xs
xsm
sm
md
lg

ของขวัญต้องห้าม / อู่วัฒนธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม้ว่าช่วงนี้เศรษฐกิจโลกจะตกสะเก็ด แต่จากการสำรวจของสมาคมสินค้าฟุ่มเฟือยโลกของสหรัฐฯ ยังชี้ว่า ชาวจีนยังคงจับจ่ายซื้อของแพงเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่อยู่ แม้ว่ายอดขายสินค้าฟุ่มเฟือยในยุโรปและสหรัฐฯ จะร่วง 20% และ 25% ตามลำดับในปีนี้ แต่สินค้าฟุ่มเฟือยในจีนอาทิ หลุยส์ วิตตอง, เครื่องประดับหยก กลับมียอดซื้อลดลงแค่ 5% เท่านั้น

โดยบริษัทเอิร์นส์ แอนด์ ยังระบุ ปัจจุบันประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจอันดับ 4 ของโลกมีเศรษฐีประมาณ 300,000 คนและมีชนชั้นกลางราว 250 ล้านคน ซึ่งเมื่อผนึกกำลังกันแล้วก็มีกำลังซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยมากถึง 40,000 ล้านหยวนต่อปีเลยทีเดียว

แต่เอาเป็นว่า...ใครจะมีเงินมีทองซื้อของแพงๆ ก็ปล่อยเขาไป การจะทำให้ผู้รับมีความสุขนั้นไม่จำเป็นต้องซื้อหาของแพงเสมอไป ที่สำคัญให้ซื้อของขวัญให้ถูกกาลเทศะก็แล้วกัน

อย่างเช่น ไม่ควรมอบของขวัญราคาแพงให้แก่เพื่อนธรรมดาทั่วไป หรือใครก็ตามที่คุณไปเยี่ยมเขาเป็นครั้งแรก เพราะคนที่ได้รับของขวัญจะคิดว่าคุณกำลังติดสินบนเขา หรือคุณต้องการความช่วยเหลือจากเขา (ตามความเชื่อของคนจีน)

นอกจากนี้ ตามปกติเมื่อคุณไปเที่ยวที่ไหนมา ของฝากส่วนใหญ่ที่คนนิยมซื้อก็คือ ขนม ผลไม้ ชอคโกแลต ชา ไวน์ และผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่นนั้นๆ แต่ก็มีของขวัญบางอย่างที่เป็นของขวัญต้องห้ามเช่นกัน ดังเช่น ไม่ควรซื้อสาลี่เป็นของเยี่ยมไข้ เพราะว่า “สาลี่” ภาษาจีนออกเสียงว่า “หลี” (梨) ซึ่งเสียงเหมือนกับคำว่า “หลี” (离) ที่แปลว่า พรากจาก และยิ่งไม่ควรมอบดอกเบญจมาสให้ เพราะชาวจีนถือว่าเป็นดอกไม้ใช้สำหรับงานศพ

เช่นเดียวกันหากคุณไปร่วมงานแต่งงาน ก็ไม่ควรมอบนาฬิกาเป็นของขวัญแก่บ่าวสาว เพราะว่าคำว่า “ให้นาฬิกา” ภาษาจีนอ่านว่า “ซ่ง จง” (送钟) ออกเสียงเหมือนกับคำว่า “ซ่ง จง”(送终) ที่แปลว่า “ดูใจเป็นครั้งสุดท้าย”

และเวลาคุณจะมอบหรือรับของขวัญก็ตาม รวมไปถึงนามบัตรด้วย คุณควรใช้มือทั้งสองข้างรับหรือให้ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความจริงใจและความเคารพนบนอบของคุณ (สมัยก่อน การใช้มือสองข้างก็เป็นการแสดงให้อีกฝ่ายหนึ่งได้เห็นว่าคุณไม่ได้พกอาวุธมาด้วย)

* อย่างไรก็ตาม ของขวัญต้องห้ามในแต่ละที่ก็มีความแตกต่างกันไป อย่างในไทยก็เคยได้ยินคนถือเรื่องการมอบผ้าเช็ดหน้าให้กัน เพราะเชื่อว่าผู้รับจะต้องน้ำตาตก หรือการมอบของมีคมเป็นของขวัญ บางคนก็จะถือเคล็ดให้มอบเหรียญเป็นการแลกเปลี่ยน แต่อย่างไรก็ตามก็แล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละบุคคลว่าจะเชื่อหรือไม่ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น