ผู้จัดการออนไลน์ -- ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นวันรำลึกเหตุการณ์โศกนาฏกรรมใหญ่วันหนึ่งของทั้งผู้นำและชาวไต้หวัน รัฐบาลและกลุ่มนักเคลื่อนไหวได้จัดงานรำลึก “เหตุการณ์สังหารหมู่ 228” ซึ่งจัดประจำทุกปี เพื่อเตือนใจการละเมิดก่อความรุนแรง และการรักษาความยุติธรรม
สำหรับ “วันสังหารหมู่ 228” มีชนวนมาจากความไม่พอใจของประชาชนชาวไต้หวันที่มีต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการค้าของเถื่อนของสำนักงานผู้ค้าผูกขาดและเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 (1947) ขณะที่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานดังกล่าวพร้อมด้วยตำรวจเข้าจับกุมแม่ค้าแผงลอยบุหรี่รายหนึ่งในคดีค้าบุหรี่เถื่อน ได้ทำร้ายร่างกายแม่ค้าและประชาชนที่มามุงดูในเหตุการณ์ถึงแก่ชีวิต จนทำให้ชาวไต้หวันไม่พอใจรวมตัวกันบุกสถานีตำรวจเรียกร้องให้ทางการนำคนผิดมาลงโทษ แต่กลับไม่ได้รับการตอบรับแต่อย่างใด
ฝูงชนที่โกรธแค้นบุกเผาสำนักงานผู้ค้าผูกขาดในวันรุ่งขึ้น (28 กุมภาพันธ์) และในบ่ายวันนั้นประชาชนได้เคลื่อนตัวไปที่สำนักงานเขตเพื่อร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากทางการ แต่ทว่าทหารรักษาความปลอดภัยได้ยิงปืนใส่ผู้ชุมนุมทำให้มีผู้เสียชีวิตมากมาย
การเสียชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์สร้างความแค้นเคืองเป็นทวีคูณต่อรัฐบาลก๊กมินตั๋ง จนทำให้ประชาชนทั่วเกาะพากันประท้วงรัฐบาล นัดหยุดงาน หยุดเรียน เป็นผลให้เฉินอี้ผู้ว่าการเขตบริหารเกาะไต้หวันในขณะนั้นจำต้องประกาศกฎอัยการศึก
เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นรอยมลทินของดินแดนมาตลอดการปกครองดินแดนของผู้นำเจียงไคเช็ค กระทั่งสมัยประธานาธิบดีลี เติงฮุย ซึ่งเพิ่งจะได้แถลงคำขอโทษอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 2538.