เอเจนซี--จีน และสหรัฐอเมริกา ตกลงกลับมาจับมือการแลกเปลี่ยนทางทหารระดับสูงต่อไป หลังจากที่จีนประท้วงวอชิงตันกรณีข้อเสนอแพคเกจขายอาวุธให้แก่ไต้หวันโดยแขวนการแลกเปลี่ยนทางทหารมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว
นาย เดวิด ซิดนีย์ รองรัฐมนตรีช่วยว่าการกลาโหมแห่งสหรัฐฯ และผู้แทนฝ่ายจีน คือ นายพลตรี เฉียน ลี่หัว หัวหน้าฝ่ายกิจการระหว่างประเทศสังกัดกระทรวงกลาโหมจีน ได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมือแลกเปลี่ยนทางทหารดังกล่าวในการประชุมสองวันที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งสิ้นสุดในวันเสาร์(28 ก.พ.) โดยในวันศุกร์ทั้งสองฝ่ายได้เจรจามาราธอนกันถึง 13 ชั่วโมง
การตกลงดังกล่าวนับเป็นการตกลงทางทหารครั้งแรกระหว่างสองฝ่ายในรอบ 5 เดือนหลังจากที่จีนแขวนการแลกเปลี่ยนทางทหารกับสหรัฐฯ เป็นการโต้ตอบที่ผู้นำในวอชิงตันตกลงข้อเสนอแพคเกจอาวุธที่จะขายให้แก่ไต้หวัน มูลค่า 6,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งประกอบด้วยอาวุธทันสมัยอย่างเฮลิคอปเตอร์โจมตี อาปาเช่ 30, และขีปนาวุธแพตริแอต
สำหรับผู้นำการเจรจาฝ่ายสหรัฐฯ คือ นายซิดนีย์ นับเป็นผู้มีประสบการณ์และช่ำชองการเจรจาด้านนี้ มา 18 ปี หลังจากการประชุมเขาได้ ชี้ถึงการเจรจาตกลงครั้งนี้ ว่าเป็นครั้งที่ดีที่สุดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน “มันเป็นรอบการเจรจาที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยเข้าร่วมมา ระหว่างการจัดตั้งความสัมพันธ์ด้านกลาโหมสองประเทศนี้มา”
นอกจากนี้ นาย ซิดนีย์ ยังได้กล่าวยกย่องจีนในการส่งกองกำลังหน่วยลาดตระเวนไปยังอ่าวเอเดนนอกฝั่งโซมาเลียเพื่อช่วยปราบโจรสลัดเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งนับเป็นการเปิดปฏิบัติการต่อสู้ในต่างแดนครั้งแรกของกองกำลังนาวีจีน และเป็นการพลิกโฉมบทบาทกองกำลังนาวีจีนบนเวทีการทหารระหว่างประเทศ
ด้าน นาย เฉียน ลี่หัว เตือนในวันศุกร์ (27 ก.พ.) ว่าการกลับมาพูดคุยความร่วมมือด้านนี้กัน ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าความร่วมมือทางทหารระดับกว้างขวางจะเดินหน้าฉลุย และภารกิจในการรักษาความสัมพันธ์นี้ ขึ้นอยู่สหรัฐฯ ที่จะต้องคลี่คลายความตึงเครียดระหว่างสองฝ่าย ซึ่งมีอุปสรรคใหญ่คือแพคเกจขายอาวุธแก่ไต้หวัน
แต่นายซิดนีย์กล่าวว่า ระหว่างการเจรจานั้น ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องถึงความจำเป็นในการเจรจาแลกเปลี่ยนทางทหารเป็นประจำ และมีการหยิบยกประเด็นการเจรจาความร่วมมือด้านนาวี จะเป็นวาระหนึ่งในการเจรจาแลกเปลี่ยนฯระดับสูงสุดในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ซิดนีย์ก็กล่าวว่า แผนการขายอาวุธ ให้แก่ไต้หวัน ก็จะดำเนินต่อไป “ผมไม่คิดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆเกี่ยวกับเรื่องนั้น” นายซิดนีย์ตอบคำถามที่ว่า “สหรัฐฯจะผลักดันสัญญาการขายอาวุธแก่ไต้หวันต่อไปหรือ?”
สำหรับเรื่องไต้หวัน นับเป็นประเด็นอ่อนไหวมากในสัมพันธภาพจีน-สหรัฐฯ หลังจากที่สองจีนได้แยกรัฐบาลปกครองดินแดนเมื่อปีพ.ศ. 2492 (1949 )โดยผู้นำเจียงไคเช็คแห่งพรรคก๊กมินตั่งพ่ายแพ้แก่กองทัพผู้นำคอมมิวนิสต์ และได้ถอยมาตั้งหลักที่ไต้หวัน ส่วนจีนใหญ่ก็ยืนยันเด็ดขาดมาตลอดว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินแม่ที่จะต้องมารวมเป็นชาติเดียวกันในที่สุด และหากจำเป็นก็อาจต้องนำกำลังบุกไปยึดดินแดน ขณะเดียวกันทั้งสองฝ่ายก็ได้ระดมกองกำลังประจำการประจันหน้ากันบนชายฝั่งช่องแคบไต้หวัน
ระหว่างนั้น วอชิงตันก็ขายอาวุธให้ไต้หวันเสมอมาภายใต้ข้อตกลงความช่วยเหลือเพื่อป้องกันตัวเอง และเพื่อรักษาเสถียรภาพระหว่างช่องแคบ ซึ่งก็สร้างความโมโหให้แก่จีนออกมาฟาดงวงฟาดงาอยู่บ่อยๆ
สำหรับประเด็นอื่นๆที่สองฝ่ายคุยกันในครั้งนี้ ได้แก่ สถานการณ์ที่เลวร้ายลงในอัฟกานิสถาน, และปากีสถาน ซึ่งทั้งสองประเทศต่างก็เป็นเพื่อนบ้านของจีน สำหรับในอัฟกัน กองทัพอินทรีมีแผนส่งหน่วยนาวิกและทหารอื่นๆ 17,000 นาย เข้าไปสมทบกองกำลังต้านการลุกฮือในดินแดน 38,000 นายในอัฟกัน
นอกจากนี้ ยังถกเถียงกันเกี่ยวกับความมั่นคงในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งรวมทั้งเกาหลีเหนือด้วย แต่ซิดนีย์ก็ไม่ยอมแย้มพรายว่ามีการถกเถียงประเด็นแผนยิงขีปนาวุธของโสมแดงหรือไม่ ซึ่งสหรัฐฯเชื่อว่าจะเป็นการทดลองขีปนาวุธพิสัยไกล ที่สามารถโจมตีถึงมลรัฐอะลาสกาได้ รวมทั้งโครงการอาวุธนิวเคลียร์
ด้านจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ใกล้ชิดสุดของโสมแดง ก็ไม่ให้ความเห็นอะไรมาก กับประเด็นที่เป็นความวิตกด้านความมั่นคงในอาณาบริเวณเมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้
จะเห็นได้ว่าความตึงเครียดในสัมพันธ์ทางทหารจีน-สหรัฐฯนั้นสืบเนื่องมาจากหลายกรณีด้วยกัน และในบรรยากาศความไม่ไว้วางใจนี้ จีนก็ได้ทุ่มงบประมาณสำหรับปรับความทันสมัยแก่กองทัพในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ซึ่งก็แรงกระตุ้นให้สหรัฐฯสยายปีกอำนาจกองกำลังในอาณาบริเวณมากขึ้นด้วย
การเจรจาความร่วมมือทางทหารครั้งนี้ ยังจัดขึ้นในช่วงไม่กี่วันก่อนที่จีนจะประกาศงบประมาณทหารประจำปี 2552 ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มพูนขึ้นมากจากปีก่อนหน้า ที่จีนได้อัดฉีดงบฯทหารจนสหรัฐฯโวยวาย พร้อมกล่าวหาว่าจีนไม่โปร่งใสเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายทางทหาร สำหรับประเด็นนี้ นาย ซิดนีย์เผยว่า มีการหยิบยกขึ้นมาถกเถียงในที่ประชุมเหมือนกัน
สัมพันธ์จีน-สหรัฐฯดูสดใสขึ้น เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้าระหว่างวันที่ 21-22 ก.พ. นาง ฮิลลารรี่ คลินตัน ได้เยือนปักกิ่งครั้งแรกหลังจากนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งจบลงด้วยบรรยากาศที่สดใส โดยระหว่างการเยือน นางคลินตัน ไม่ได้แตะเรื่องสิทธิมนุษยชนของจีน.