหนัน และซื่อชวน (เสฉวน)

ปี 2531- หู จิ่นเทา (ประธานาธิบดีจีนในปัจจุบัน) ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนเขตปกครองตนเองชนชาติทิเบต และรับผิดชอบการการปราบปรามในดินแดน

มกราคม 2532- ปันเชน ลามะ ที่ 10 ผู้นำทางจิตวิญญาณสูงสุดอับดับ 2 รองจากทะไล ลามะ ได้ใช้ชีวิตหลายปีในกรุงปักกิ่ง มรณภาพอย่างกะทันหัน หลังจากที่ได้วิจารณ์การปกครองของรัฐบาลจีน

มีนาคม 2532 -เกิดเหตุการณ์วุ่นวายในกรุงลาซาในวาระครบรอบ 30 ปี แห่งการลุกฮือต่อต้านอำนาจจีน กลุ่มทิเบตพลัดถิ่นระบุมีผู้เสียชีวิตระหว่างการปราบปรามของจีน จำนวนหลายสิบคน หรืออาจเป็นร้อย

ตุลาคม 2532- องค์ทะไล ลามะ ที่14 ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ จากการต่อสู้เพื่ออิสรภาพจากจีน ท่ามกลางความไม่พอใจของผู้นำจีนซึ่งได้ประกาศเขตปกครองตนเองทิเบต เป็น “ดินแดนศักดิ์สิทธ์” แห่ง มาตุภูมิ

14 พฤษภาคม ปี 2538- ทะไล ลามะ คัดเลือก เกดุน โชกี นีมะ วัย 6 ขวบ เป็นปันเชนลามะที่ 11 พลันจีนก็ได้แต่งตั้งเด็กชายอีกคนเป็นปันเชนลามะที่ 11 เกดุนและครอบครัวได้หายสาบสูญในเวลาต่อมา กลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่าเขาถูกจีนคุมขังและอาจเสียชีวิต ขณะที่รัฐบาลจีนแถลงเกดุน อยู่ภายใต้ความดูแลของทางการจีน

10 มีนาคม 2551- ลามะและชาวทิเบตทั่วโลกพร้อมใจกันประท้วงจีนในวาระครบรอบ 49 ปีเหตุการณ์การลุกฮือต่อต้านอำนาจจีน

14 มีนาคม 2551- เกิดจลาจลครั้งใหญ่กลางกรุงลาซา และขยายสู่เขตชุมชนทิเบตในบรรดามณฑลเพื่อนบ้านของจีน โดยรัฐบาลพลัดถิ่นแถลงมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 ชีวิตระหว่างปฏิบัติการปราบปรามของกองกำลังจีน ขณะที่ทางการจีนระบุว่าเจ้าหน้าที่สังหาร “ผู้ก่อการลุกฮือ” 1 คน และการเสียชีวิตของผู้คนอีก 21 คนนั้น เป็นความรับผิดชอบของ “กลุ่มก่อการจลาจล” .


ภาพ โดยสำนักข่าวเอเอฟพี
ไฟล์ภาพจากเหตุการณ์ในเดือนเมษายน ปี 2502 แสดงให้เห็นถึงชาวทิเบตจำนวนมากรวมตัวกัน ณ ที่แห่งหนึ่ง ในเขตปกครองตนเองทิเบต (ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นที่ใด) เมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรีชวาฮาล เนรูห์แห่งอินเดียประกาศรับรองการลี้ภัยทางการเมืองแก่ทะไล ลามะอย่างเป็นทางการ
ไฟล์ภาพเมื่อวันที่ 7 ปี 2502 องค์ทะไล ลามะคล้องผ้าให้กับชวาฮาล เนรูห์ นายกรัฐมนตรีแห่งอินเดียในโอกาสที่ทรงเข้าพบผู้นำอินเดียเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่พระองค์มาอาศัยอยู่ในประเทศในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง
ไฟล์ภาพเมื่อวันที่ 11 เมษายน ปี 2502 ทหารจากกองทัพจีนอ่านแถลงต่อชาวทิเบตด้านหน้าพระราชวังโปตะลา ในกรุงลาซา เมืองเอกของเขตปกครองตนเองทิเบต หลังจากที่กลุ่มผู้ต่อต้านชาวทิเบตลุกฮือประท้วงอำนาจจีน
ไฟล์ภาพในเดือนเมษายน ปี 2502 ลามะในทิเบตหลายรูปถูกห้อมล้อมด้วยทหารจากกองทัพปลดแอกของจีน ซึ่งถูกบังคับให้วางอาวุธหลังจากการลุกฮือต่อต้านอำนาจจีนล้มเหลว สถานที่เป็นภูเขาแห่งหนึ่งในทิเบต แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นที่ใด
ลามะทิเบตหลายรูปเข้าร่วมประชุมสวดมนต์ซึ่งจัดที่หน้าวังที่ประทับขององค์ทะไล ลามะในเมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 ก่อนที่จะล่วงเข้าสู่วันที่ 10 มีนาคม วันครบรอบ 50 ปี แห่งการลุกฮือต่อต้านอำนาจจีน
พุทธศาสนิกชนชาวทิเบตนางหนึ่งถือลูกประคำขณะที่เธอกำลังสวดมนต์ที่สถูปโบดะนาถ ประเทศเนปาล เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 ซึ่งเป็นที่ตั้งชุมชนชาวทิเบตแหล่งสำคัญในเนปาล ขณะที่ทางการในเนปาล ต้องเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยอย่างเต็มที่ ในบริเวณสถานทูตจีนประจำเนปาล รวมถึงบริเวณโบดะนาถและกาฐมาณฑุเมืองหลวงของเนปาล ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการประท้วงของชาวทิเบต
ชาวทิเบตหลายร้อยคนเข้าร่วมการสวดมนต์ที่ด้านหน้าที่ประทับขององค์ทะไลลามะ ในเมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552
ลามะทิเบตหลายรูปเข้าร่วมประชุมสวดมนต์ซึ่งจัดที่หน้าวังที่ประทับขององค์ทะไล ลามะในเมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 ก่อนที่จะล่วงเข้าสู่วันที่ 10 มีนาคม วันครบรอบ 50 ปี แห่งการลุกฮือต่อต้านอำนาจจีน
องค์ทะไล ลามะ เสด็จเป็นประธานในงานสวดมนต์ที่จัดขึ้น ณ ที่ประทับในเมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552
ลามะทิเบตในเมืองซีหนิง มณฑลชิงไห่ นั่งอยู่บนพื้น ขณะที่ผู้แสวงบุญเดินทางมาสวดมนต์ที่อารามคุมบุม เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2552
ลามะทิเบตยืนอยู่ด้านหลังของกระบอกมนต์ที่อารามคุมบุม เมืองซีหนิง มณฑลชิงไห่ ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2552
พุทธศาสนิกชนทิเบตในเมืองซีหนิงกำลังหมุนกระบอกมนต์ในอารามคุมบุม เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2552
บรรยากาศที่ด้านหน้าที่ประทับขององค์ทะไล ลามะ ในเมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2552
องค์ทะไล ลามะแถลงต่อที่ประชุมซึ่งมีคณะผู้แทนทิเบตที่มาเข้าร่วมเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2552 ในที่ประทับ ในเมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย
กำลังโหลดความคิดเห็น