เอเอฟพี – ผู้บริหารของแบงก์ ออฟ ไชน่า เตือนว่า ทั่วโลกอาจต้องเผชิญกับ วิกฤตการเงินรอบที่สอง เนื่องจากหนี้เสียจากภาคเศรษฐกิจจริง ที่เพิ่มสูงขึ้น หลังจากเศรษฐกิจอยู่ในภาวะถดถอย
ดร.จู หมิ่น ซึ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮ็อบกินส์ และ พรินซ์ตันในสหรัฐฯ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองประธานของแบงก์ ออฟ ไชน่า เขียนบทความตีพิมพ์ลงในวารสารไชน่า ซิเคียวริตี้ วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลหลายประเทศทั่วโลก ที่ใช้เงินไปอุ้มสถาบันการเงินไม่ให้ล้มละลาย ว่า ไม่ช่วยแก้ปัญหาที่หยั่งรากลึก ที่ทำให้เกิดวิกฤตการเงินโลกในครั้งนี้
“ตลาดอสังหาริมทรัพย์จะยังคงมีการปรับตัว และหุ้นของสถาบันการเงินต่างๆก็จะยังคงขึ้นๆลงๆ เพราะธนาคารยังคงลังเลที่จะปล่อยกู้ ส่วนค่าเงินก็จะผันผวนเนื่องจากกองทุนต่างๆโยกย้ายเงินไปทั่วโลก ”รองประธานของแบงก์ ออฟ ไชน่า เขียนในบทความ
ดร.จู หมิ่น รองประธานของแบงก์ ออฟ ไชน่า ยังให้ความเห็นว่า “หนี้เสีย ที่เพิ่มขึ้นของทั้งเงินกู้ภาคอุตสาหกรรมและเงินกู้ส่วนบุคคล ที่อยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย อาจจะทำให้เกิดวิกฤตการเงินรอบสอง”
ผู้บริหารของแบงก์ ออฟ ไชน่า เตือนว่า การคาดการณ์ที่ผิดพลาดถึงขนาดและรูปแบบของวิกฤตการเงินครั้งนี้ รวมทั้งการขาดวิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่จะทำให้ตลาดเกิดความสมดุล จะนำไปสู่หลุมพราง
“ผมคิดว่าการตัดสินใจของรัฐบาลในช่วงวิกฤตการเงินโลก เต็มไปด้วยข้อขัดแย้งและความผิดพลาด”
ดร.จู หมิ่น บอกว่า หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ ในอีก1-2 ปีข้างหน้า สถาบันการเงินใหญ่ที่รัฐบาลเคยเอาเงินไปอุ้มไม่ให้ล้มละลายนั้น ก็จะกลับมามีปัญหาอีก ในขณะที่ธนาคารขนาดเล็กและเฮดจ์ ฟันด์ ก็มีสิทธิ์จะล้มละลาย
ทั้งนี้รัฐบาลในหลายประเทศได้อัดฉีดเงินหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือสถาบันการเงินต่างๆ รวมทั้งลดดอกเบี้ยอีกหลายครั้ง หลังจากเกิดวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ จนนำไปสู่การล้มละลายของยักษ์ใหญ่ทางการเงิน อย่าง เลย์แมน บราเธอร์ และลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลกในทุกวันนี้