扑朔 (pū shuò) อ่านว่า พูซั่ว แปลว่า ดีดขาเหมือนจะกระโดด
迷离 (mí lí) อ่านว่า หมีหลี แปลว่า ตาปรือ
เล่ากันมาว่าในสมัยโบราณ มีสตรีนางหนึ่ง นามว่า ฮวามู่หลัน นางเป็นผู้ที่มีความกตัญญูต่อบุพการีเป็นอันมาก
วันหนึ่ง ฮวามู่หลันได้แต่เก็บตัวอยู่ในห้อง นั่งถอนใจอยู่ริมหน้าต่าง ทำให้บิดาของนางเกิดความสงสัยเป็นอันมาก จึงไตร่ถามถึงสาเหตุ
เมื่อโดนรุกเร้ามากๆ ฮวามู่หลันจึงจำใจต้องบอกบิดาไปว่า “ข้าไม่ได้มีเรื่องในใจอันใด เพียงแต่เมื่อคืนวานข้าเห็นสาสน์เกณฑ์ทหารที่ฮ่องเต้ส่งมาถึงท่านพ่อ ทว่าท่านพ่ออายุมากแล้ว คงรับความลำบากในกองทหารไม่ไหว น้องชายข้าก็ยังเล็กนัก บุตรตรีอย่างข้าจึงจำต้องขบคิดเรื่องนี้แทนท่าน”
จากนั้นมู่หลันยังกล่าวต่อไปว่า “ข้าติดตามท่านพ่อฝึกวิชาบู๊ตั้งแต่เล็ก สามารถเป็นตัวแทนของท่านไปร่วมกับกองทหารครั้งนี้ ส่วนปัญหาที่ว่าข้าเป็นหญิงนั้น มีวิธีแก้ไข”
เมื่อถึงวันเกณฑ์ทหาร ฮวามู่หลันแต่งตัวเป็นชาย อำลาครอบครัวออกเดินทางไปร่วมกับกองทัพ
ยามศึกสงคราม มู่หลันรบอย่างเข้มแข็ง กล้าหาญ ผ่าน 10 กว่าปีอยู่ในกองทัพและการสงคราม
เมื่อการรบสิ้นสุดลง ฮวามู่หลันกลับบ้านพร้อมชัยชนะ ความห้าวหาญของนางได้ยินถึงหูฮ่องเต้ จึงต้องการมอบรางวัลเป็นเงินทอง และตำแหน่งเสนาบดีให้
ทว่ามู่หลันกลับปฏิเสธว่า “ขอบพระทัยในความเมตตาของฮ่องเต้ยิ่งนัก ทว่าข้าไม่ต้องการรับตำแหน่งขุนนาง เพียงขอให้ฮ่องเต้ประทานอนุญาตให้ข้ากลับไปอยู่กับครอบครัวที่บ้านนอก” ซึ่งฮ่องเต้ก็ยินยอมตามนั้น
มู่หลันกลับมาถึงบ้านเกิด จึงเปลี่ยนการแต่งตัวกลับมาเป็นหญิง ถักเปียเกล้าผม ประดับดอกไม้ กลับสู่สภาพปกติเมื่อครั้งก่อนออกไปรบ เมื่อถูกคู่หูร่วมรบในกองทัพที่มาด้วยกันพบเห็นถึงกับตะลึงเอ่ยว่า “อยู่ด้วยกันมา 12 ปี เหตุใดข้ากลับไม่รู้เลยว่าท่านเป็นหญิง!”
ภายหลังมีผู้นำเหตุการณ์นี้มาประพันธ์เป็นบทกวีบทหนึ่ง ชื่อว่า บทกวีมู่หลัน โดยเนื้อหาในตอนท้ายของบทกวีมีดังนี้
“กระต่ายตัวผู้เท้าดีดเด้ง
กระต่ายตัวเมียตาหรี่ปรือ
กระต่ายทั้งคู่วิ่งเคียงข้างกัน
ผู้ใดแยกแยะได้ ไหนผู้-เมีย?”
ความหมายของบทกวีบทนี้คือ กระต่ายตัวผู้นั้นยามเดินขึ้นหน้า เท้าจะกระดกขึ้นมา ส่วนกระต่ายตัวเมียตาจะปรือกว่าตัวผู้ แต่หากกระต่ายตัวผู้กับตัวเมียวิ่งอยู่คู่กัน ยากที่จะมีผู้แยกแยะได้ว่าตัวใดเป็นตัวผู้ ตัวใดเป็นตัวเมีย
“พูซั่วหมีหลี” หรือ “ดีดขาตาปรือ” เดิมใช้ในความหมายว่ายากจะแยกแยะว่าเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย และใช้เปรียบเทียบกับคนที่ดูไม่ออกว่าเป็นชายหรือหญิง ต่อมาใช้เปรียบเทียบกับเหตุการณ์ยุ่งยากซับซ้อนจนยากที่จะแยกข้อเท็จจริง