xs
xsm
sm
md
lg

จีนลั่นช่วยพันธมิตรใหม่ชาติแอฟริกันแม้เผชิญวิกฤตศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐมนตรีต่างประเทศจีน นายหยาง เจี๋ยฉือ (ซ้าย) จับมือกับรัฐมนตรีต่างประเทศมาลาวี จอยซ์ บันดา พบปะกันที่กรุงลิลองเว ประเทศมาลาวีในวันที่ 15 ม.ค.-เอเอฟพี
เอเจนซี-จีนประกาศคำมั่นจะขยายความช่วยเหลือให้แก่มาลาวี ที่ได้กลายมาเป็นพันธมิตรใหม่ของจีน หลังจากที่มาลาวีแปรพักตร์จากไต้หวัน และหันมาซบอกจีน

กลุ่มผู้นำจีนยังคงเดินสายสานสัมพันธไมตรีกับกลุ่มชาติแอฟริกันที่ยากไร้แต่อุดมไปด้วยทรัพยากร ล่าสุด รัฐมนตรีต่างประเทศ นาย หยาง เจี๋ยฉือ ก็ได้ไปเยือนประเทศมาลาวีเป็นเวลา 1 วันเมื่อวันพฤหัสฯ(15 ม.ค.) ทั้งสองได้จรดหมึกลงนามข้อตกลง 2 ฉบับ ได้แก่ เงินกู้แบบผ่อนปรน 90 ล้านเหรียญสหรัฐฯสำหรับโครงการก่อสร้างศูนย์การประชุมและโรงแรมระดับห้าดาว

นายหยางเผยกับผู้สื่อข่าวว่า จีนและมาลาวี ตกลงขยายความร่วมมือในด้านต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ การค้า และการเมือง นอกจากนี้ ยังวอนชาติพัฒนาแล้วอื่นๆ อย่าทอดทิ้งแอฟริกาแม้ในยามวิกฤตสินเชื่อโลก พร้อมกับย้ำว่าจีนก็ประสบปัญหาจากวิกฤตการเงินด้วยเช่นกัน แต่ก็จะไม่ลดความช่วยเหลือมาลาวี และชาติอื่นๆในทวีแอฟริกา

สำหรับประเทศมาลาวีเป็นชาติยากจน ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากประเทศผู้บริจาคจากตะวันตกในการผลักดันโครงการพัฒนาของประเทศแทบทั้งหมด และเมื่อปีที่แล้ว มาลาวี ก็ได้ยกเลิกการรับรองทางการทูตแก่ไต้หวัน โดยหันมารับรองจีนแทน ด้านไต้หวันโกรธเคืองมาก พร้อมกับได้ฉีกข้อตกลงความร่วมมือกับมาลาวี ซึ่งเป็นพันธมิตรกันมา 42 ปี

จอยซ์ บันดา (Joyce Banda) รัฐมนตรีต่างประเทศมาลาวี บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ความสัมพันธ์กับจีน จะสร้างผลประโยชน์มากกว่า “จีนและไต้หวันแตกต่างกันมาก จีนมองภาพการพัฒนากว้างไกลกว่า ขณะที่ไต้หวันมีความคิดให้ความช่วยเหลือเพียงเล็กๆน้อยๆ”

ทั้งนี้ หยางนับเป็นผู้นำระดับสูงจีนคนแรกที่ไปเยือนมาลาวี หลังจากที่มาลาวีตัดสัมพันธ์กับไต้หวัน หลังจากเสร็จสิ้นการเยือนมาลาวีแล้ว ในวันศุกร์ (16 ม.ค.) หยางก็จะเริ่มเดินสายต่อไปยังอูกันดา ราวันดา และแอฟริกาใต้

ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนได้เร่งสานสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดันกลุ่มชาติในกาฬทวีป ส่วนหนึ่งก็เพื่อบุกเบิกแหล่งทรัพยากรใหม่ๆ อย่างเช่น น้ำมัน แร่ และไม้ เพื่อรักษาการเจริญเติบโตของจีนไม่ให้สะดุด

สำหรับจีนและไต้หวันแยกตัวกันในปี 1949 หลังจากที่พรรคก๊กมินตั๋งแพ้สงครามการเมือง และผู้นำคอมมิวนิสต์ขึ้นครองอำนาจในปักกิ่ง นับจากนั้น ทั้งสองต่างแย่งชิงการรับรองทางการทูตจากนานาชาติ โดยจีนยืนกรานเกาะไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของแผ่นดินใหญ่.
กำลังโหลดความคิดเห็น