เอเชียน วอลล์ สตรีต เจอร์นัล – รัฐบาลไต้หวันคาด ธนาคารมังกรอย่างน้อยสิบกว่ารายเริ่มธุรกิจบนแผ่นดินใหญ่ได้ในปี 2009 แน่ หลังจากการเจรจาเปิดเสรีภาคการธนาคารระหว่างสองฝ่ายรุดหน้า
นายฌอน เฉิน ประธานคณะกรรมาธิการกำกับดูแลภาคการเงินของไต้หวันระบุเมื่อวันจันทร์ (29 ธ.ค.) ว่า การเจรจาเพื่อยกเลิกการควบคุมในภาคธนาคารระหว่างจีนกับไต้หวันมีความคืบหน้า จนคาดว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ในราวช่วงครึ่งแรกของปี 2552
การเจรจาดังกล่าวนับเป็นการเปิดช่องทางใหม่ในการเจาะภาคธนาคาร ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย แต่ก็เป็นเรื่องเสี่ยงด้วยเช่นกัน โดยเป็นมาตรการหนึ่งในการผ่อนคลายความตึงเครียดข้ามช่องแคบของรัฐบาลประธานาธิบดี หม่า อิงจิ่ว และเมื่อเร็ว ๆ นี้ จีนกับไต้หวันเพิ่งยกเลิกประกาศห้ามการบินและการเดินเรือขนส่งโดยตรงระหว่างกัน
ธนาคารสินเชื่อของไต้หวันกระหายอยากเข้าตลาดจีนมานานแล้ว แม้ในยามนี้ที่เศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัวอย่างมากจากการเติบโตในอัตราตัวเลข 2 หลัก โดยที่ผ่านมา บริษัทไต้หวันจัดอยู่ในกลุ่มนักลงทุนต่างชาติแถวหน้าในจีน แต่โอกาสการทำธุรกิจธนาคารบนผ่นดินใหญ่กลับหลุดมือไปให้แก่ธนาคารของจีนและต่างชาติ เพราะกฎข้อบังคับเข้มงวดระหว่างสองฝ่าย ในส่วนของไต้หวันเอง ก็ห้ามการเข้ามาของธนาคารจีนด้วยเช่นกัน
ด้านเจ้าหน้าที่ของจีนยังมิได้ยืนยันข่าวดังกล่าว แต่รัฐบาลปักกิ่งก็ได้ออกมาเปิดเผยเกี่ยวกับนโยบายเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและการค้ากับไต้หวันมาหลายเรื่องแล้วในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
ขณะที่นายเฉินเองมิได้ระบุว่า ไต้หวันจะแลกเปลี่ยน โดยเปิดโอกาสให้ธนาคารจีนเข้ามาดำเนินธุรกิจบนแดนมังกรน้อยหรือไม่ ? โดยกล่าวแต่เพียงว่า ไต้หวัน “จะพิจารณาธนาคารจีนในลักษณะเดียวกับธนาคารต่างชาติรายอื่น”
ปัจจุบัน มีธนาคารต่างชาติกว่า 30 รายเข้ามาดำเนินธุรกิจในไต้หวัน ขณะที่ธนาคารใหญ่ทั้ง 4 รายของจีนก็แสดงความสนใจตลาดที่นี่
แม้ไต้หวันคุยว่าเป็นตลาดภาคธนาคารรายใหญ่อันดับ 4 ในเอเชีย เมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์ ทว่าตลาดก็มีความกระจัดกระจายสูง โดยประกอบด้วยธนาคารท้องถิ่น 40 ราย, ธนาคารปล่อยกู้ของต่างชาติกว่า 30 ราย และธนาคารปล่อยกู้สำหรับพวกรากหญ้าอีกหลายร้อยราย
ธนาคารเหล่านี้แข่งกันให้บริการชาวไต้หวันทั้ง 23 ล้านคน และนับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ธนาคารบนแดนมังกรน้อยมีกำไรสุทธิเฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 1 ของสินทรัพย์รวม
การแข่งขันกันอย่างเข้มข้นของธนาคารจำนวนมากมายที่นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ธนาคารของไต้หวันต้องดิ้นรนขยายกิจการในจีน
นับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา ธนาคารสินเชื่อ 7 รายของไต้หวันได้เข้าไปเปิดสำนักงานติดต่อประสานงานในจีน ซึ่งในจำนวนนี้รวมทั้งคาเธย์ ไฟแนนเชียล โฮลดิ้ง (Cathay Financial Holding Co.) และไชน่าทรัสต์ ไฟแนนเชียล โฮลดิ้ง(Chinatrust Financial Holding Co.) ข้อตกลงดังกล่าวจะเปิดทางให้ธนาคารเหล่านี้เข้าไปลงทุน, เปิดสาขา หรือจัดตั้งหน่วยของธนาคารได้โดยตรง
นายเฉินคาดว่า ธนาคารไต้หวันราว 7-12 รายมีคุณสมบัติครบตามข้อกำหนด ซึ่งน่าจะรวมถึงการมีสินทรัพย์อย่างต่ำสุด 20,000 ล้านดอลลาร์
เขายังยอมรับด้วยว่า การพัฒนาความสัมพันธ์ภาคธนาคารระหว่างจีนกับไต้หวันมีความล่าช้า
แต่“มาสายก็ยังดีกว่าไม่มา” เขากล่าว
พร้อมกับเตือนให้ธนาคารของไต้หวันต้องระมัดระวังการเข้าลงทุนในจีน โดยไม่แห่กันไปตามแฟชั่นอย่างหลับหูหลับตา แต่ต้องพิจารณาดูว่า ตนมีศักยภาพพอจะทำธุรกิจและบริหารความเสี่ยงของสินเชื่อในจีนได้หรือไม่?