xs
xsm
sm
md
lg

ชวนทำพิธีไหว้เทพเจ้าตรุษจีนครบสูตรคุ้มครอง-ร่ำรวย-โชคดี ตลอดปี’ 52

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์-เปิดพิธีไหว้เทพเจ้า-บรรพบุรุษในวันตรุษจีนให้เฮงเฮงเฮงตลอดปี 2552 ตามประเพณีโบราณ ด้วยการไหว้เทพเจ้าเตาก่อนตรุษจีน 7 วัน ไหว้เทพเจ้า-บรรพบุรุษ วันสิ้นปี-ปีใหม่ ขอบคุณเทพเจ้าที่คุ้มครองตลอดปี พร้อมเครื่องเซ่นไหว้ครบชุด ส่วนเทพแห่งโชคลาภปีนี้ลงจากสวรรค์มาทิศตะวันออก ฤกษ์ดีไหว้หลัง 5 ทุ่ม

สำหรับคนจีนแล้ว เทศกาลอาจมีหลายเทศกาล แต่เทศกาลที่มีความหมายสำหรับคนจีนมากที่สุดไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย คือเทศกาล “ตรุษจีน” เพราะเทศกาลตรุษจีนคือวันปีใหม่ตามประเพณีของชาวจีนทั่วโลก ไม่ว่าหลายๆ ชาติจะยึดถือเอาวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ตามธรรมเนียมชาวยุโรปคือนับเอาวันที่ 1 มกราคม ตามปฏิทินเป็นวันปีใหม่ แต่สำหรับชาวจีนแล้ว วันขึ้นปีใหม่ที่แท้จริงคือวันตรุษจีน ที่จะเริ่มต้นในวันที่ 1 เดือน 1 ของปีตามจันทรคติ ซึ่งปีนี้จะตรงกับวันที่ 26 มกราคม 2552 นี้

ชวนคนรุ่นใหม่ไหว้เจ้าตรุษจีน

เศรษฐพงศ์ จงสงวน นักวิชาการด้านจีนศึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนานิกายมหายานในประเทศไทย กล่าวว่า คนเชื้อสายจีนในเมืองไทยจะมีเทศกาลที่สำคัญที่จะต้องมีการเซ่นไหว้อยู่ 8 ครั้งใน 1 ปี ได้แก่ เทศกาลตรุษจีน ซึ่งปีนี้จะตรงกับวันที่ 26 มกราคม 2552,เทศกาลหยวนเซียวหรือเทศกาลโคมไฟ จะจัดหลังตรุษจีน 15 วัน,เทศกาลเช็งเม้ง,เทศกาลขนมบ๊ะจ่าง,เทศกาลสาร์ทจีน,เทศกาลไหว้พระจันทร์,เทศกาลขนมบัวลอย และวันสิ้นปี ซึ่งอยู่ติดกับวันตรุษจีน

อย่างไรก็ดี สำหรับคนที่มีเชื้อสายจีนรุ่นใหม่ที่อยากจะทำพิธีไหว้เจ้าแบบจีนนั้น สามารถทำได้เพราะไม่ยาก และสามารถเตรียมอาหารของไหว้ได้ตามกำลังทรัพย์ของแต่ละครอบครัว ซึ่งปัจจุบันคนไทยเชื้อสายจีนก็ยังยึดถือทำพิธีไหว้เจ้ากันจำนวนมาก แต่ก็มีคนไทยเชื้อสายจีนจำนวนไม่น้อยที่หยุดไหว้เจ้าไปเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ หรือไม่มีผู้ใหญ่ในบ้านเรือน ซึ่งสำหรับปีก่อนๆ หากไม่ได้ทำการไหว้เจ้าตรุษจีนก็สามารถเริ่มใหม่ในปีนี้ได้ ถือเป็นการช่วยฟื้นฟูและรักษาประเพณีที่ดีงามไว้ โดยพิธีจะต้องเริ่มตั้งแต่ก่อนตรุษจีน 7 วัน

โดยก่อนเทศกาลตรุษจีน 7 วัน ให้เริ่มการไหว้เจ้าเตา ซึ่งเป็นเทพเจ้าประจำบ้านให้ขึ้นสู่สรวงสวรรค์ โดยนิยมไหว้ด้วยของหวานและผลไม้ เพื่อให้เจ้าเตาขึ้นสวรรค์ไปพูดแต่สิ่งดีๆ ซึ่งจะใช้ผลไม้และของหวานจำนวนกี่ชนิดก็ได้ และจะเริ่มมีการปัดกวาดทำความสะอาดบ้านเรือนตั้งแต่นี้ เพราะวันตรุษจีนจะไม่มีการทำความสะอาดใดๆ

จากนั้นจะเริ่มมีการตกแต่งบ้านเรือน ที่นิยมกันมากคือจะมีการปิดป้ายกลอนคู่ หรือรูปเทพเจ้า ตามประตูและช่องทางเดินต่างๆ เพื่ออวยพรให้เกิดสิริมงคลในบ้านเรือน รวมทั้งมีการแขวนโคมไฟเพื่อประดับประดาให้ความสวยงามด้วย ซึ่งบางครอบครัวก็อาจจะติดป้ายเหล่านี้ในวันปีใหม่ หรือหลังจากกลับไปทำงาน แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละบ้าน

3 พิธีเซ่นไหว้เทพเจ้า-บรรพบุรุษวันสิ้นปี

ต่อมา ในวันสิ้นปี คือวันที่ 25 มกราคม คนจีนจะนิยมเซ่นไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษในวันนี้ โดยหลักการแล้ว คนจีนจะถือว่าเป็นการไหว้เพื่อตอบแทนที่เทพเจ้าให้ความคุ้มครองตลอดปีที่ผ่านมา และขอให้เทพเจ้าคุ้มครองในปีใหม่ด้วย ซึ่งคนจีนจะเซ่นไหว้โดยตอบแทนความช่วยเหลือ เป็นกำลังใจในการดำเนินชีวิตในปีใหม่ ไม่มีการบนบานศาลกล่าว

พิธีการเซ่นไหว้ที่ถูกต้องนั้นจะมี 3 ครั้งด้วยกัน ได้แก่
ตอนเช้ามืด จะมีการไหว้เทพเจ้าต่างๆ (ไป๊เล่าเอี๊ย) โดยสามารถไหว้ได้ตั้งแต่ตี 5 เป็นต้นไปโดยการเตรียมโต๊ะไหว้เจ้านั้นส่วนใหญ่จะประกอบด้วย เนื้อสัตว์ต่างๆ นิยมไหว้เป็น ซาแซ กับ โหงวแซ โดย “ซาแซ” หรือไหว้เนื้อสัตว์ 3 ชนิด ได้แก่ เป็ดไก่หมู หรือเป็ดไก่ปลาก็ได้ อยู่ที่แต่ละบ้านเรือนจะจัด หรือ “โหงวแซ” คือการไหว้ด้วยเนื้อสัตว์ 5 ชนิด คือนอกจาก 3 ชนิดข้างต้นก็สามารถใช้เนื้อสัตว์อื่นๆ ให้ครบ 5 ชนิด ที่นิยมนำมาเป็นเครื่องไหว้ได้แก่ ห่าน,ปลาหมึก,กุ้ง,ปู และตับหมู นอกจากนี้ก็จะมี เหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทอง

ในการไหว้เทพเจ้า ส่วนใหญ่ก็จะมีการอธิษฐานในทำนองขอขอบพระคุณที่เทพเจ้าให้ความเมตตาคุ้มครองตลอดทั้งปี และได้จัดอาหารเครื่องบูชาต่างๆ เพื่อสักการะไว้แล้ว

ตอนสายจะเริ่มประมาณ 9.00-12.00 น.จะเป็นการไหว้บรรพบุรุษ (ไป๊เป้บ๊อ) นอกจากซาแซ หรือโหงวแซที่จัดเตรียมไว้ไหว้เทพเจ้าตอนเช้าไปแล้ว สามารถใช้ในการไหว้บรรพบุรุษได้อีก แต่ต้องเพิ่มกับข้าวในจำนวน 6 อย่าง 8 อย่าง หรือ 12 อย่าง ตามกำลังแต่ละคน พร้อมทั้งต้องมีการตั้งข้าวเท่าจำนวนบรรพบุรุษ รวมถึงจัดวางเครื่องถ้วยชาม ตะเกียบ ถ้วยน้ำชา ตามจำนวนบรรพบุรุษ และเตรียมน้ำชา และเหล้าจีนวางไว้ด้วย ซึ่งหากเลยเที่ยงวันไปแล้วจะไม่นิยมไหว้ แต่จะมีการเก็บโต๊ะไหว้เจ้าแล้ว

ขนม-ผลไม้แห่งความมงคล

ส่วนขนมหลักๆ จะมีซาลาเปา ขนมถ้วยฟู และขนมเข่ง โดยขนมเข่งนั้นในเมืองไทยจะมีลักษณะเป็นขนมเข่งที่ทำจากแป้งข้าวเหนียวนำมากวนน้ำตาลทรายขาว หรือน้ำตาลทรายแดง แล้วนำมาหยอดลงกระทงใบตองก่อนนำไปนึ่ง แล้วแต้มสีแดงเข้าไป ซึ่งเป็นขนมเข่งเหมือนขนมเข่งในพื้นที่จีนตอนใต้ มีชื่อว่า “เหงียนเตง”แปลว่าขนมปีใหม่ ซึ่งสำหรับคนแต้จิ๋วมักจะนำไปใช้ในงานมงคลอื่นๆ ด้วย ได้แก่ ปีใหม่,ตรุษจีน,สาร์ทจีน,งานแต่งงาน ฯลฯ ซึ่งเช่นเดียวกับชาวฮกเกี๊ยนที่จะทำขนมเข่งจากแป้งข้าวเหนียว ส่วนพื้นที่อื่นๆ จะทำขนมเข่งจากแป้งสาลี สำหรับกวางตุ้ง ขนมเข่งของที่นี่จะมีไส้ต่างๆ ด้วย

สำหรับเมืองไทย จะเห็นว่าการไหว้เจ้าในเมืองไทย นอกจากขนมเข่งแล้วจะมีการไหว้ขนมเทียนควบคู่ไปด้วย สำหรับขนมเทียนนี้ จริงๆ แล้วเป็นขนมของไทย ในเมืองจีนจะไม่มีการไหว้กัน แต่เมื่อคนจีนมาอยู่ในเมืองไทย จึงรับวัฒนธรรมขนมนำมาผสมผสานในการไหว้ โดยคนจีนได้นำขนมเทียนมาเติมสูตร โดยผสมกับหญ้าชนิดหนึ่งที่จะให้รสชาติหวาน จะมีสีดำ คล้ำๆ ออกสีเขียว จากนั้นจึงทำมาทำขนมเทียนซึ่งจะมีไส้มะพร้าวกวนให้หวานอยู่ด้านใน และมีความเหนียว ซึ่งเชื่อว่าการกินของหวานๆ จะทำให้ชีวิตมีแต่เรื่องดีๆ มีความสุขทั้งปี และความเหนียวแสดงถึงความเหนียวแน่น กลมเกลียว

นอกจากขนมที่กล่าวมาแล้ว ก็จะมีการไหว้ขนมอื่นๆ ผสมด้วย ที่นิยม ได้แก่ ขนมเปี๊ยะ ขนมจันอับต่างๆ ขนมกุช่ายรูปลูกท้อที่เป็นสัญลักษณ์ของความมีสิริมงคลด้วย ซึ่งบางบ้านก็มักนำขนมเค้กมาไหว้ร่วมด้วยก็สามารถทำได้ เพราะมีความฟูเหมือนขนมถ้วยฟู

สำหรับผลไม้ นิยมไหว้ด้วยผลไม้ 3 หรือ 5 ชนิดแล้วแต่เลือก ส่วนใหญ่คนจีนมักเลือกเซ่นไหว้ผลไม้ที่มีชื่อพ้องเสียงกับคำที่มีความหมายเป็นสิริมงคล เช่น

ส้ม คนจีนออกเสียงว่า “ไต่กิก” แปลว่า มหามงคล ซึ่งในจีนแผ่นดินใหญ่ปกตินิยมใช้ส้มจี๊ดลูกเล็กๆในการไหว้ แต่ในเมืองไทยส้มจี๊ดหาได้ยาก จึงนำส้มลูกใหญ่มาใช้แทนได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นส้มเขียวหวาน หรือส้มสีทองถือว่ามีความหมายดีเช่นกัน

แอปเปิ้ล หรือ “ผิงผั่ว”ตามภาษาจีนกลาง และเผ่งกล้วยที่พ้องเสียงกับคำว่าเผ่งอั้ง แปลว่า ความสงบสุข

สาลี่ หรือ สัปปะรด ภาษาจีนเรียกว่า “ไล้” แปลว่าเงินทองไหลมาเทมา

กล้วยหอม คนจีนเรียกว่า “เก็งเจีย” แปลว่าเรียกกลับเข้ามา มีความหมายถึงการเรียกโชคลาภเข้าบ้าน

กล้วย คำจีนเรียกว่า "เกงเจีย" มีความหมายถึงการมีลูกหลานสืบสกุล

องุ่น หรือ “ผู่ท้อ” มีความหมายว่า เฟื่องฟู

“กลุ่มนี้เป็นผลไม้ที่มีชื่อพ้องเสียงกับภาษาจีนที่มีความหมายมงคล นิยมนำมาใช้ไหว้เจ้ากันมาก แต่ก็มีผลไม้ชนิดอื่นที่มีความหมายมงคลตามลักษณะของมันด้วยได้แก่ ทับทิม และลูกพลับ”

ทับทิม มีความหมายว่าให้มีลูกหลานมาก มีความมั่งคั่ง

ลูกพลับ มีความหมายว่า ให้มีความสุขตลอดปี

หลังจากไหว้บรรพบุรุษเสร็จ บางบ้านจะมีการไหว้ผีไม่มีญาติ ซึ่งปกติจะไม่นิยมไหว้กันในวันตรุษจีนแต่จะไหว้ในช่วงสาร์ทจีน แต่ก็สามารถทำได้หากอยากเผื่อแผ่ให้ผีไม่มีญาติเหล่านี้

ตกเย็น ก็จะมีการร่วมรับประทานอาหารของคนในครอบครัว โดยมักทานอาหารที่เหลือจากการเซ่นไหว้นี้ เพราะเชื่อว่าจะทำให้เกิดมงคลกับทุกคน

ปีนี้เทพเจ้าโชคลาภมาทางทิศตะวันออก

จากนั้นเมื่อถึงเวลา 23.00 น.เป็นต้นไป ก็จะมีการไหว้เทพเจ้า “ไฉ่ซิ้งเอี้ย” หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ปัจจุบันถือว่ามีความนิยมไหว้ไฉ่ซิงเอี้ยกันมาก โดยปกติจะต้องมีการเซ่นไหว้ตามทิศที่เทพเจ้าจะลงมาจากสวรรค์ ซึ่งแตกต่างกันทุกปี ในปีนี้เทพไฉ่ซิ้งเอี้ย จะมาทางทิศตะวันออก ฤกษ์ดีคือตั้งแต่เวลา 23.00 น.เป็นต้นไป จึงจะต้องตั้งโต๊ะไหว้เทพเจ้าให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก

ของไหว้ใช้แบบง่ายๆ ได้แก่ ส้ม อาหารเจ ขนมอี๋ ขนมสาคูสีแดง น้ำชา ธูป 3 ดอก กระดาษเงินกระดาษทอง 12 แผ่น และเทียนแดง ในการไหว้นั้นจำเป็นต้องไหว้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอให้ธูปหมดเสียก่อน พอจุดธูปเสร็จครบทุกคนในบ้านก็สามารถเชิญเทพเจ้าเข้าบ้านได้เลย เนื่องจากเชื่อว่าต้องรีบเชิญเทพเจ้าแห่งโชคลาภเข้าบ้านให้เร็วที่สุด ไม่เหมือนพิธีไหว้พระจันทร์ที่เป็นประเพณีในการชมจันทร์ และอยู่ร่วมกับครอบครัว หากไหว้นาน เทพเจ้าก็จะยังอยู่แต่หน้าบ้านไม่เข้าบ้านเสียที ซึ่งตรงนี้ยังมีความเข้าใจกันผิดอยู่มาก เพราะมักไหว้นาน

ทั้งนี้ในการไหว้เทพเจ้าแห่งโชคลาภ สามารถทำอย่างง่ายๆ ได้เช่นกัน โดยจุดธูป 3 ดอก จุดเทียนสีแดงมงคล มีกระดาษเงินกระดาษทอง 12 แผ่น หันหน้าไปทางทิศที่ตรงกับทิศที่เทพเจ้าจะลงมาจากสวรรค์ในปีนั้นๆ เช่นปีนี้ก็ให้หันหน้าไปทิศตะวันออก พร้อมทั้งอธิษฐานในทำนองว่า ขออัญเชิญให้ท่านเทพเจ้าเข้ามาในบ้าน นำโชคลาภมาให้กับคนในครอบครัวของข้าพเจ้า

อย่างไรก็ดี ทิศที่เทพเจ้าจะลงมาจากสวรรค์นั้น โดยปกติแล้วคนจีนจะใช้ตำราที่เป็นปฏิทินของฮ่องกงเป็นหลัก แต่ในเมืองไทยปัจจุบันมีซินแสมากมาย จึงแนะนำให้ตั้งโต๊ะหันไปทิศทางที่ต่างกันไป รวมทั้งบางบ้านอาจสับสนเรื่องทิศทางด้วย จึงทำให้พบเห็นว่ามีการตั้งโต๊ะไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี้ย โดยหันหน้าโต๊ะต่างกันก็มี

หลังจากนั้นจะเป็นการไหว้ตรุษจีนในวันที่ 26 มกราคม 2552 โดยจะมีการไหว้แต่เช้า ใช้ของไหว้ประกอบด้วย ขนมอี๋ สาคูต้มหรือบัวลอยที่ใส่สีแดงเข้าไป มีรสหวาน บางบ้านก็นิยมไหว้อาหารเจด้วย เพื่อเริ่มต้นปีใหม่ เว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต โดยจะเป็นการไหว้ทั้งเทพเจ้าและบรรพบุรุษ หลังจากนั้นจะมีการเดินทางไปอวยพรผู้หลักผู้ใหญ่ตามลำดับอาวุโส ตั้งแต่วันชิวอิก (ตรุษจีน) จนถึงวันชิว 4 หรือวันที่ 4 หลังวันตรุษจีน ที่เป็นวันสุดท้ายที่จะมีการไหว้เทพเจ้าอีกครั้งเพื่อรับเทพเจ้าเตาที่ขึ้นไปบนสวรรค์เพื่อกลับเข้าบ้านเรือน ก่อนจะเปิดทำการค้าขาย หรือไปทำงานในวันที่ 5 หลังวันตรุษจีน

ปีใหม่ห้ามทะเลาะกัน-ทวงหนี้

สำหรับเกร็ดในการปฏิบัติตัวในวันตรุษจีนนั้นประกอบด้วย

อาหารมื้อแรกที่ควรทานคือ อาหารเจ เพื่อเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ต่อไปจึงรับประทานอาหารเนื้อสัตว์ที่เหลือจากการเซ่นไหว้วันสิ้นปี สำหรับบางบ้านอาจมีการไหว้เทพเจ้าและไหว้บรรพบุรุษอีกชุดหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ในเมืองไทยไม่นิยมไหว้แล้ว เพราะสิ้นเปลือง

ที่สำคัญต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดคือ ทุกคนจะห้ามพูดจาไม่ดีใส่กัน ให้พูดแต่สิ่งดีๆ อวยพรให้แก่กัน ห้ามทะเลาะกันเด็ดขาด แม้แต่คนที่เกลียดหรือเป็นศัตรูกัน ในวันตรุษจีนจะต้องอวยพรให้แก่กันเช่นกัน แม้แต่เจ้าหนี้ วันปีใหม่จีนก็ห้ามทวงหนี้ในวันนี้ด้วย

นอกจากนี้ก็ให้งดการทำงานบ้าน เพราะจะกวาดโชคลาภออกไปจากบ้าน รวมทั้งหยุดซักผ้าผ่อน ซึ่งในความคิดเห็นส่วนตัวแล้ว คิดว่าเป็นอุบายที่จะให้แม่บ้านได้พักผ่อนในวันปีใหม่ด้วย

ไหว้เจ้าตรุษจีน 2552 เรียบร้อย ปีฉลูนี้ขอให้ทุกท่านเฮง เฮง เฮง และร่วมกันอวยพรต่อกันว่า ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ (แต้จิ๋ว) หรือ ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาฉาย (จีนกลาง) ที่จะแปลว่า ขอให้ประสบโชคดี ขอให้มั่งมีปีใหม่ หรือ เกียฮ่อซินนี้ ซินนี้ตั้วถั่น แปลว่า สวัสดีปีใหม่ ขอให้ร่ำรวยๆ

อีกฝ่ายอย่ารอช้ารีบกล่าวตอบไปว่า “ตั่งตังยู่อี่” แปลว่า ขอให้สุขสมหวังเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น