xs
xsm
sm
md
lg

ซัพพลายเออร์ในจีนเจอพิษศก. หันหลังให้วงการ-จับธุรกิจอื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศในโรงงานผลิตแว่นตาแห่งหนึ่งของจีน
เอเจนซี่ – ความหวังของจีนที่จะเร่งฟื้นฟูธุรกิจส่งออกท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลก อาจถูกบั่นทอนด้วยการปิดตัวลงของบรรดาซัพพลายเออร์ที่ไม่อาจเอาตัวรอดจากวิกฤต “ไพรซ์ วอเตอร์ฯ” คาด บริษัทเล็กๆ 6.7 แสนแห่งจะต้องปิดตัวลงเพราะปัญหาเศรษฐกิจ ส่วนบริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยง “โครลล์” เผย มีซัพพลายเออร์จำนวนมากหนีหน้าจากวงการและหันจับธุรกิจอื่น

นอกจากการล้มครืนของตลาดสินค้าในประเทศตะวันตกจะสั่นคลอนเศรษฐกิจจีนแล้ว ภาวะล้มละลายยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่สร้างความเสี่ยงต่อธุรกิจส่งออกของจีน ทุกภาคส่วนตั้งแต่ซัพพลายเออร์ไปจนถึงบริษัทที่ส่งออกผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ล้วนตกอยู่ในความเสี่ยงนี้

บรรดาผู้ส่งออกในจีนกำลังเจอกับปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้น และต้องตรวจสอบกับบรรดาซัพพลายเออร์ตลอดเวลา การที่บริษัทที่ติดต่อธุรกิจด้วยมีสภาพการเงินที่ย่ำแย่ได้ส่งผลต่อบริษัทส่งออกไปด้วย บางครั้งทำให้การส่งสินค้าไปต่างประเทศล่าช้าไป

“วิกฤตด้านการเงินทำให้เกิดสภาพไร้การแข่งขัน ถ้าผู้ส่งออกในจีนไม่สามารถขายสินค้าให้แก่บริษัทในฮ่องกงได้ ฮ่องกงก็จะไม่มีสินค้าส่งไปขายตามห้างสรรพสินค้าในต่างประเทศ ธุรกิจทุกส่วนก็จะได้รับผลกระทบ มันเป็นผลกระทบแบบโดมิโน” นั่นเป็นความเห็นของ นายซัทปาล โกบินด์ปุรี จากบริษัทกฎหมาย ดีแอลเอ ในฮ่องกง

ด้านบริษัทไพรซ์ วอเตอร์ เฮ้าส์ ได้ประมาณการว่า จะมีบริษัทขนาดเล็ก 6.7 แสนแห่งทั่วประเทศจีนจะต้องปิดตัวลงเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ

รายงานที่ออกมาเมื่อวันพุธ (4 มีนาคม) ระบุว่า ในเดือนกุมภาพันธ์สินค้าที่ผลิตจากโรงงานและออร์เดอร์สินค้ามีเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังจากที่ยอดผลิตสินค้าและออร์เดอร์ตกลงมากว่า 4 เดือนแล้ว ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ยังไม่กล้าฟันธงว่านี่คือสัญญาณการฟื้นตัว

ในช่วงหลายเดือนมานี้ บริษัทหย่ง เฟิง จากฮ่องกง ซึ่งมีฐานผลิตแว่นตาและกรอบแว่นอยู่ในเมืองเซินเจิ้นเปิดเผยว่า ยอดขายของบริษัทลดลง 25 เปอร์เซ็นต์ โดยตลาดส่งออกของบริษัทนี้คือ ประเทศอิตาลีและสหรัฐฯ

นายเรย์มอนด์ ชาน ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจของบริษัทหย่ง เฟิง ระบุว่า การล้มละลายของบรรดาซัพพลายเออร์ ทำให้บริษัทหย่ง เฟิง เกิดความเสี่ยงไปด้วย

การที่ซัพพลายเออร์ที่เคยส่งวัตถุดิบให้หย่ง เฟิง ประสบปัญหาจนต้องแยกตัวออกไป ทำให้บริษัทต้องดิ้นรนหาซัพพลายเออร์รายใหม่ที่ผลิตสินค้าคุณภาพใกล้เคียงกัน จนส่งผลให้การส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ ต้องล่าช้าออกไป และยังส่งผลต่อความเชื่อถือของลูกค้า “ความตรงต่อเวลาในการส่งสินค้าถือว่าสำคัญมากต่อการแข่งขันทางธุรกิจ” นายชางกล่าว

เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา บริษัทหย่ง เฟิง ได้หยุดทำธุรกิจกับซัพพลายเออร์จำนวน 1 ใน 3 จากที่มีอยู่ โดยตัดซัพพลายเออร์ที่มีปัญหาการจ่ายเงินล่าช้าออกไป และยังขยายเครดิตให้แก่ซัพพลายเออร์ที่ค้าขายกันมานาน และรายที่น่าเชื่อถือที่มีปัญหาการเงินในระยะสั้น
ภาพการ์ตูนล้อเลียนสถานการณ์ลูกจ้างถูกลอยแพ
ปัญหาที่เกิดขึ้นในจีนขณะนี้ก็คือ มีบริษัทเล็กๆ จำนวนมากได้ปิดกิจการหนี ในทางกฎหมายทำได้เพียงติดใบแจ้งความไว้หน้าประตูโรงงาน ขณะที่ลูกค้าต้องถูกปล่อยทิ้งโดยไม่มีวี่แววว่าจะได้เงินคืน หรือได้สินค้าที่สั่งไว้

“บรรดาผู้ประกอบการเหล่านั้นคงไม่กลับมาเปิดกิจการอีกแล้ว เพราะเขามองไม่เห็นทางว่าจะหาเงินที่ไหนมาจ่ายสินเชื่อ และจ่ายค่าคนงาน” โกบินด์ปุรี นักกฎหมายจากฮ่องกงกล่าว

ในเรื่องนี้ โครลล์ บริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยง ชี้แจงว่า การตรวจสอบบรรดาซัพพลายเออร์จะมีมากขึ้น เพราะสิ่งที่ปรากฎขณะนี้ก็คือ คนงานไม่ได้รับค่าแรง แถมยังถูกให้ออกจากงาน เกิดความล่าช้าในการส่งสินค้า และซัพพลายเออร์หลายรายหันไปทำธุรกิจอื่น

“การที่บรรดาซัพพลายเออร์หันไปจับธุรกิจอื่น เพราะพวกเขามีเหตุผลส่วนตัว และนั่นหมายความว่าลูกค้าไม่ใช่คนสำคัญที่สุดสำหรับเขาอีกแล้ว” นั่นเป็นความเห็นของ นายแจ๊ค โคลด กรรมผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบธุรกิจจากโครลล์

นายโคลด ยังบอกด้วยว่า ปีนี้การปิดตัวลงของบริษัในจีนจะมีสูงขึ้น เพราะการสั่งสินค้าจากประเทศตะวันตกมีน้อยลง และความตึงเครียดด้านการเงินจะทำให้บรรดาซัพพลายเออร์ลดความยุ่งยากด้วยการขายวัตถุดิบราคาถูก

สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็คือ บรรดาผู้ประกอบการชาวจีนเริ่มกังวลถือสถานภาพของลูกค้าในแถบตะวันตก และถือเป็นครั้งแรกที่บริษัทที่ปรึกษาอย่าง “โครลล์” ถูกขอร้องจากบริษัทในประเทศจีนเพื่อให้ตรวจสอบสถานภาพของลูกค้าในประเทศตะวันตกให้

“บริษัทหลี่ แอนด์ เฟิง (Li & Fung) เริ่มทำการตรวจสอบแล้ว” นายโคลด กล่าวและว่า บริษัทหลี่ แอนด์ เฟิง ที่มีฐานอยู่ในฮ่องกงนั้นถือเป็นบริษัทระดับโลกที่หุ้นในตลาดมีราคาสูง โดยบริษัทนี้เป็นผู้ส่งสินค้าให้แก่ห้างวอล-มาร์ต และยังเป็นผู้ให้เครดิตรายใหญ่สำหรับ เคบี ทอยส์ ซึ่งเคยผู้ค้าปลีกสินค้าของเด็กเล่นชั้นนำในสหรัฐฯ เมื่อเคบี ทอยส์ ถูกฟ้องล้มละลายเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ก็ยังติดหนี้บริษัทหลี่ แอนด์ เฟิง อยู่ถึง 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

บริษัทหย่ง เฟิง จากฮ่องกง ก็เจอชะตากรรมเดียวกัน เมื่อผู้ขายส่งแว่นตาในประทศอิตาลีเลิกกิจการไปอย่างกระทันหัน ทำให้บริษัทไม่ได้รับเงินค่าสินค้า และทางหย่ง เฟิง ยังคาดหวังว่า สักวันหนึ่งบริษัทจะได้เงินจำนวนนั้นคืนมา

แม้ว่าการล้มละลายของบรรดาบริษัททั้งหลายจะเพิ่มความเสี่ยงให้แก่ธุรกิจในจีน แต่จีนก็ยังไม่สูญเสียสถานภาพการเป็นศูนย์กลางสินค้าราคาถูก และหลายๆ บริษัทก็หันไปเน้นตลาดขนาดใหญ่ภายในประเทศแทนการส่งออก

ผลการสำรวจของบริษัทที่ปรึกษาของสหรัฐฯ บูซ แอนด์ โค (Booz & Co.) ที่เปิดเผยในสัปดาห์นี้ ระบุว่า ในจำนวนบริษัทที่ตอบคำถามทั้งหมด 108 แห่งมี 90 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าจะไม่ย้ายบริษัทออกจากประเทศจีน โดยจำนวนเปอร์เซ็นต์มีเพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อปีที่แล้ว ที่ 83 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทตอบคำถามบอกว่าจะไม่ย้ายออกจากจีน โดยผู้บริหารบริษัทที่ทำการสำรวจ บอกว่า ตลาดภายในของจีนเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้บริษัทเหล่านี้ดำเนินกิจการในจีน

ก่อนหน้านี้ บริษัทอินเทล ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์รายใหญ่ ได้ประกาศว่าจะปิดโรงงานในประเทศมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ส่วนโรงงานในจีนจะไม่ปิด เพียงแต่ย้ายโรงงานจากนครเซี่ยงไฮ้ไปอยู่ที่ต้าเหลียนและเฉิงตูแทน เพราะที่นั่นค่าเช่าที่และค่าจ้างแรงงานถูกกว่า

ส่วนบริษัทหย่ง เฟิง ก็กำลังพิจารณาที่จะย้ายฐานผลิตไปยังส่วนอื่นของจีนเช่นกัน แต่จะไม่ย้ายฐานการผลิตไปจากจีน โดยนายชานบอกว่า “เราสามารถหาทุกสิ่งทุกอย่างได้ที่นี่”
กำลังโหลดความคิดเห็น