xs
xsm
sm
md
lg

จีนกระทุ้งแบงก์ต่างชาติ เร่งขยายการปล่อยสินเชื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บลูมเบิร์ก – จีนเรียกร้องแบงก์ต่างชาติ อาทิ ซิติกรุ๊ป และเอชเอสบีซี โฮลดิ้งส์ ช่วยคนละไม้ละมือ ขยายการปล่อยสินเชื่อ เพื่อหนุนเศรษฐกิจอ่อนแอแดนมังกรให้โตไว ๆ ด้านแบงก์ต่างชาติลังเล ถ้ายอมสนองตอบก็เสี่ยงหนี้เสีย ถ้าบอกปฏิเสธก็อาจทำให้โอกาสขยายสาขาดับวูบ

บรรดาแบงก์ต่างชาติ ที่เข้าทำธุรกิจในจีนพากันชะลอการปล่อยสินเชื่อเมื่อเดือนที่แล้ว เนื่องจากหวั่นวิตกปัญหาหนี้สูญ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้วิกฤตการเงินโลกพลุ่งพล่านอยู่ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม ผู้กำกับดูแลภาคธนาคารของจีนสาขาเซี่ยงไฮ้ออกมาเรียกร้องเมื่อวันพฤหัสฯ (19 ก.พ.) ว่า ธนาคารต่างชาติควร “เพิ่มการสนับสนุน” เศรษฐกิจของจีน และปล่อยสินเชื่อแก่บริษัทรายย่อย หลังจากรายงานของธนาคารกลางจีนสาขานครเซี่ยงไฮ้ ระบุว่า การปล่อยสินเชื่อประจำเดือนมกราคมของแบงก์ต่างชาติในเซี่ยงไฮ้ลดลงเหลือ 1,780 ล้านหยวน (263 ล้านดอลลาร์) เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งแบงก์ต่างชาติปล่อยสินเชื่อสูงถึง 12,300 ล้านหยวน

ขณะที่ธนาคารท้องถิ่นปล่อยสินเชื่อก้อนใหม่ในเดือนมกราคมปีนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 95,000 ล้านหยวน โดยการปล่อยสินเชื่อของแบงก์ต่างชาติทั้งหมดในจีนนั้น ร้อยละ 61 อยู่ที่เซี่ยงไฮ้

ข้อเรียกร้องดังกล่าวมีขึ้นในท่ามกลางการดิ้นรนอย่างหนักของแบงก์ผู้ปล่อยกู้รายใหญ่สุดของต่างชาติ 4 รายในจีน คือเอชเอสบีซี, สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ,แบงก์ ออฟ อีสต์ เอเชีย และซิติกรุ๊ป ในการต่อสู้กับปัญหาหนี้เสีย และสภาพเศรษฐกิจ ที่กำลังย่ำแย่ในประเทศของตน โดยนักวิเคราะห์ของมอร์แกน สแตนลีย์ ระบุว่า เอชเอสบีซี แบงก์รายใหญ่สุดของยุโรป อาจจำเป็นต้องได้รับเงินทุนก้อนใหม่จำนวน 35,000 ล้านดอลลาร์ ในสภาพการณ์ที่สินเชื่อที่ปล่อยในสหรัฐฯ กลายเป็นหนี้เสียมากขึ้น

ขณะที่ในสัปดาห์นี้ แบงก์ ออฟ อีสต์ เอเชีย ธนาคารผู้ปล่อยกู้รายใหญ่ของฮ่องกง ประกาศการขาดทุนครั้งแรกในรอบกว่า 40 ปี

แบงก์ต่างชาติตัดทอนรายจ่าย

สัดส่วนหนี้เสียของธนาคารต่างชาติปรับขึ้นร้อยละ 0.83 ในเดือนธันวาคม จากช่วง 3 เดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.5 และนับเป็นการพุ่งขึ้นสูงสุด นับตั้งแต่กลางปี 2549 เป็นต้นมา จากข้อมูลของทางการจีน

ขณะนี้ ธนาคารระดับโลกหลายราย ซึ่งเข้ามาทำธุรกิจในแดนมังกร หลังจากการเปิดตลาดภาคธนาคารอย่างเต็มที่ในเดือนธันวาคม 2549 พากันตัดทอนรายจ่าย เพื่อรักษางบดุล ซึ่งได้รับผลกระทบจากการลดมูลค่าสินทรัพย์ในบัญชีของธนาคาร โดยซิติกรุ๊ป ซึ่งได้รับเงินช่วยเหลือ เพื่อกู้ปัญหาหนี้เสียของธนาคารจำนวน 52,000 ล้านดอลลาร์จากรัฐบาลสหรัฐฯ เตรียมขายหน่วยธนาคารในญี่ปุ่น

ขณะที่ รอแยล แบงก์ ออฟ สก็อตแลนด์ กรุ๊ป ซึ่งรัฐบาลอังกฤษเข้าพยุง ประกาศเพิ่มการปล่อยสินเชื่อในประเทศ พร้อมกับลดการทำธุรกิจในต่างแดน

ยอมทำตามดีหรือไม่ ?

นักวิเคราะห์ระบุว่า แบงก์ต่างชาติตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบแบงก์ในท้องถิ่น ซึ่งมีโอกาสปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการก่อสร้างภาครัฐ ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกัน เช่นการก่อสร้างถนน และทางรถไฟ อันเป็นหัวใจของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 585,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ ก็เนื่องจากแบงก์ต่างชาติไม่มีพื้นที่ในท้องถิ่น หรือไม่มีเส้นสายทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม หัวหน้าฝ่ายวิจัยของบริษัทโบรกเกอร์ โบคอม อินเตอร์เนชั่นแนล (BOCOM International Ltd.) ในกรุงปักกิ่งมองว่า ธนาคารต่างชาติไม่อาจอยู่นิ่งเฉยได้อีกแล้ว แต่ต้องโดดเข้าร่วม แม้เป็นการปล่อยกู้ให้กับบริษัท ที่มีความเสี่ยงมากขึ้นก็ตาม โดยแบงก์ต่างชาติมีทางเลือกอยู่ 2 ทางคือทำตามข้อเรียกร้อง หรือยอมสูญธุรกิจในจีน โดยรัฐบาลจีนอาจไม่อนุมัติการเปิดสาขา หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ ก็เป็นได้

ด้านโฆษกของซิติกรุ๊ปในเซี่ยงไฮ้แถลงอย่างแบ่งรับแบ่งสู้ว่า ซิติ ไชน่า ยังคงให้คำมั่นที่จะสนับสนุนข้อกำหนดในภาคธนาคารเกี่ยวกับลูกค้าของธนาคารไปจนตลอดปี 2552 และปีต่อไป ขณะที่ธนาคารต่างชาติรายอื่นยังไม่ออกมาเคลื่อนไหวใด ๆ

ปล่อยกู้เพลิน จนลืมความเสี่ยงจากหนี้เสีย

นักเศรษฐศาสตร์ของอินดัสเทรียล แบงก์ ระบุว่า แบงก์ของจีนและต่างชาติประเมินความเสี่ยงของสินเชื่อในปัจจุบันคล้าย ๆกัน ว่า มีความเสี่ยงสูงมาก แต่ธนาคารจีนสามารถปล่อยกู้ให้แก่โครงการของรัฐ ที่มีความปลอดภัยกว่า ขณะที่แบงก์ต่างชาติไม่สามารถทำเช่นนั้น

อาทิ แบงก์ ออฟ ไชน่า เพิ่งเปิดวงเงินสินเชื่อจำนวน 60,000 ล้านหยวนให้กับบริษัทอุตสาหกรรมการบินของจีน ไปเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากรัฐบาลจีนได้อนุมัติเงินสนับสนุนอุตสาหกรรมภาคดังกล่าว หรือ ไชน่า คอนสตรั๊กชั่น แบงก์ ให้คำมั่นปล่อยสินเชื่อ 380,000 ล้านหยวน ให้แก่ภาคพลังงาน, การขนส่ง และสิ่งสาธารณูปโภคของมณฑลกว่างตง

อย่างไรก็ตาม การแห่ปล่อยสินเชื่อของแบงก์จีนตามเสียงเรียกร้องของรัฐบาล ทำให้วิตกกันเรื่องการพอกพูนของหนี้เสีย ขณะที่จีนเพิ่งทุ่มเงิน 650,000 ล้านดอลลาร์ ล้างหนี้เสียในระบบธนาคารของตนไปไม่นาน

บริษัทจัดอันดับ ฟิตช์ เรตติ้งส์ ระบุเมื่อเดือนมกราคมว่า ธนาคารของจีนอาจกำลังประเมินสัดส่วนของหนี้เสียต่ำกว่าความเป็นจริง ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากมีความอ่อนแอในการบริหารความเสี่ยง

ทั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อ ซึ่งถูกรัฐบงการในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาส่งผลให้สัดส่วนหนี้เสียของธนาคารของจีนพุ่งสูงเกือบร้อยละ 30 ในปี 2543 และอยู่ที่ร้อยละ 2.45 เมื่อสิ้นปีที่แล้ว.
กำลังโหลดความคิดเห็น