เอเยนซี่ – จีนระดมทุกภาคส่วนช่วยเหลือภัยแล้ง ล่าสุด ทางการจีนได้ทำฝนเทียมเพื่อช่วยพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศ แต่ปรากฎว่าฝนตกลงมาเพียงเล็กน้อย นายกรัฐมนตรีจีนสุดเซ็ง ยอมรับภัยแล้งในจีนยังไม่หมดไป เตรียมผันน้ำจากแม่น้ำหลัก 2 สายไปกู้ภัยแล้งทางภาคเหนือ-กลาง-ตะวันออกของประเทศ
จีนทำฝนเทียมแต่ไร้ผล
ข่าวจากรัฐบาลจีนแจ้งว่า ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีน้ำฝนและฝนลูกเห็บโปรยปรายลงมาเล็กน้อยในบางพื้นที่ของประเทศ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ควบคุมอากาศได้ระดมยิงอาวุธบรรจุสารเคมีที่ทำให้เมฆจับตัวกันเป็นก้อน ซึ่งได้แก่ กระสุนปืนใหญ่ 2,392 ลูกและจรวดอีก 409 ลูก ขึ้นไปในท้องฟ้า โดยการทำฝนเทียมดังกล่าวทำให้เกิดฝนตกลงมาประมาณ 5 มิลลิเมตร ทางตอนเหนือของมณฑลเหอเป่ย
อย่างไรก็ตาม สำนักงานอากาศแห่งชาติ (National Weather Bureau) แจ้งว่า ปรากฎการณ์ดังกล่าวจะไม่ช่วยให้ภาวะภัยแล้งในจีนบรรเทาลง เพราะกลุ่มเมฆมีน้อยและยังเคลื่อนที่ออกจากพื้นที่ภัยแล้ง จึงทำให้การทำฝนเทียมไม่ได้ผล ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานควบคุมน้ำท่วมและบรรเทาภัยแล้ง ระบุว่า ปริมาณน้ำฝนทางตอนเหนือและตอนกลางของประเทศจีนลดลงจากระดับปกติ 50 ถึง 80 เปอร์เซ็นต์
สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานว่า ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า ได้เดินทางไปยังมณฑลเหอหนัน เพื่อตรวบสอบการทำงานบรรเทาทุกข์ในตำบลแห่งหนึ่ง ที่ทหารและตำรวจได้ช่วยกันทำระบบชลประทานแก่พืชไร่ด้วยน้ำจากรถบรรทุกน้ำ และสำนักข่าวซินหัวได้อ้างคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีเวิน ว่า
“ภาวะภัยแล้งยังคงมีอยู่ โดยนักอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า ในระยะเวลาอันใกล้นี้จีนยังจะไม่มีฝนตกหนัก” และยังว่า “มันเป็นการยากที่จะต่อสู้กับภัยแล้งและยากที่จะรับรองว่าการเก็บเกี่ยวในปีนี้จะได้ผลดี”
ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรของจีนได้รายงานว่า ความแห้งแล้งเป็นสาเหตุของโรคเชื้อราที่กำลังระบาดในข้าวสาลี ซึ่งโรคพืชดังกล่าวจะทำให้ผลผลิตเกษตรกรรมของจีนลดลงถึงร้อยละ 40 ด้าน นายเฉิน เหล่ย รัฐมนตรีทรัพยากรน้ำของจีน กล่าวว่า ขณะนี้แม่น้ำเหลืองหรือหวงเหอ (ฮวงโห)ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำหรับพื้นที่นาและเมืองหลายแห่งได้ลดระดับลงร้อยละ 20 ถึง 40
เตรียมผันแม่น้ำใหญ่กู้ภัยแล้ง
สำนักข่าวซินหัว ยังได้รายงานโดยอ้างนายจาง จื้อต่ง เจ้าหน้าที่อาวุโสจากกระทรวงทรัพยากรน้ำ ว่ารัฐบาลจีนจะทำการผันน้ำจากแม่น้ำสายหลักของประเทศ 2 สายไปช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง
กล่าวคือ น้ำจากแม่น้ำแยงซี ซึ่งเป็นสายน้ำยาวที่สุดในประเทศ จะถูกผันไปยังพื้นที่ทางตอนเหนือมณฑลเจียงซู ขณะที่ประตูระบายน้ำที่มองโกเลียในจะผันน้ำจากแม่น้ำเหลือง สายน้ำที่ยาวเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ไปยังตอนกลางของมณฑลเหอหนัน และทางตะวันออกของมณฑลซันตง
สำนักข่าวซินหัว รายงานด้วยว่า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่จีนประสบภาวะแห้งแล้งเรื่อยมา ทางการจีนได้ผันน้ำจากแม่น้ำเหลืองไปช่วยบรรเทาความแห้งแล้งทางภาคเหนือของประเทศแล้วกว่า 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ตาม ปัญหาภัยแล้งยังได้ส่งผลต่อการปลูกข้าวในภาคกลางและภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศด้วย
ข้อมูลจากกองบัญชาการบรรเทาทุกข์ของจีน ระบุว่า จนถึงขณะนี้มีประชาชนจำนวน 4.3 ล้านคน และพื้นที่ปศุสัตว์จำนวน 2.1 ล้านแห่ง ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ
อย่างไรก็ตาม ภาวะขาดแคลนน้ำถือเป็นหนึ่งในความกังวลในระยะยาวของจีน เนื่องจากทรัพยากรน้ำในประเทศได้หมดสิ้นไปอย่างรวดเร็วพร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงปักกิ่งที่มีประชากรหนาแน่นถึง 17 ล้านคน ที่ผู้เชี่ยวชาญได้เตือนว่า อีกไม่นานเมืองหลวงแห่งนี้จะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ
ภัยแล้งส่งผลต่อพืชไร่กว่า 25 ล้านไร่
ศูนย์กลางข้อมูลพืชไร่และน้ำมันแห่งชาติของจีน ได้อ้างการสำรวจที่ออกมาเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ว่า ภาวะภัยแล้งในขณะนี้จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ปลูกพืชไร่ทั่วประเทศประมาณ 153 ล้านมู่ (ประมาณ 10.2 ล้านเอเคอร์ หรือกว่า 25 ล้านไร่) โดยร้อยละ 95 ของจำนวนนี้ หรือคิดเป็นจำนวน 81 ล้านมู่ เป็นพื้นที่ปลูกข้าวสาลีใน 8 มณฑลที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง
ศูนย์กลางข้อมูลพืชไร่ฯ ของจีน ยังระบุด้วยว่า ฝนที่คาดว่าจะตกทางตอนเหนือของประเทศแถบแม่น้ำเหลืองและแม่น้ำหวยเหอ(แม่น้ำสายสำคัญทางภาคตะวันออกของจีน) อาจช่วยทำให้พืชไร่เน่าเสียช้าลง แต่ภาวะอากาศในจีนจะยังไม่เปลี่ยนแปลงในช่วงใกล้ๆ นี้ และภาวะความแห้งแล้วยังจะยิ่งเลวร้ายลงอีกในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้
ในรายงานยังระบุด้วยว่า การเพาะปลูกพืชไร่อื่นๆ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศและทางฝั่งแม่น้ำหวยเหอก็ถูกทำลายลงด้วย อย่างไรก็ตาม คาดว่าปีนี้ผลผลิตพืชไร่ของจีนจะเพิ่มเป็น 95 ล้านมู่ หรือเพิ่มขึ้น 8 ล้านมู่จากผลผลิตเมื่อปีที่แล้ว
ทั้งนี้ ภาวะภัยแล้งได้เริ่มจู่โจมประเทศจีนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สำหรับมณฑลที่โดนภัยแล้งจู่โจมหนักที่สุด เป็นกลุ่มมณฑลในภาคเหนือทั้งหมดและหลายมณฑลในภาคตะวันออก โดยเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่ปลูกข้าวสาลีใน 8 มณฑล ได้แก่ เหอเป่ย, ซันซี, อันฮุย, เจียงซู, เหอหนัน, ซันตง, ส่านซี, และกันซู่ แห้งผาก ต้นพืชเฉา บ้างเหลืองกรอบ ขณะที่ประชาชนในมณฑลเหล่านี้ ต่างขาดน้ำดื่มที่เหมาะสม
หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของรัฐ ไชน่า เดลี่ รายงานว่า ภัยแล้งครั้งนี้ร้ายกาจที่สุดในรอบ 58 ปี นับจากปี 2494 และภาวะภัยแล้งครั้งนี้อาจทำให้ผลผลิตพืชผลตกต่ำ และซ้ำเติมภาคส่งออก อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อแผนพัฒนาภาคชนบทของรัฐบาล ที่มุ่งส่งเสริมรายได้ของเกษตรกร ขณะที่ยังมีแรงงานอพยพอีก 20 ล้านคน กำลังตกงาน